สารานุกรมไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน เล่มที่ 3 หน้า 1439 กล่าวถึง “ท้าวกุเวร” หรือ “ท้าวเวสวัณ” ไว้ว่า กุเวรท้าวพระยายักษ์ผู้เป็นเจ้าแห่งขุมทรัพย์ มียักษ์และคุยหกะซึ่งหมายถึงยักษ์ผู้เฝ้าขุมทรัพย์เป็นบริวาร

ท้าวกุเวรนั้นบางทีก็เรียกว่า “ท้าวไวศรวัน” หรือ “ท้าวเวสสุวรรณ” ภาษาทมิฬเรียก “กุเวร” ว่า “กุเปรัน” ซึ่งมีเรื่องราวอยู่ในรามเกียรติ์ที่ได้รับอิทธิพลมาจากมหากาพย์รามายณะของอินเดีย

“ยักษ์” ตามศรัทธาความเชื่อของคนไทยนั้นมีต่อเนื่องมายาวนานแต่โบราณนานมา สะท้อนให้เห็นได้จากความนิยมในการสร้างประติมากรรมรูปยักษ์ขนาดใหญ่ไว้บริเวณหน้าซุ้มประตูทางเข้าศาสนสถานสำคัญๆ หรือเขียนรูปยักษ์ไว้ที่บานประตู เพื่อทำหน้าที่เป็นทวารบาลปกป้องพระพุทธศาสนา

...เป็นความเชื่อ ศรัทธาเกี่ยวกับ “เทพผู้พิทักษ์รักษา คุ้มครอง” ไม่ให้เกิดภยันตราย

“ตำนานยักษ์ เทพผู้พิทักษ์ศาสนา” ตอน 1 กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ยังระบุไว้อีกว่า แม้แต่ราชสำนักยังพบเห็นการนำชื่อของท้าวเวสสุวรรณและโลกบาลมาตั้งเป็นชื่อของสถานที่

...

สถานที่สำคัญๆ อย่างเช่นที่ “เขาวัง” หรือ “พระนครคีรี” มีการสร้างป้อมล้อมอยู่ทั้ง 4 ทิศ ก็มีการนำชื่อ “จตุโลกบาล” แบบพุทธมาตั้งเป็นชื่อป้อม โดยป้อมทางทิศตะวันออกมีชื่อว่า...“ธตรฐป้องปก” ทิศใต้ชื่อ...“วิรุฬหกบริรักษ์” ทิศตะวันตกชื่อ...“วิรูปักษ์ป้องกัน” และป้อมทางทิศเหนือชื่อ...“เวสสุวัณรักษา”

แม้แต่พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน ได้มีการนำชื่อท้าวโลกบาลของศาสนาพราหมณ์-ฮินดูมาตั้งเป็นชื่อประตูรอบพระตำหนักคล้องจองกันไปตามทิศ คือ...

พระอินทร์อยู่ชม พระยมอยู่คุ้ม พระพิรุณอยู่เจน พระกุเวรอยู่เฝ้า

รวมไปถึง “จังหวัดอุดรธานี” ก็มีการสร้างรูปเคารพ “ท้าวเวสสุวรรณ” ขนาดใหญ่อยู่คู่กับ ศาลหลักเมือง ถือเป็นสัญลักษณ์ของจังหวัด อีกทั้งยังนำรูปท้าวเวสสุวรรณยืนถือกระบองมาเป็นตราประจำจังหวัดตั้งแต่ พ.ศ.2483 ซึ่งตรานี้ออกแบบโดยกรมศิลปากรนี่เอง

O O O O

เรื่องราวของ “ยักษ์เทพ” องค์นี้จึงเป็นที่น่าสนใจและน่าค้นหาเป็นอย่างยิ่ง ศาสนาพุทธซึ่งเน้นการสอนให้มีความเชื่อโดยยึดหลักธรรมชาติ ด้วยเหตุด้วยผล ไม่ให้งมงายกับสิ่งที่มองไม่เห็น จับต้องไม่ได้ แต่คัมภีร์ทางพุทธศาสนาก็ไม่ได้ปฏิเสธเรื่องราวที่เหนือธรรมชาติ...

เพียงแต่พระพุทธองค์มีข้อห้ามไม่ให้พระภิกษุ...นักบวช แสดงอิทธิปาฏิหาริย์ หรือแสดงสิ่งเหนือธรรมชาติ อาจจะมองได้ว่า...เรื่องเหนือธรรมชาตินั้นมีอยู่จริงหรือไม่?

อย่างน้อยๆก็เรื่องราวของมหาเทพยักษ์ท้าวเวสสุวรรณองค์นี้ ที่มีความสำคัญ...เชื่อมโยงในหลายๆเรื่องราว และมีที่มาที่ไปที่สะท้อนถึงความจริงที่ปรากฏอยู่ในหลากหลายสถานที่ ที่สำคัญยังถูกบันทึกไว้ในพระไตรปิฎกหลายฉบับ อีกทั้งในคัมภีร์พราหมณ์...ฮินดู ซึ่งเป็นศาสนาที่เกิดขึ้นก่อนพุทธศาสนาเป็นพันปี

O O O O

“ยักษ์วัดพระศรีรัตนศาสดาราม” เกร็ดความรู้จากสำนักหอสมุดกลาง มหาวิทยาลัย รามคำแหง...ชาลินี อันสมัคร ข่าวรามคำแหงปี 33 ฉบับที่ 46 (8-14 มีนาคม 2547)

ณ พระอารามหลวงแห่งนี้ นอกจากจะเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรแล้ว ยังเป็นศูนย์รวมของเหล่ายักษ์มากที่สุดถึง 12 ตน น่าสนใจว่ายักษ์เหล่านี้ล้วนเป็น “พระยายักษ์” ตัวสำคัญจากเรื่องรามเกียรติ์ทั้งนั้น ทำหน้าที่เป็นทวารบาลยืนเฝ้าซุ้มประตูพระระเบียงคดทางเข้า-ออกพระอุโบสถประตูละคู่

ประตูด้านทิศตะวันออกมี 2 คู่ ได้แก่... “สุริยาภพ” มีกายสีแดงชาด สวมมงกุฎยอดกาบไผ่ยืนคู่กับ “อินทรชิต” ซึ่งมีกายสีเขียว สวมมงกุฎยอดกาบไผ่เหมือนกัน ที่ริมประตูระเบียงด้านฐานไพรีหน้าปราสาทพระเทพบิดร...“วุริฬหก” กายสีขาบหรือสีน้ำเงินแก่ สวมมงกุฎนาคยืนคู่กับ “มังกรกัณฑ์” กายสีเขียว สวมมงกุฎนาคเช่นกัน เฝ้าริมประตูพระระเบียงหน้าพระอุโบสถ ส่วนประตูด้านทิศตะวันตกจากเหนือไปใต้มี 3 คู่ ได้แก่...

...

“วิรุฬจำบัง” กายสีน้ำเงิน และ “มัยราพ” กายสีม่วงอ่อน ทั้งคู่สวมมงกุฎยอดหางไก่ยืนเฝ้าประตูพระระเบียงที่อยู่ระหว่างฐานไพทีและหอพระนาก ด้านทิศเหนือพระศรีรัตนเจดีย์ริมประตูที่เข้ามาจากสนามหน้าศาลาสหทัยสมาคม...“สหัสส เดชะ” กายสีขาวปั้นหน้าเป็น 5 ชั้น และ “ทศกัณฐ์” กายสีเขียว เศียร 3 ชั้น เรียงลำดับจากใหญ่ไปหาเล็ก ยอดบนสุดหน้าเป็นมนุษย์ หมายถึงมีต้นกำเนิดจากวงศ์พรหม ทั้งคู่สวมมงกุฎยอดชัย

ยืนอยู่ริมประตูที่เข้ามาจากพลับพลาเปลื้องเครื่องข้างศาลาสหทัยสมาคม หรือทางทิศตะวันตกของพระศรีรัตนเจดีย์ซึ่งเป็นทางเสด็จพระราชดำเนินผ่าน

“อัศกรรมณมารา” กายสีม่วงแก่ มีเศียร 2 ชั้น และ “จักรวรรดิ” กายสีขาว มี 4 เศียร ทั้งคู่สวมมงกุฎยอดหางไก่ยืนอยู่ริมประตูพระระเบียงด้านหลังพระอุโบสถ และคู่สุดท้ายยืนอยู่...ประตูด้านทิศใต้ ซึ่งเป็นประตูทางผ่านเข้าสู่บริเวณพระบรมมหาราชวังชั้นกลาง คือ “ทศคีรีวัน” กายสีเขียว และ “ทศคีรีธร” กายสีแดง

ยักษ์ทั้งคู่มีจมูกเป็นงวงช้าง สวมมงกุฎยอดกาบไผ่

ประเด็นน่าสนใจมีว่า ยักษ์ทั้ง 12 ตนนี้เป็นประติมากรรมขนาดใหญ่ที่มีความงดงามน่าเกรงขามและน่าศรัทธาเป็นอย่างยิ่ง แต่ละตนมีความสูงถึง 6 เมตร ปั้นด้วยปูนทาสีก่อนแล้วประดับประดาด้วยกระจกสีต่างๆ แน่นอนว่าสร้างขึ้นตามคติความเชื่อ เพื่อเฝ้าพระอารามและปกป้องรักษาอาณาบริเวณ...

ให้ปราศจากอันตราย การรบกวนจากภูตผีปีศาจ

...

หนังสือสาส์นสมเด็จกล่าวว่า “ยักษ์เหล่านี้ปั้นขึ้นมาในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 แต่ไม่ปรากฏชื่อผู้ปั้น ทราบเพียงว่าทศกัณฐ์และสหัสสเดชะเป็นฝีมือปั้นของหลวงเทพรจนา (กัน) ช่างปั้นมีชื่อสมัยรัชกาลที่ 3”...ใครที่มีโอกาสไปเที่ยวชมวัดพระศรีรัตนศาสดาราม นมัสการ “พระแก้วมรกต” ก็อย่าลืมแวะไปเยี่ยมพระยายักษ์ทั้ง 12 ตนนี้ด้วย

ทั้งหมดเหล่านี้สะท้อนว่า “ยักษ์” ตามคติความเชื่อคนไทยนับเนื่องมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาถือเป็นผู้พิทักษ์รักษาความดีและปัดป้องความชั่วร้าย ไม่ให้ย่างกรายเข้ามาใกล้นั่นเอง

“ศรัทธา”...นำมาซึ่งปาฏิหาริย์? เชื่อไม่เชื่ออย่างไรขอโปรดอย่าได้...“ลบหลู่”.

รัก-ยม