ศิริวร แก้วกาญจน์ เป็นนักเขียนร่วมสมัยที่ผู้อ่านและนักเขียนด้วยกันรู้จักกันมานาน ผ่านผลงานอักขระอักษรในรูปแบบวรรณกรรม กวีนิพนธ์ เรื่องสั้น และนวนิยาย รวมถึงทำงานเบื้องหลังเป็นบรรณาธิการให้นักเขียนซีไรต์มาแล้วหลายคน วันนี้ไทยรัฐออนไลน์ต่อสายตรงพูดคุยเปิดใจถึงความรู้สึกหลังได้รับรางวัลซีไรต์ประจำปี 2564 สาขานวนิยาย แม้ว่าเจ้าตัวจะเคยผ่านเข้ารอบชิงมาแล้วทุกประเภท
ศิลปะ งานเขียน และการเมือง หล่อหลอมจนมาเป็น "ศิริวร"
ชีวิตความเป็นอยู่ตอนนี้เป็นอย่างไรบ้าง
ตอนนี้เขียนหนังสือเป็นหลัก เป็นอาชีพ ทำร้านกาแฟ กับร้านขายหนังสือเล็กๆ ที่เมืองเล็กๆ ริมฝั่งอันดามัน และทำสำนักพิมพ์ร่วมกับเพื่อน
นักเขียนอาชีพ และรายได้
ในประเทศซึ่งวัฒนธรรมการอ่านอ่อนแอ การเป็นนักเขียนนับเป็นความลำบาก ประเทศเราไม่ได้ส่งเสริมการเขียนการอ่านแบบหลายๆ ประเทศที่เขารู้ว่า การจะนำพาประเทศไปข้างหน้าอย่างมีทิศทางมันต้องพัฒนาด้านปัญญาความรู้ เห็นคุณค่าของการอ่านการเขียน ยกระดับคุณภาพของประชากรด้วยวัฒนธรรมหนังสือ หลายๆ ประเทศแถบเอเชียเขาให้ค่ากับสิ่งเหล่านี้ ไทยน่าจะเป็นประเทศที่ผู้ปกครองใส่ใจเรื่องปัญญาความรู้น้อยที่สุด เพราะฉะนั้นการที่ใครสักคนเลือกเป็นนักเขียนในประเทศที่ผู้นำเอาแต่แย่งชิงอำนาจกัน ไม่สนับสนุนวัฒนธรรมทางปัญญา ต้องมีความทรหดอดทนมากกว่าการงานสาขาอาชีพอื่นๆ
...
ถ้าถามเรื่องรายได้มันไม่สม่ำเสมอ มันคำนวณออกมาเป็นตัวเลขลำบาก บางช่วงอาจได้เยอะ บางช่วงแผ่ว กระเป๋าลีบ ไม่แน่ไม่นอน ไม่สม่ำเสมอ พอดีว่าผมกับเพื่อนทำสำนักพิมพ์ผจญภัยกันด้วย พิมพ์งานเขียนของพรรคพวกเพื่อนฝูง จึงมีรายได้จากส่วนนี้หมุนมาใช้ในชีวิตประจำวันซึ่งก็ถือว่าพออยู่ได้บางระดับ
ออกหนังสือมาแล้วกี่เล่ม
ประมาณ 25-26 เล่ม บางเล่มก็แปลเป็นภาษาอังกฤษ ภาษามาเลเซีย บางส่วนก็มีแปลเป็นฝรั่งเศส เป็นดอกผลของงานที่ทำไว้ ถ้างานมันถูกอ่าน ถูกพูดถึง มันก็มีโอกาสได้พิมพ์ซ้ำ และถ้าถูกแปลเป็นภาษาอื่น นอกจากเราได้สนทนากับนักอ่านของวัฒนธรรมอื่นๆแล้ว ยังเป็นรายได้อีกก้อนหนึ่ง
เล่มที่พิมพ์ซ้ำมากที่สุด
นิยายเล่มแรก “โลกที่กระจัดกระจาย” อีกเล่ม “กรณีฆาตกรรมโต๊ะอิหม่ามสะตอปา การ์เด” เป็นงานเขียนเกี่ยวกับปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เล่าเรื่องความขัดแย้งของคนกลุ่มหนึ่งกับรัฐบาลกลาง และเล่มนี้อยู่ระหว่างการแปลเป็นภาษามาเลเซีย ก่อนนี้เคยได้รับการแปลเป็นภาษาอังกฤษโดยนักแปลชาวฝรั่งเศส
ทำไมถึงเลือกมาเขียนแนวสังคม การเมือง และวิถีชีวิต
ผมเรียนมาทางสายศิลปะ การเขียนรูป วาดรูป และวันหนึ่งก็มาเจอความมหัศจรรย์ของโลกการอ่าน แค่เปลี่ยนวัสดุเครื่องมือ จากพู่กัน สี เป็นตัวหนังสือ เล่าเรื่อง เขียนแสงเงาผ่านตัวหนังสือ เหมือนต่อยอดมาจากฐานคิดทางศิลปะ
หลังจากที่จบศิลปะก็เข้ากรุงเทพ ทำงานหนังสือพิมพ์การเมืองรายสัปดาห์ฉบับหนึ่ง ช่วง พ.ศ. 2534 - 2535 ทำอยู่ได้สักปี แล้วเกิดเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ หลังจากนั้นก็ลาออก มีความน้อยเนื้อต่ำใจบางอย่างว่าหนังสือพิมพ์ที่เราทำ ให้ค่าความสำคัญต่อเหตุการณ์ที่ประชาชนถูกกระทำน้อยเกินไป บวกกับช่วงนั้นมันวัยหนุ่มรุ่มร้อน อยากเดินทาง อยากเขียนรูป เขียนบทกวี คือค่อนข้างอึดอัดกับกรอบกติกาต่างๆ หลายๆ อารมณ์ปนเปกันก็เลยลาออก แล้วตั้งแต่นั้น ก็ไม่ได้ทำงานประจำที่ไหนอีกเลย คงด้วยประสบการณ์ต่างๆ เหล่านี้ที่ได้หล่อหลอมความคิดอ่านให้มุ่งมาทำงานสายซีเรียส
มุมมองครอบครัว ต่ออาชีพ “นักเขียน”
ผมถูกตั้งคำถามมาตั้งแต่ผมเลือกเรียนศิลปะแล้ว เช่นว่า “จบออกมาจะทำอะไรกิน” คือมันต่างจากอาชีพครู หมอ พยาบาล ทหาร ตำรวจ ซึ่งอย่างน้อยก็มีความมั่นคง ในประเทศที่วุฒิภาวะทางปัญญาต่ำ งานศิลปะและวรรณกรรมมักจะถูกละเลย
แรงปะทะเหล่านี้มันจึงสืบเนื่องมาจากการเลือกเรียนศิลปะ ซึ่งพอมาเขียนหนังสือ มันก็ยิ่งอธิบายยากขึ้นไปอีก ครอบครัวแค่รู้สึกเป็นห่วงมากกว่า ไม่อาจเรียกว่าเป็นภาวะกดดัน ห่วงว่าจะเอาตัวรอดอย่างไร พอถึงที่สุดเมื่อการงานปรากฎออกมาเป็นหนังสือเล่ม เป็นรูปธรรมชัดขึ้น
หนังสืออธิบายตัวเรา ครอบครัว และคนรอบข้างได้ชัดขึ้น
กลุ่มนักข่าวเรียกผมว่าเป็นนักเขียนเป็นกวีที่มีหนังสือเข้ารอบซีไรต์มากที่สุดในประเทศ หลายคนจึงคาดหวังว่าเมื่อไหร่ผมจะได้สักที ในขณะเดียวกันสำนักพิมพ์ของผม ซึ่งผมเป็นบรรณาธิกา หนังสือจำนวนหนึ่งที่ทำให้เพื่อนๆ ก็ได้รางวัลกันไปคนละ 1 - 2 ครั้ง ในนามสำนักพิมพ์ผจญภัย เช่น อังคาร จันทาทิพย์, จเด็จ กำจรเด็ด ผมจึงถูกคาดหวังจากกลุ่มนักอ่านของพวกเราทุกครั้งที่มีงานส่งประกวด
...
เดฟั่น เมื่อได้รางวัล แน่นอนว่าจะมีคนอ่านมากขึ้น จริงๆ เดฟั่นเป็นเล่มที่กระแสตอบรับดีมากตั้งแต่ต้นเลย อ่านสนุก พิมพ์ครั้งแรกสต๊อกในสำนักพิมพ์หมดก่อนได้รับรางวัลด้วยซ้ำ นี่ก็เพิ่งส่ง Artwork เข้าโรงพิมพ์ กำลังพิมพ์ครั้งที่ 2 ไม่เกิน 1 สัปดาห์ฉบับพิมพ์ครั้งใหม่ก็น่าจะได้จำหน่ายทั่วประเทศ
ผลงานของศิริวร แก้วกาญจน์ ที่เคยผ่านเข้ารอบซีไรต์ทั้งหมด
1. รวมกวีนิพนธ์ "ประเทศที่สาบสูญ" ปี 2547
2. รวมเรื่องสั้น "เรื่องเล่าของคนบันทึกเรื่องเล่าที่นักเล่าเรื่องคนหนึ่งเล่าให้เขาฟัง" ปี 2548
3. นวนิยาย "กรณีฆาตกรรมโต๊ะอิหม่ามสะตอปา การ์เด" ปี 2549
4. รวมกวีนิพนธ์ “เก็บความเศร้าไว้ให้พ้นมือเด็กเด็ก” และ “ลงเรือมาเมื่อวาน” ปี 2550
5. รวมเรื่องสั้น “ข่าวการหายไปของอาริญาและเรื่องราวอื่นๆ” ปี 2551
6. รวมกวีนิพนธ์ “ฉันอยากร้องเพลงสักเพลง” ปี 2553
7. นวนิยาย “โลกประหลาดในประวัติศาสตร์ความเศร้า” ปี 2555
8. รวมกวีนิพนธ์ “ฝันของฝูงกระต่าย” ปี 2562
9. นวนิยาย “เดฟั่น” ปี 2564
...
สัมภาษณ์ : สีวิกา ฉายาวรเดช
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง