"ชา" เครื่องดื่มที่อยู่คู่วัฒนธรรมจีนมาหลายพันปี โดยมีสำนวนจีนบทหนึ่งกล่าวว่า "คำพูดที่ไร้สุภาษิตไม่มีอรรถรส น้ำที่ไร้ใบชาก็ไม่มีรสชาติ" สะท้อนให้เห็นความสำคัญของชาที่กลายเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตชาวจีนมาอย่างยาวนาน

ในบรรดาชาจีนทั้งหมด มีชาเขียวชนิดหนึ่งที่ถูกขนานนามว่าเป็นชาจักรพรรดิ และได้รับยกย่องให้เป็น 1 ใน 10 สุดยอดชาของแผ่นดินมังกร ซึ่งก็คือ "ชาหลงจิ่ง" (Longjing Tea) ชาเก่าแก่ที่มีประวัติความเป็นมากว่า 1,200 ปี ขึ้นชื่อเรื่องรสชาติ ความพิถีพิถัน และราคาที่ค่อนข้างสูง เนื่องจากเป็นชาหายาก เพาะปลูกได้ดีในบางพื้นที่เท่านั้น 

การเดินทางของชาหลงจิ่ง ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ผ่านการรับช่วงต่อของชาวจีนจากรุ่นสู่รุ่น แสดงให้เห็นว่า ชาหลงจิ่งไม่ได้ทำหน้าที่เป็นเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีบทบาททางประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจในหลากหลายมิติ รัฐบาลจีนเคยเลือกชาชนิดนี้เพื่อมอบเป็นของขวัญระดับชาติ ในการต้อนรับบุคคลสำคัญและผู้นำโลกมาแล้วมากมาย

แม้ว่า "หลงจิ่ง" อาจไม่ใช่ชื่อชาที่คุ้นหูนักสำหรับคนไทยทั่วไป แต่สำหรับบรรดานักดื่มชา นี่คือชาเขียวจีนที่พวกเขาพยายามเสาะหามาลิ้มรสให้ได้สักครั้ง ประวัติความเป็นมาของชาหลงจิ่งมีเรื่องราวที่น่าสนใจหลายแง่มุม ไทยรัฐออนไลน์ได้รวบรวมสาระน่ารู้มาฝากกัน

รู้จักบ้านเกิดของ "ชาหลงจิ่ง" ณ มณฑลเจ้อเจียง ประเทศจีน

"ชาหลงจิ่ง" คือ ชาเขียวจีนชนิดหนึ่ง บ้างก็ถูกเรียกว่า "ชาบ่อมังกร" (Dragon Well tea) เนื่องจากหากแปลความหมายตามภาษาจีนแล้ว คำว่า "หลง" (龙) หมายถึง มังกร ส่วนคำว่า "จิ่ง" (井) หมายถึง บ่อน้ำ 

...

ชาหลงจิ่งที่มีความเก่าแก่ มีถิ่นกำเนิดในพื้นที่หมู่บ้านหลงจิ่ง เมืองหางโจว มณฑลเจ้อเจียงของประเทศจีน ทำให้มีการเรียกชื่อชาว่า "หลงจิ่ง" ตามถิ่นกำเนิด โดยชาวบ้านเชื่อว่า ต้นชาที่เจริญเติบโตในเขตหมู่บ้านหลงจิ่ง เปรียบเสมือนของขวัญที่สวรรค์ประทานมาให้

ตำนานความเชื่อเล่าสืบต่อกันว่า เมื่อหลายพันปีก่อน หมู่บ้านหลงจิ่งเคยเผชิญกับความแห้งแล้งอย่างหนัก ไม่สามารถทำการเกษตรได้ ชาวบ้านอดอยากแร้นแค้น จนกระทั่งมีพระรูปหนึ่งนิมิตเห็นว่า มีมังกรอาศัยอยู่ในบ่อน้ำภายในหมู่บ้าน ท่านได้สวดขอพรจากมังกรให้บันดาลความอุดมสมบูรณ์มาบรรเทาความแห้งแล้ง มังกรจึงให้พรแก่ชาวหลงจิ่ง ทำให้มีฝนตกชุก มีน้ำเต็มบ่อน้ำ ซึ่งบ่อน้ำที่เชื่อว่ามีมังกรอาศัยอยู่ ก็ถูกเรียกว่า "บ่อมังกร" ส่วนต้นชาที่เหี่ยวเฉาก็กลับมาเติบโตอีกครั้ง ทำให้ต้นชาถูกเรียกว่า "ชาบ่อมังกร" หรือ "ชาหลงจิ่ง" นั่นเอง

ส่วนสาเหตุที่ทำให้ชาหลงจิ่งเติบโตได้ดีในพื้นที่เมืองหางโจว เนื่องจากมีสภาพภูมิประเทศเป็นที่ราบสูงแอ่งกระทะ รายล้อมด้วยแม่น้ำและทะเลสาบ มีฝนตกชุกทั้งปี ซึ่งการปลูกชาให้มีคุณภาพและมีรสชาติที่ดีนั้น ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ต้องเติบโตในพื้นที่ที่มีอุณหภูมิประมาณ 10-20 องศาเซลเซียส ต้องมีแสงแดด ปริมาณน้ำฝน และความชื้นที่เหมาะสม

ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน เมืองหางโจว มณฑลเจ้อเจียง กลายเป็นแหล่งเพาะปลูกชาหลงจิ่งขนานแท้ ที่ทำหน้าที่ส่งใบชาชั้นเลิศเข้าสู่ราชสำนักและรัฐบาลกลาง โดยในปี 1983 รัฐบาลจีนเช่าพื้นที่จากชาวบ้านในการเพาะปลูกชา ส่งเสริมรายได้ให้แก่ท้องถิ่น อีกทั้งเมืองหางโจวยังเป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์ชาแห่งชาติ (China National Tea Museum) แห่งประเทศจีนอีกด้วย

เปิดประวัติ "ชาหลงจิ่ง" ทำไมถึงเป็น 1 ใน 10 สุดยอดชาของจีน

ประวัติชาหลงจิ่งมีหลายที่มา เชื่อว่าชาชนิดนี้เป็นที่รู้จักตั้งแต่สมัยราชวงศ์ถัง (ค.ศ. 618-907) แต่สำหรับเรื่องเล่าของชาหลงจิ่งที่มีชื่อเสียงมากที่สุด เกิดขึ้นในสมัยราชวงศ์ชิง (ค.ศ. 1636-1912) เมื่อ "เจ้าชายหงลี่" เดินทางมายังภูเขาซือเฟิง ระหว่างนั้นได้ลิ้มรสชาหลงจิ่งแล้วทรงโปรดปรานอย่างมาก จึงให้นำเสด็จมายังบริเวณหน้าวัดหูกง เพื่อชมต้นชาเก่าแก่ทั้ง 18 ต้น โดยทรงยกให้ชาเหล่านี้เป็นชาจักรพรรดิ และให้มีการจัดส่งถวายราชสำนักจีน

ต่อมาเจ้าชายหงลี่ทรงขึ้นครองราชย์ รู้จักกันในพระนาม "จักรพรรดิเฉียนหลง" มีเรื่องเล่าว่าเมื่อพระองค์เสด็จมายังถิ่นกำเนิดของชาหลงจิ่ง ทรงก้มเก็บใบชาด้วยพระองค์เอง ระหว่างนั้นทรงทราบข่าวว่าพระราชมารดาประชวรหนัก ก่อนเสด็จกลับกรุงปักกิ่ง จักรพรรดิเฉียนหลงทรงนำใบชาเก็บไว้ในแขนเสื้อ เมื่อไปถึงวังหลวง พระราชมารดาได้กลิ่นหอมของใบชา จักรพรรดิเฉียนหลงทรงชงชามาให้ดื่ม นับจากนั้นเป็นต้นมา เรื่องราวของชาหลงจิ่งจึงกลายเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย

...

สำหรับชาหลงจิ่งที่จัดส่งถวายราชสำนัก มักเรียกกันว่า "หมิงเฉียนหลงจิ่ง" หมายถึงใบชาหลงจิ่งที่เก็บเกี่ยวก่อนถึงเทศกาลเช็งเม้ง ได้รับยกย่องว่าเป็นชารสเลิศ มีกลิ่นหอม และทรงคุณค่าดั่งทองคำ

ทักษะของ "คนเก็บใบชา" และขั้นตอนการผลิตแบบโบราณของจีน

กระบวนการผลิตใบชาหลงจิ่ง ถือเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของประเทศจีน เนื่องจากทุกขั้นตอนของการผลิตชา นับตั้งแต่การเพาะปลูก เก็บเกี่ยว และวิธีชงชา ล้วนต้องอาศัยทักษะและความชำนาญที่ถูกต้องเหมาะสม

เริ่มตั้งแต่การปลูกต้นชา ที่ต้องมีความรู้เรื่องสภาพดิน ระดับความสูงที่เหมาะสม สภาพอากาศ ความร้อน และอุณหภูมิ โดยเฉพาะการปลูกให้ทันเก็บเกี่ยวในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน ของทุกปี ซึ่งเป็นช่วงก่อนเทศกาลเช็งเม้ง จะได้ใบชาคุณภาพและมีราคาแพงที่สุด

สำหรับชื่อเรียกชาหลงจิ่งจะแบ่งออกเป็น 2 แบบ โดยยึดหลักเกณฑ์ตามพื้นที่เพาะปลูก เริ่มใช้มาตั้งแต่ปี 2001 ดังนี้

  • ชาซีหูหลงจิ่ง (West Lake Longjing Tea) : ชาที่ปลูกภายในรัศมี 168 ตารางกิโลเมตร จากทะเลสาบซีหู ให้เรียกว่า "ซีหูหลงจิ่ง" ถือเป็นชาที่มีราคาสูงยิ่งกว่าทองคำ กรัมละประมาณ 200 ดอลลาร์ (ประมาณ 6,700 บาท) เก็บเกี่ยวก่อนเดือนเมษายน หรือช่วงเทศกาลเช็งเม้งของทุกปี ส่วนชาที่เก็บหลังจากนั้น จะมีราคาลดลงมา

...

  • ชาหลงจิ่ง (Longjing Tea) : ชาคุณภาพสูงที่ไม่ได้อยู่ในพื้นที่รัศมี 168 ตารางกิโลเมตรจากทะเลสาบซีหู แต่ปลูกในพื้นที่อื่นๆ ของเมืองหางโจว มณฑลเจ้อเจียง ให้เรียกว่า "ชาหลงจิ่ง" หรือ "หลงจิ่งเจ้อเจียง" หากเก็บเกี่ยวในฤดูกาลแรกของปี ก็จะมีราคาสูงเช่นเดียวกัน 

สำหรับคนเก็บใบชาก็ต้องมี 3 ทักษะสำคัญ ได้แก่ ตื่นเช้า (เก็บใบชาช่วงเช้า), พิถีพิถัน (เด็ดใบชาอย่างอ่อนโยน ไม่ทำใบชาเสียหาย), ขยัน (ไม่เน้นปริมาณ แต่เน้นคัดคุณภาพใบชา)

การเก็บใบชาหลงจิ่งจะต้องเด็ดเฉพาะยอดอ่อน โดยยอดชา 1 ยอด จะต้องมีใบชาอ่อน 2 ใบ มีความสูงประมาณ 2.5-3 เซนติเมตร ห้ามใช้เล็บจิกยอดชา ไม่เช่นนั้นใบชาจะเปลี่ยนสี ว่ากันว่าหากคนงาน 1 คน ใช้เวลา 12 ชั่วโมงเพื่อเก็บใบชา จะได้ยอดชาอ่อนหลงจิ่งเพียง 1 กิโลกรัมเท่านั้น 

หลังจากได้ใบชาแล้ว จะต้องนำไปตากในที่แห้งและเย็น หลังจากนั้นจะนำมา "ผัด" ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ต้องอาศัยทักษะความชำนาญอย่างสูง เรียกได้ว่าเป็นขั้นตอนที่มีชื่อเสียงที่สุด เนื่องจากเป็นกรรมวิธีโบราณที่ปฏิบัติสืบต่อกันมา ผู้ทำหน้าที่ผัดชาต้องสั่งสมประสบการณ์นานหลายปีกว่าจะเชี่ยวชาญ

...

การผัดชาให้แห้งจะต้องนำใบชาใส่ลงในกระทะที่มีความร้อนสูง 180-220 องศาเซลเซียส ใช้มือเปล่าผัดประมาณ 10 นาที เพื่อนำความชื้นออกจากใบชา และไล่กลิ่นเหม็นเขียว ชาวบ้านส่วนใหญ่จะใช้มือเปล่า ไม่สวมถุงมือ เพราะจะได้รู้สึกถึงอุณหภูมิความร้อนที่เหมาะสม ป้องกันใบชาไหม้ อีกทั้งยังให้กลิ่นที่หอม และรสชาติที่ดีกว่า

รสชาติของชาหลงจิ่ง "จิบครั้งเดียว ปากหอมไปทั้งวัน"

จุดเด่นของชาหลงจิ่งคือ เมื่อใบชาสัมผัสน้ำร้อน ยอดใบชาจะค่อยๆ คลี่ออกเพื่อซึมซับน้ำ มีกลิ่นหอมฟุ้งกระจาย น้ำชาจะมีสีเขียวมรกตอ่อนๆ หรือสีเหลืองสว่างใส ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ของใบชา มีรสชาติหวานปนฝาดนิดๆ โดยเฉพาะชาฤดูกาลแรกของปี หรือ "หมิงเฉียนหลงจิ่ง" จะมีกลิ่นหอม รสชาติเลิศ และให้ความรู้สึกสดชื่นชุ่มคอกว่าชาที่เก็บเกี่ยวในช่วงอื่นของปี ทำให้มีคำกล่าวเชิงเปรียบเทียบว่า "จิบชาหลงจิ่งครั้งเดียว ปากก็หอมไปทั้งวัน"

ประโยชน์ของชาเขียวหลงจิ่ง : ชาเขียวหลงจิ่งมีประโยชน์ต่อร่างกาย เนื่องจากเป็นใบชาสดที่นำมาตากแห้ง และผัดให้แห้ง ไม่ใช่ชาหมัก อุดมด้วยวิตามินซีและกรดอะมิโน ช่วยย่อยอาหาร ลดคอเลสเตอรอล ขับปัสสาวะ ให้ความสดชื่น และช่วยปรับสมดุลในร่างกาย 

ชาหลงจิ่ง ราคาประมาณเท่าไร?

มีบันทึกไว้ว่าเมื่อปี 2014 ชาหลงจิ่งเคยขายได้ ราคากิโลกรัมละ 1 ล้านหยวน (ประมาณ 5.2 ล้านบาท) ได้รับยกย่องให้เป็นชาเชียวที่มีชื่อเสียงโด่งดังมากที่สุด ติด 1 ใน 10 สุดยอดชาของจีน

ในปี 2020 ชาหลงจิ่งทำรายได้จากการส่งออกมูลค่าประมาณ 474 ล้านหยวน (ประมาณ 2.5 พันล้านบาท) โดยมีราคาเฉลี่ยกิโลกรัมละ 690 หยวน (ประมาณ 3,600 บาท) ถือว่าเป็นชาที่ราคามีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ จากเดิมในปี 2019 มีราคาอยู่ที่กิโลกรัมละ 619 หยวน (ประมาณ 3,200 บาท)

แต่สำหรับชาหลงจิ่งคุณภาพที่มีขายทั่วไป ก็มีราคาที่แตกต่างกัน ตั้งแต่กรัมละไม่กี่ร้อยบาท ไปจนถึงหลักพัน ใครอยากลิ้มรสแบบไหน ก็ขึ้นอยู่กับกำลังทรัพย์ของแต่ละคน ไม่จำเป็นว่าต้องดื่มชาซีหูหลงจิ่งที่มีราคาสูงเสมอไป เพราะแค่ชาหลงจิ่งเจ้อเจียงธรรมดา ก็มีกลิ่นหอม และรสชาติที่ดี ทำให้หลายคนหลงใหลได้แล้ว

ทั้งนี้ มีปัญหาใหญ่ที่สร้างความรำคาญใจให้แก่เกษตรกรผู้ผลิตชาหลงจิ่งในมณฑลเจ้อเจียง ก็คือ "ชาหลงจิ่งปลอม" เนื่องจากชาชนิดนี้ ปีหนึ่งผลิตได้ปริมาณน้อย ทำให้หาซื้อยาก มีราคาสูง และเป็นที่ต้องการของตลาด ทำให้มีผู้นำชาเขียวชนิดอื่นๆ มาปลอมแปลงเป็นชาหลงจิ่ง และวางขายในราคาที่ถูกกว่าปกติ

นักดื่มชาส่วนใหญ่มักตั้งข้อสังเกตว่า หากพบชาหลงจิ่งที่อ้างว่าปลูกบริเวณทะเลสาบซีหู และเก็บเกี่ยวช่วงก่อนเทศกาลเช็งเม้ง แต่กลับขายในราคาที่ถูก ก็ให้สงสัยได้เลยว่าอาจเป็นชาปลอม

ปัจจุบันทางการจีน ได้ดำเนินมาตรการปราบปรามชาหลงจิ่งปลอมอย่างจริงจัง มีการออกใบรับรอง และใบอนุญาตซื้อ-ขายชา ให้แก่เกษตรกรในมณฑลเจ้อเจียง ที่เพาะปลูกชาหลงจิ่งขนานแท้

วิธีชงชาหลงจิ่งแบบชาวจีน

1. ล้างอุปกรณ์ชงชาก่อนใช้งาน ด้วยการเทน้ำร้อนใส่ภาชนะ หรือถ้วยชา ทิ้งไว้สักครู่แล้วเทน้ำร้อนทิ้ง เพื่อเป็นการอุ่นให้ถ้วยชามีความร้อน 

2. นำใบชาหลงจิ่งใส่ในถ้วยชา ประมาณ 1 ใน 3 ส่วนของถ้วย ลวกด้วยน้ำร้อนประมาณ 3 วินาที แล้วรีบเทน้ำร้อนทิ้ง เพื่อเป็นการล้างใบชา (ไม่นิยมใช้น้ำร้อนที่เดือดจัด เนื่องจากชาหลงจิ่งเป็นใบชาอ่อน-ใบชาสด)

4. เทน้ำร้อนใส่ถ้วยชาอีกครั้ง แช่ไว้ไม่เกิน 1 นาที ใบชาจะเริ่มส่งกลิ่นหอม หลังจากนั้นกรองน้ำชาดื่มได้เลย โดยใบชาที่นำมาชง สามารถใส่น้ำร้อนดื่มชงได้อีกประมาณ 3-5 ครั้ง

นอกจากนี้ ยังมีวิธีชงชาหลงจิ่งอีกแบบ คือการแช่ใบชาทิ้งไว้ในน้ำร้อน โดยใช้ภาชนะแก้วใส ไม่ต้องปิดฝา รอจนกว่าใบชาที่ลอยอยู่ จะจมลงมาสู่ก้นแก้ว จึงค่อยดื่มชา 

หมายเหตุ : สูตรวิธีชงชาสามารถปรับเปลี่ยนได้ตามความชอบ บางคนอาจแช่ใบชาไว้เพียง 15 วินาที ขณะที่บางคนก็แช่ไว้นานกว่านั้น แต่ไม่ควรแช่ไว้นานเกิน 10 นาที เพราะยิ่งแช่นาน ชาจะมีรสฝาด และเมื่อดื่มอาจทำให้ท้องผูกได้

บทบาทของ "ชาหลงจิ่ง" ในประวัติศาสตร์จีนร่วมสมัย

การเดินทางนับพันปีของชาหลงจิ่ง ไม่ได้หยุดอยู่แค่ในประวัติศาสตร์ หรือเรื่องเล่าในอดีตเท่านั้น แต่ยังคงมีบทบาทร่วมสมัยกับเหตุการณ์ในปัจจุบัน ยกตัวอย่างดังนี้

"เหมา เจ๋อตง" หรือที่ชาวจีนเรียกว่า "ประธานเหมา" ผู้ก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีน เป็นบุคคลสำคัญที่ชื่นชอบการดื่มชา โดยหนึ่งในชาที่เหมาชื่นชอบมากที่สุดก็คือ "ชาหลงจิ่ง" เขาเคยเดินทางมาเยือนเมืองหางโจว ในปี 1963 และได้ชมไร่ชาในหมู่บ้านหลงจิ่ง เหมาถึงกับเอ่ยปากชมว่า ชาหลงจิ่งมีรสชาติดี กลิ่นหอม ให้ความสดชื่น และเป็นชาที่ตัวเองดื่มประจำ

ต่อมาปี 1972 อดีตประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน ของสหรัฐฯ เดินทางมาเยือนประเทศจีนอย่างเป็นทางการ ในครั้งนั้นรัฐบาลจีนได้มอบชาหลงจิ่ง ซึ่งมีฉายาว่า "ชาจักรพรรดิ" ให้เป็นของขวัญกระชับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ทำให้ชาหลงจิ่งกลายเป็นชาที่ทรงคุณค่าระดับชาติ

ไม่เพียงเท่านั้น ในปี 2016 อดีตประธานาธิบดีบารัค โอบามา ของสหรัฐฯ เดินทางมาร่วมประชุมสุดยอดผู้นำประเทศกลุ่ม G-20 ที่ประเทศจีน โดยได้พบปะพูดคุยกับ ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ซึ่งทางรัฐบาลจีนได้เลือก "ชาหลงจิ่ง" เป็นเครื่องดื่มสำหรับนำมาเสิร์ฟต้อนรับ ทางประธานาธิบดีสีได้พูดแนะนำชาชนิดนี้แก่โอบามาด้วยตัวเอง

ที่มาของภาพ : washingtonpost
ที่มาของภาพ : washingtonpost

นอกจากนี้ ชาหลงจิ่งยังสอดแทรกอยู่ในชีวิตประจำวันของชาวจีน ไม่จำกัดว่าต้องมีบทบาทในระดับชาติเท่านั้น แต่ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมป๊อปยุคใหม่ โดยเมื่อปี 2019 "หวัง อี้ป๋อ" และ "เซียวจ้าน" นักแสดงนำจากซีรีส์จีนย้อนยุคเรื่อง "ปรมาจารย์ลัทธิมาร" ก็ได้นำชาหลงจิ่งมาดื่มระหว่างถ่ายทำ

พวกเขาเผยว่า ชาหลงจิ่งเป็นเครื่องดื่มสุขภาพที่ดื่มเป็นประจำ ยิ่งทำให้ชาชนิดนี้ได้รับความนิยม และถูกพูดถึงอย่างมากบนโลกออนไลน์ รวมถึงแฟนๆ ในประเทศไทยเอง ที่อยากลิ้มรสชาชนิดนี้ ทำให้เกิดกระแสการสั่งชาหลงจิ่งจากประเทศจีนเข้ามา จนหลายคนเรียกชื่อชาหลงจิ่งว่า "ชาเซียวจ้าน" ตามชื่อนักแสดงนั่นเอง

สุดท้ายนี้ จะเห็นได้ว่าบทบาทของ "ชาหลงจิ่ง" ไม่ได้เป็นที่รู้จักในฐานะชาเขียวจีนที่มีราคาแพงเพียงเท่านั้น แต่เบื้องหลังใบชาเก่าแก่ ยังสะท้อนเรื่องราวสายธารทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และเศรษฐกิจ ไว้อย่างแยบยล ดังนั้น หากจะเปรียบเทียบการเดินทางในมิติต่างๆ ของชาหลงจิ่ง ซึ่งมีอายุเก่าแก่นับพันปีว่า "มีค่าดั่งทองคำ" ก็คงเป็นคำกล่าวที่ไม่เกินจริงนัก

เรื่อง : ตติยา แก้วจันทร์
กราฟิก : Varanya

อ้างอิง