การละเล่นไทย คือ กิจกรรมสันทนาการที่มีมาอย่างยาวนาน ในอดีตเป็นเกมการละเล่นที่เล่นกันในหมู่เด็กๆ ในละแวกบ้านเรือนเดียวกัน แต่ปัจจุบันนี้มีบางการละเล่นไทยที่บรรจุอยู่ในวิชาพลศึกษา เพื่อให้เด็กๆ ได้รู้จักการละเล่น 4 ภาค และได้จัดเป็นการแข่งขันกีฬาสีในโรงเรียน เพื่อเสริมความสามัคคีให้กับเด็กๆ ในชั้นเรียน มาดูกันว่า 12 การละเล่นไทยที่ควรอนุรักษ์ไว้ มีอะไรบ้าง

รู้จัก 12 การละเล่นไทย 4 ภาค มีอะไรบ้าง

1. วิ่งเปี้ยว

วิ่งเปี้ยว เป็นการละเล่นที่เหมาะสำหรับเด็กวัยประถมขึ้นไป โดยใช้เสาปักหลัก กับ ผ้า 2 ผืน (คนละสีกัน) เป็นอุปกรณ์ มีวิธีการเล่น ดังนี้

1.1) แบ่งผู้เล่นออกเป็น 2 ทีมเท่าๆ กัน อย่างน้อย 4 คน ยืนต่อแถวอยู่หลังเสาหลัก 1 เมตร

1.2) ผู้เล่นที่อยู่คนแรก จะถือผ้า และวิ่งไปอ้อมเสาหลักของอีกฝ่าย

1.3) ระหว่างวิ่งไปยังเสาหลักของอีกฝ่าย ต้องพยายามใช้ผ้าไล่ตีผู้เล่นฝ่ายตรงข้าม

1.4) เมื่อผู้เล่นฝ่ายตรงข้ามสัมผัสผ้าที่ตีของอีกฝ่าย หรือผู้เล่นไม่สามารถส่งผ้าต่อให้กับทีมตัวเอง ก็ถือว่าแพ้ หยุดการแข่งขัน

...

นอกจากนี้ หากผู้เล่นทำเสาหลักตก ทำผ้าหลุดมือเอง ก็ถือว่าเกมสิ้นสุดลง กิจกรรมวิ่งเปี้ยวนี้ช่วยให้เด็กๆ คล่องแคล่ว รู้จักวางแผน และมีน้ำใจนักกีฬาช่วยเหลือเพื่อนที่ล้ม

2. กระโดดเชือก

กระโดดเชือก ใช้อุปกรณ์คือ เชือกกระโดด หรือ หนังยางนำมาร้อยเป็นเชือกที่มีความยืดหยุ่น มีวิธีการเล่น ดังนี้
2.1) มีผู้เล่น 2 คน ถือเชือกคนละฝั่ง
2.2) ผู้เล่นคนอื่นๆ กระโดดข้ามเชือกที่แกว่งไปมา ตามลักษณะต่างๆ เช่น กระโดดข้าม 10 ครั้ง แล้วผลัดให้คนอื่นมากระโดดต่อ หรือกระโดดพร้อมกัน 3 คน
2.3) หากเหยียบเชือก หรือสัมผัสเชือก หรือทำผิดกติกาที่กำหนด ถือว่าเกมสิ้นสุดลง

ข้อควรระวังก็คือ การสะบัดเชือก ไม่ให้ฟาดกับศีรษะและร่างกายของเพื่อนจนอาจได้รับบาดเจ็บ รวมถึงควรผลัดกันแกว่งเชือกไปมา ป้องกันการเมื่อยล้า ประโยชน์ของการกระโดดเชือก คือการพัฒนาไหวพริบ

3. ขี่ม้าส่งเมือง

ขี่ม้าส่งเมือง เป็นการละเล่นไทย 4 ภาค ที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนาน แสดงถึงวัฒนธรรมการปกครองในอดีต มีเจ้าเมือง ลูกเมือง เชลย ม้า โดยมีวิธีการเล่นดังนี้

3.1) แบ่งผู้เล่นออกเป็น 2 ทีม ตั้งคนเป็นเจ้าเมือง คนอื่นๆ ในทีมเป็นลูกเมือง ส่วนใครที่ถูกจับได้ จะกลายเป็นเชลย มีวิธีเล่นดังนี้
3.2) ผู้เล่นในทีมที่ 1 มากระซิบบอกชื่อผู้เล่นในทีมที่ 2 คนหนึ่งกับเจ้าเมือง
3.3) จากนั้นทีมที่ 2 ส่งตัวแทนออกมาหาเจ้าเมือง แล้วพูดชื่อผู้เล่นทีมตัวเองออกมา หากตรงกับชื่อที่ทีมที่ 1 บอกไว้เจ้าเมืองจะร้องว่า “โป้ง”
3.4) ผู้เล่นที่ถูกโป้งต้องตกเป็นเชลย และฝ่ายใดถูกจับเป็นเชลยหมดก่อน ก็ต้องแพ้กลายเป็น “ม้า” ให้ฝ่ายชนะขี่หลังกลับไปส่งที่เมือง

ความสนุกของเกมขี่ม้าส่งเมืองไม่ได้อยู่ที่การผลัดกันเป็นม้าอย่างเดียว ยังมีประโยชน์ให้เด็กๆ ได้ฝึกความพร้อมเพรียง และการประสานงานในกลุ่ม รวมถึงการฝึกกำลังแขนขาที่แข็งแรง พร้อมกับการใช้ชีวิตด้านอื่นอีกด้วย

4. มอญซ่อนผ้า

...

การละเล่นมอญซ่อนผ้า คาดว่ามีที่มาจากกลุ่มชาวมอญในจังหวัดกาญจนบุรี โดยการนำผ้าซ่อนไว้ข้างหลังผู้เล่นคนอื่น มีวิธีเล่นดังนี้

4.1) มัดผ้าเป็นปมใหญ่ๆ เรียกว่า “ผ้าตี” หรือ “ผ้าตูม” ใช้จำนวน 1 ใน 3 ของผู้เล่น หรือแล้วแต่จะตกลงกัน
4.2) จับไม้สั้นไม้ยาว หรือตกลงกันก่อนว่าใครจะเป็น “มอญ” ผู้มีหน้าที่ซ่อนผ้า
4.3) คนอื่นๆ นั่งล้อมวง ร้องเพลง “มอญซ่อนผ้า ตุ๊กตาอยู่ข้างหลัง ไว้โน่นไว้นี่ ฉันจะตีก้นเธอ” และคนที่เป็นมอญถือผ้าไว้ในมือ เดินวนอยู่นอกวง ระหว่างที่เพื่อนๆ ร้องเพลง คนที่เป็นมอญ วางผ้าไว้ด้านหลังของใครก็ได้
4.4) ใครรู้ตัวว่ามีผ้าอยู่ด้านหลัง ก็จะวิ่งไล่ตีมอญ 1 รอบ มอญต้องวิ่งหนีกลับมานั่งที่เดิม แต่ถ้ามอญโดนผ้า ก็ต้องกลับไปเป็นผู้วิ่งอีก 1 รอบ

มอญซ่อนผ้ามีประโยชน์ต่อตัวผู้เล่น ให้เป็นผู้มีไหวพริบ สังเกตเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นรอบๆ ตัว และเป็นคนคล่องแคล่ว

5. รีรีข้าวสาร

รีรีข้าวสาร เป็นการละเล่นไทยแบบดั้งเดิมที่น่าจดจำ โดยผู้เล่นสองคนประสานมือไว้เหนือศีรษะ คล้องตัวผู้เล่นคนอื่นๆ มีวิธีเล่นดังนี้

...

5.1) ตกลงกันว่าใครจะเป็นประตู ใช้ 2 คน คนอื่นๆ ต่อแถวกันรอดประตู
5.2) ระหว่างเดิน ประตูจะเป็นผู้ร้องเพลง “รีรีข้าวสาร สองทะนานข้าวเปลือก เลือกท้องใบลาน เก็บเบี้ยใต้ถุนร้าน คดข้าวใส่จาน พานเอาคนข้างหลังไว้ให้ดี”
5.3) ผู้เล่นที่ถูกคล้องตัวไว้ ก็จะถูกลงโทษ หรือถูกให้มาเป็นประตูแทน

ประโยชน์ของการละเล่นรีรีข้าวสาร เพิ่มความสนุกสนาน เล่นได้ตั้งแต่เด็กเล็กๆ ช่วยให้เพลิดเพลิน จิตใจแจ่มใส รู้จักการทำงานเป็นกลุ่มและมีไหวพริบ คนที่เป็นหัวแถวต้องพยายามเดินให้เร็ว พาเพื่อนให้รอดจากการถูกกักตัวให้ได้

6. ตี่จับ

ตี่จับ เป็นการละเล่นที่มีมาแต่โบราณ เคยนิยมเล่นในการเทศกาลประจำปี มีวิธีการเล่นดังนี้

6.1) แบ่งผู้เล่นออกเป็น 2 ทีมเท่าๆ กัน
6.2) ฝ่ายที่เป็นตี่ก่อน เลือกผู้เล่น 1 คน เพื่อเข้าไปตี่ คนที่ตี่จะต้องทำเสียง “ตี่” หรือ “หึ่ม” ตลอดเวลาที่เข้าไปวิ่งจับตัวฝ่ายตรงข้าม ถ้าระหว่างทำเสียงตี่หยุดลง ต้องตกเป็นเชลยของฝ่ายตรงข้าม
6.3) ฝ่ายตรงข้ามต้องคอยพยายามรั้งตัวคนที่เป็นตี่ ไม่ให้กลับเข้าฝ่ายแดนของตัวเอง
6.4) เมื่อมีฝ่ายของตนเป็นเชลย ผู้เป็นตี่คนต่อไปต้องคอยพาตัวตี่คนเดิมกลับมา ผู้เล่นฝ่ายตรงข้ามต้องกันตัว และพยายามดึงตี่มาเป็นเชลยเพิ่ม จนกว่าตี่จะหมดทั้งทีม
6.5) เล่นจนกว่าจะมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหมดตัวผู้เล่นก่อน ฝ่ายชนะจะสั่งให้ผู้แพ้ทำอะไรก็ได้

...

ประโยชน์ของการเล่นตี่จับ ช่วยในการวางแผนและออกกำลัง ให้ผู้เล่นมีความสามัคคี

7. งูกินหาง

งูกินหาง เป็นการละเล่นไทยที่เลียนแบบการเคลื่อนไหวและธรรมชาติของงู โดยแบ่งผู้เล่นออกเป็น 2 ฝั่ง ฝั่งแม่งูจะปกป้องลูกงู มีวิธีการเล่นดังนี้

7.1) จับไม้สั้นไม้ยาว หรือตกลงกันว่า ใครจะเป็นพ่องู กับแม่งู คนที่เหลือต่อแถวแม่งู เป็นลูกงู
7.2) พ่องูและแม่งูหันหน้าเข้าหากัน ร้องเพลงโต้ตอบกัน เมื่อเพลงจบ แม่งูต้องวิ่งพาลูกงูหนี
7.3) พ่องูวิ่งไล่จับลูกงูทีละคน

ประโยชน์ของการละเล่นงูกินหาง สร้างความสนุกสนาน และฝึกความสามัคคีให้กับเด็กๆ ตั้งแต่วัยเยาว์

8. เดินกะลา

เดินกะลา เป็นการละเล่นไทยที่ใช้ของใกล้ตัวมาเป็นอุปกรณ์การละเล่น ฝึกกล้ามเนื้อเท้า ให้แข็งแรง มีวิธีการเล่นดังนี้
8.1) กำหนดจุดเริ่มต้นและเส้นชัย
8.2) ผู้เล่นแข่งขันกัน เหยียบบนกะลา คล้ายการใส่รองเท้าหูหนีบ
8.3) ยกเชือกก้าวเดินไปจนกว่าจะถึงเส้นชัย

การเดินบนกะลา ฝึกทักษะการทรงตัว และฝึกความอดทน ตอนเดินแรกๆ อาจจะรู้สึกเจ็บเท้า แต่หากฝึกเดินจนคล่องแล้ว ก็จะรู้สึกสนุก

9. ลิงชิงหลัก

ลิงชิงหลัก เป็นการละเล่นไทยที่ใช้ต้นไม้ หรือเสาใต้ถุนบ้าน เป็นอุปกรณ์การเล่น มีวิธีการเล่นดังนี้

9.1) กำหนดเสาหลัก น้อยกว่าจำนวนผู้เล่น 1 เสา เช่น มีผู้เล่น 5 คน ก็กำหนดเสา 4 ต้น
9.2) ผู้เล่นที่มีจำนวนเกินเสา ต้องทำท่าเป็นลิง
9.3) ระหว่างวิ่งเปลี่ยนหลัก ผู้เล่นแต่ละคนต้องหาเสาเพื่อเกาะ คนที่เกินจำนวนเสาต้องแบ่งมาเป็นลิงถัดไป

ลิงชิงหลัก มีประโยชน์ด้านการฝึกไหวพริบและการตัดสินใจ และฝึกทักษะด้านอารมณ์เมื่อได้เล่นร่วมกับเพื่อนๆ

10. ตีลูกล้อ

การละเล่นตีลูกล้อ เป็นวิธีการใช้สิ่งของใกล้ตัวมาเป็นของเล่น เช่น ยางรถจักรยานยนต์ วงล้ออื่นๆ มีวิธีการเล่นดังนี้

10.1) หาอุปกรณ์ที่มีลักษณะเป็นวงล้อกลิ้งได้ กับไม้ 1 อัน ไว้ตีประคอง
10.2) กำหนดจุดเริ่มต้น และเส้นชัยหลัก
10.3) แข่งกันกลิ้งล้อไปที่เส้นชัย

ตีลูกล้อ เป็นกิจกรรมที่เด็กๆ จะได้แข่งขันกับเพื่อนด้วยการใช้ทักษะ ใช้ความสามารถของตัวเอง เป็นวิธีการฝึกไหวพริบ และการสังเกต

11. เสือข้ามห้วย

สือข้ามห้วย เป็นการละเล่นไทยที่ใช้ท่าทางของเสือ มาเป็นส่วนหนึ่งของการละเล่น มีวิธีการเล่นดังนี้

11.1) แบ่งผู้เล่นออกเป็น 2 ทีม ทีมหนึ่งเป็นเสือ อีกทีมหนึ่งเป็นผู้ทำท่าเป็นห้วย
11.2) เสือกระโดดข้ามเพื่อนที่ทำท่าเป็นห้วย ถ้าเสือในทีมคนใดกระโดดไม่ผ่าน จะต้องกลายเป็นห้วยทั้งทีม

กิจกรรมเสือข้ามห้วยนี้เป็นการละเล่นที่ฝึกความคิดสร้างสรรค์ เมื่อเพื่อนๆ ออกแบบท่าให้อีกทีมหนึ่งต้องกระโดดข้าม เสือก็ต้องมีร่างกายที่แข็งแรงและรู้จักสังเกตท่าทางของเพื่อน เพื่อจะกระโดดข้ามให้พ้น

12. กระต่ายขาเดียว

กระต่ายขาเดียว เป็นการละเล่นไทยที่คาดว่ามาจากการเลียนแบบธรรมชาติของกระต่ายที่ได้รับบาดเจ็บ จนต้องกระโดดเขย่งเท้า มีวิธีการเล่นดังนี้

12.1) แบ่งผู้เล่นออกเป็นสองทีม ฝ่ายหนึ่งเป็นกระต่าย อีกฝ่ายหนึ่งเป็นผู้วิ่งไล่หนี
12.2) กำหนดขอบเขตเป็นเส้นวงกลม ทีมที่เป็นกระต่ายอยู่นอกวงกลม
12.3) กระต่ายวิ่งเข้าไปจับเพื่อนในวงกลม ถ้ากระต่ายหมดแรง ต้องมาแปะมือเพื่อนที่อยู่นอกวงกลมให้กลับเข้าไปเป็นกระต่ายวิ่งไล่จับเพื่อน

วิธีการเล่นกระต่ายขาเดียว ช่วยพัฒนาร่างกาย ให้มีทักษะการเคลื่อนไหวและการทรงตัว และรู้จักวางแผน จัดการคนวิ่ง ให้ไล่จับเพื่อนอีกฝ่ายได้ครบทีม

ประโยชน์ของการละเล่นพื้นบ้านไทย

การละเล่นพื้นบ้านไทย นอกจากจะเป็นกิจกรรมดีๆ ให้เด็กๆ ได้ออกกำลังกาย และสร้างสัมพันธภาพที่ดีกับเพื่อนๆ แล้ว ยังเป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมภูมิปัญญาชาวบ้าน และช่วยหล่อหลอมพฤติกรรมให้อยู่ร่วมกับผู้อื่นได้ ฝึกการเป็นผู้นำและผู้ตามที่ดี และเป็นการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมไทยให้คงอยู่แก่ชนรุ่นหลัง

ที่มาเรื่องและภาพจากหนังสือ “การละเล่นพื้นบ้านไทย” พิมพ์ครั้งที่ 1 มกราคม 2560, กรมพลศึกษา กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา