“บอนสี” กลายเป็นไม้ประดับราคาแรงในยุคโควิด-19 เนื่องจากมีผู้นิยมปลูกประดับบ้านสูง และเป็นต้นไม้ที่มีวิธีเลี้ยงไม่ยากนัก เหมาะกับสภาพอากาศของเมืองไทย ที่มีแสงแดดและความชื้น โดยเฉพาะบอนสีหายากจะกลายเป็นไม้ราคาแรงหลักหมื่น ถึงหลักแสนเลยทีเดียว ไทยรัฐออนไลน์พาคุณมารู้จักกับพืชสายพันธุ์นี้ พร้อมกับวิธีเลี้ยงบอนสีให้สวยงาม คู่ควรกับบ้านเรือนของคุณ

ประวัติความนิยม “บอนสี” ในประเทศไทย

บอนสีเป็นไม้ประดับที่มีต้นกำเนิดอยู่ทวีปอเมริกา และแพร่หลายในยุโรป ในประเทศไทยนั้นมีบันทึกการนำเข้าบอนสีจากยุโรปมาในปี พ.ศ. 2425 บอนสีโบราณที่นิยมในยุคนั้นชื่อว่า “กระนกกระทา” และ “ถมยาประแป้ง

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) เสด็จประพาสยุโรปครั้งแรกในปี พ.ศ. 2440 ได้ทรงนำบอนสีกลับเข้ามาปลูกในพระบรมมหาราชวัง สร้างความนิยมให้กับฝ่ายใน โดยยุคนั้นสายพันธุ์ที่มีชื่อเสียง คือ “บอนสีเจ้ากรุงไกเซอร์” และ “บอนสีเจ้ากรุงเดนมาร์ก

ภายหลัง “บอนสี” เป็นที่นิยมเลี้ยงเล่นกันในหมู่ขุนนางเจ้านาย และมีผู้นำไปถวายวัดต่างๆ โดยนำหน่อ เมล็ด ไปแลกเปลี่ยนพูดคุยกัน และจัดประกวดกันในกลุ่ม 5 สถานที่รวมตัวของนักเล่นบอนสีในกรุงเทพมหานครเมื่อครั้งอดีต ได้แก่

...

1. สนามบาร์ไก่ขาว ต่อมาเป็นที่ตั้งร้านศรแดง อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย
2. วัดอินทรวิหาร ย่านบางขุนพรหม
3. บ้านเจ้าคุณทิพย์โกษา คลองบางลำพู
4. วัดสระเกศ ภูเขาทอง
5. ร้านเสาวรส หลังห้างเสาวรส ย่านบางลำพู

Timeline ประวัติบอนสีในประเทศไทย

  • พ.ศ. 2425 : พระยาวินิจอนันกร บันทึกว่าฝรั่งสั่งบอนสีเข้ามาปลูก
  • พ.ศ. 2449-2459 : มีบันทึกว่าชาวต่างชาติชื่อมะโรมิ เลนซ์ สั่งบอนสีมาขาย และขยายพันธุ์
  • พ.ศ. 2450 : รัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสยุโรป ทรงนำ “เจ้ากรุงไกเซอร์”และ “เจ้ากรุงเดนมาร์ก” เข้ามาปลูก สร้างความนิยมให้ฝ่ายใน
  • พ.ศ. 2472 : เจ้านายฝ่ายในนิยมเลี้ยง และขยายออกสู่วัดวา อารามต่างๆ ที่เจ้านายนำไปถวาย บอนตระกูลไก่ ก็นิยมในยุคนี้
  • พ.ศ. 2475 : บอนสี “นกยิบ” ซื้อขายกันในราคา 10 ชั่ง ถือได้ว่าเป็นบอนไม้ประดับที่มีราคาสูง
  • พ.ศ. 2497: นายชลอ ทองสุพรรณ ริเริ่มประกวดบอนสีที่สมาคมพฤกษชาติ
  • พ.ศ. 2501 : ประกวดบอนสีที่ทีวีช่อง 4
  • พ.ศ. 2525 : ก่อตั้งสมาคมบอนสีแห่งประเทศไทย มีสนามหลวงเป็นตลาดบอนสีที่ใหญ่ที่สุด

รู้จัก “บอนสีราชินีไม้ใบ” และวิธีเลี้ยงบอนสีให้สวยพร้อมผสมพันธุ์

บอนสี (Caladium) เป็นไม้ประดับที่มีรูปลักษณ์ของใบสวยงาม แตกต่างกันตามสายพันธุ์ และเป็นที่นิยมมาตั้งแต่สมัยโบราณ จนได้รับขนานนามว่า “ราชินีแห่งไม้ใบ (Queen of the Teary Plant)” บอนสีมีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Caladium bicolor จัดอยู่ในวงศ์ Areceae

วิธีขยายพันธุ์บอนสี 

บอนสีเป็นไม้ประดับที่ขยายพันธุ์ได้ 4 รูปแบบ ได้แก่

1. เพาะเมล็ดบอนสี ด้วยการผสมเกสรในช่วงหัวค่ำ ซึ่งเป็นเวลาที่ดอกบาน เมื่อผสมติดแล้วจะสังเกตเห็นฝักใน 1 สัปดาห์ และฝักใช้เวลาสุก 30 วัน จากนั้นก็นำเมล็ดไปเพาะเป็นต้นไม้ ระยะเวลางอกส่วนใหญ่อยู่ที่ 15 วัน
2. ผ่าหัวบอนสี หัวที่นำมาขยายพันธุ์ได้ จะต้องมีอายุ 3 เดือน ถึง 1 ปี โดยนำมาผ่าให้มีขนาดชิ้นละ 1 เซนติเมตร ล้างให้สะอาดนำไปชำในกระบะทรายหยาบ หัวใหม่จะงอกภายใน 15 วัน จึงย้ายไปปลูกใหม่ในกระถาง 2-3 นิ้ว
3. แยกหน่อ หน่อของบอนสีที่พ้นมาจากโคนต้นแม่ สามารถแยกไปปลูกได้เมื่อมีอายุ 4 เดือนขึ้นไป
4. เพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ บอนสีหายาก และมีราคาสูง มักนำไปขยายพันธุ์ด้วยวิธีเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ซึ่งจะให้สีใบเหมือนกับต้นแม่ แต่การขยายพันธุ์ด้วยวิธีนี้ก็มีโอกาสกลายพันธุ์สูงถึงร้อยละ 20

...

วิธีเลี้ยงบอนสีให้สวย

แม้ว่ามีวิธีขยายพันธุ์ที่หลากหลายแต่การผสมพันธุ์ด้วยวิธีผสมเกสร เพาะเมล็ด เป็นที่นิยมมากที่สุด เนื่องจากปรับปรุงสายพันธุ์ให้สวยงามขึ้นกว่าเดิมตามลักษณะที่ต้องการได้ ความสวยงามของบอนสี มีคุณสมบัติ 6 ประการ ได้แก่

1. ความสม่ำเสมอของรูปทรงใบ ลักษณะใบยาว ใบกาบ ใบไผ่ สม่ำเสมอตลอดกันทั้งต้น
2. ความดกของใบบอน ใบแรกที่แทงงอกออกมาก่อนมีความคงทน ไม่ทิ้งใบ และนับใบที่ออกมาทีหลังมีความดก 12 ใบขึ้นไป
3. ความสม่ำเสมอของสีใบบอน สีของใบชัดเจน สม่ำเสมอ ไม่ทิ้งสีของตัวเอง
4. ความสม่ำเสมอของก้านใบ มีลักษณะของก้านใบที่อวบ แข็งแรง
5. ความเป็นระเบียบของก้าน กาบเกาะกัน ไม่แบะออก ก้านใบจัดเรียงได้รูปทรงตามธรรมชาติ
6. ความแปลกของใบ เช่น รูปใบแปลก ก้านใบแปลก

การเก็บพ่อแม่พันธุ์บอนสี

บอนสีที่เป็นพ่อแม่พันธุ์ได้จะมีอายุ 10 เดือนขึ้นไป และบอนสีมักจะทิ้งใบในช่วงเดือนธันวาคมถึงมกราคม จึงนิยมขุดหัวบอนขึ้นมาทำความสะอาดในช่วงเดือนมกราคมถึงกุมภาพันธ์ เก็บไว้ในที่ไม่มีแสงแดด และอากาศถ่ายเทดีนาน 3 เดือน จากนั้นก็นำมาลงปลูกใหม่ในช่วงเดือนพฤษภาคม หลังจากนั้น 1-1 เดือนครึ่งบอนจะแทงออกมาใหม่ และเริ่มมีใบที่ 1 จากนั้นก็จะเริ่มออกดอกพร้อมผสมอีกครั้ง

...

การผสมเกสรบอนสี

ดอกบอนสีมักจะบานในช่วง 18.00-21.00 น. เพราะฉะนั้นผู้เลี้ยงต้องเตรียมความพร้อม ทั้งอุปกรณ์ และถุงพลาสติกเจาะรู เมื่อใช้มีดกรีดกาบหลอดรังไข่เกสรตัวเมีย และพู่กันสอดป้ายเกสรตัวผู้ในตำแหน่งที่เหมาะสมแล้ว ก็ใช้ถุงพลาสติกเจาะรู 2-3 รู ครอบดอกเอาไว้ เพื่อควบคุมความชื้น ไม่ให้เกสรตัวผู้หล่นออกจากเกสรตัวเมีย

มีวิธีสังเกตว่าผสมติดหรือไม่ ด้วยการสังเกตก้านดอกเกสรตัวเมีย ถ้าไม่เหี่ยว และขยายตัว ใน 1 สัปดาห์ แสดงว่าติดฝัก และเก็บเกี่ยวหลังผสมได้ในระยะเวลา 35 วัน

การเพาะเมล็ดบอนสี

เมื่อล้างเก็บเมล็ด ผึ่งให้แห้งแล้ว ควรนำมาปลูกเพาะภายใน 7 วัน เพราะจะมีเปอร์เซ็นต์การงอกสูง ใน 1 ฝัก มีเมล็ดตั้งแต่ 200-500 เมล็ด โดยมีวิธีการเพาะดังนี้

1. เตรียมวัสดุปลูก ควรเป็นดินร่วนโปร่ง ในกระถางปากกว้าง รดน้ำให้ชุ่ม
2. หวานเมล็ดให้สม่ำเสมอ ไม่ถี่เกินไป
3. เก็บกระถางไว้ในสถานที่ปราศจากแมลงกัดกิน หรือคลุมกระถางด้วยพลาสติก 3 สัปดาห์
4. เมื่อต้นกล้าสูงเกิน 2 นิ้ว ให้คัดไปเพาะในกระถาง 4 นิ้ว
5. เมื่อต้นกล้ามีขนาดโตขึ้น ก็ย้ายกระถางเป็น 6 - 8 นิ้ว ต่อไป

การรดน้ำบอนสี
ควรรดน้ำในช่วงเช้า ทุกวัน

การให้แสงแดดแก่บอนสี
บอนสีชอบแสงแดดร้อยละ 50-70 ควรวางกระถางไว้ในที่ร่มรำไร และยกไปรับแดดในช่วงเวลา 09.00-10.00 น. ในพื้นที่อากาศถ่ายเทสะดวก

5 บอนสีโบราณยอดนิยม

บอนสีเป็นไม้ประดับที่นิยมปลูกในบ้านเรือนมาตั้งแต่สมัยอดีต เพราะฉะนั้นบอนสีโบราณหลายชนิดยังเป็นที่นิยม และมีราคาสูงตามความสวยงาม ชื่อของบอนสีล้วนไพเราะตามการเรียกของผู้ปลูก เช่น อิเหนา, ช้างเผือกใบบัว, วัวแดง, ผีเสื้อชมพู, เจ้ากรุงไกเซอร์, ร่อนทอง, ชมพูอันดามัน, นกกระทา, ทับทิมเม็ดใหญ่, ทับทิมเม็ดเล็ก,ปาเต๊ะ, นางไหม, สาวน้อยประแป้ง, เสือพราน, กวักโพธิ์เงิน, กวักโพธิ์ทอง และพระยาเศวต เป็นต้น

...

1. บอนสีอิเหนา  

2. บอนสีผีเสื้อชมพู

3. บอนสีวัวแดง

4. เจ้ากรุงไกเซอร์

5. เจ้ากรุงเดนมาร์ก

รู้หรือไม่..

  • แหล่งผลิตบอนสีที่ใหญ่ที่สุดในโลก อยู่ในรัฐฟลอริดา สหรัฐอเมริกา
  • แหล่งผลิตบอนสีที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย อยู่ที่ภาคกลาง ได้แก่ กรุงเทพฯ นนทบุรี ปทุมธานี อยุธยา คาดปริมาณการผลิตกว่า 3 แสนกระถางต่อปี
  • ตลาดบอนสีที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ตลาดจตุจักร, ตลาดสนามหลวง 2, ตลาดต้นไม้กาญจนาภิเษก, ตลาดมีนบุรี และตลาดกลุ่มเฟซบุ๊ก

อ้างอิง :

1. “สถานการณ์ความเป็นมา การผลิต และการตลาดบอนสี” เว็บไซต์สำนักส่งเสริมและฝึกอบรม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, http://eto.ku.ac.th/neweto/e-book/plant/flower/boonsee_bot1.pdf [สืบค้น 27 ก.ย. 2564]
2. “เทคนิคการปรับปรุงพันธุ์บอนสีโดยการผสมพันธุ์”, ผู้เขียนนายกวี ลิ่มอุสันโน นักวิชาการเกษตรชำนาญการ กลุ่มวิชาการส่งเสริมการเกษตร สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จังหวัดสงขลา, ,http://www.sdoae.doae.go.th/News/g_product/bonsri.pdf, [สืบค้น 27 ก.ย. 64]
3. “บอนสี” เว็บไซต์คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่, ไม่ทราบปีที่เขียน, http://natres.psu.ac.th/Department/PlantScience/510-111web/510-482web/510-482web-1-10-46/Caladium.htm [สืบค้น 27 ก.ย. 64]