กว่าจะเป็นเพลงชาติไทยที่เราคุ้นเคยกันในปัจจุบันนี้ ต้องผ่านการปรับเปลี่ยนเนื้อร้องและทำนองมาแล้วหลายครั้ง เพื่อให้สามารถแสดงถึงอัตลักษณ์ของความเป็นชาติไทยในแต่ละยุคสมัยได้ดีที่สุด
"เพลงชาติไทย" ใครแต่งขึ้น?
สำหรับเพลงชาติไทยฉบับปัจจุบัน ถือเป็นฉบับที่ 7 โดยมีขุนวิจิตรมาตรา เป็นผู้ประพันธ์คำร้อง และพระเจนดุริยางค์ (ปิติ วาทยะกร) เป็นผู้ประพันธ์ทำนอง แต่งขึ้นช่วงหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 แต่ต่อมาในปี พ.ศ.2482 มีการเปลี่ยนชื่อประเทศจาก "สยาม" เป็น "ไทย" ทำให้รัฐบาลจัดประกวดคำร้องใหม่ขึ้น (เนื้อเพลง) แต่กำหนดว่าให้ใช้ทำนองตามฉบับเดิมของพระเจนดุริยางค์ ผู้ได้รับรางวัลชนะเลิศ ได้แก่ พันเอกหลวงสารานุประพันธ์ (นวล ปาจิณพยัคฆ์)
เนื้อเพลงชาติไทยฉบับปัจจุบัน เริ่มใช้ตั้งแต่เมื่อไร?
หลังจากเปลี่ยนเนื้อร้องเพลงชาติ เพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนชื่อประเทศจากสยามเป็น "ไทย" ใน พ.ศ.2482 เพลงชาติไทยฉบับเนื้อร้องปัจจุบัน เริ่มใช้ครั้งแรกเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ.2482 มีเนื้อเพลงดังนี้
ประเทศไทยรวมเลือดเนื้อชาติเชื้อไทย
เป็นประชารัฐ ไผทของไทยทุกส่วน
อยู่ดำรงคงไว้ได้ทั้งมวล
ด้วยไทยล้วนหมาย รักสามัคคี
ไทยนี้รักสงบ แต่ถึงรบไม่ขลาด
เอกราชจะไม่ให้ใครข่มขี่
สละเลือดทุกหยาดเป็นชาติพลี
เถลิงประเทศชาติไทยทวี มีชัย ชโย
...
ความหมายของเพลงชาติไทย
"ประเทศไทยเป็นถิ่นที่รวมชนผู้มีเลือดเนื้อเชื้อชาติของไทยไว้ให้ได้อยู่อาศัยร่วมกัน แผ่นดินทุกส่วนของประเทศไทยย่อมเป็นของชาวไทยทุกคน ประชาชนไทยรักษาแผ่นดินไทยทั้งหมดไว้ได้ ก็ด้วยทุกคนมีน้ำใจสามัคคี
รักคนไทยด้วยกันและรักประเทศชาติ ชนไทยรักที่จะอยู่สุขสงบ แต่ถ้าจำเป็นต้องรบกับศัตรูแล้ว คนไทยไม่เคยขลาดกลัวเลย ไม่มีวันยอมให้ศัตรูหน้าไหนมาข่มขู่ทำลายความเป็นอิสระของชาติไทยได้ ทุกคนยอมสละเลือด
ทุกหยดเพื่อชาติไทยอยู่ยั่งยืน จะปกป้องคุ้มครองประเทศไทยให้เจริญรุ่งเรืองยิ่งๆ ขึ้นไป และให้มีแต่ชัยชนะตลอดไป"
(หมายเหตุ : การให้ความหมายเพลงชาติไทย ตามฉบับของ ท่านผู้หญิงสมโรจน์ สวัสดิกุล ณ อยุธยา)
ประวัติเพลงชาติไทย มีความเป็นมาอย่างไร?
เพลงชาติไทยนั้นมีประวัติความเป็นมาที่ยาวนาน โดยมีการปรับเปลี่ยนเพลงชาติมาหลายสมัย ทั้งสิ้น 7 ฉบับ โดยสามารถรวมเพลงชาติไทยตั้งแต่อดีต-ปัจจุบัน ได้ดังนี้
เพลงชาติไทยฉบับที่ 1
เพลงชาติไทยมีขึ้นครั้งแรก ในช่วงปลายสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) ในปี พ.ศ.2395 เป็นการใช้ทำนองและรับอิทธิพลมาจากเพลง "God save the Queen" ซึ่งเป็นเพลงชาติของอังกฤษ เพื่อถวายเกียรติยศแก่องค์พระมหากษัตริย์ รู้จักกันในชื่อ "เพลงสรรเสริญพระบารมี" นั่นเอง ต่อมาเพลงดังกล่าวถูกนำมาประพันธ์คำร้องขึ้นใหม่ โดยพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) ตั้งชื่อใหม่ว่า "เพลงจอมราชจงเจริญ"
- เนื้อเพลงจอมราชจงเจริญ
ความสุขสมบัติทั้งบริวาร เจริญพละ ปฏิภาณผ่องแผ้ว
จงยืนพระชนมาน นับรอบร้อย แฮ
มีพระเกียรติเพริศแพร้ว เล่ห์ เพี้ยง จันทร์
เพลงชาติไทยฉบับที่ 2
ราวปี พ.ศ.2414 สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) เสด็จประพาสสิงคโปร์ ทอดพระเนตรกองทหารดุริยางค์ ถวายเคารพด้วยการบรรเลงเพลง "God save the Queen" (เนื่องจากสมัยนั้นสิงคโปร์ยังอยู่ภายใต้อังกฤษ) ทำให้ทรงคิดว่าประเทศควรมีเพลงชาติเป็นของตนเอง เพื่อแสดงถึงความเป็นเอกราช เมื่อกลับประเทศ ทรงให้ครูดนตรีไทยเข้าเฝ้าฯ ลงความเห็นกันว่าเลือก "เพลงบุหลันลอยเลื่อน" สำหรับใช้เป็นเพลงชาติ และเพลงสำหรับถวายความเคารพ
- เนื้อเพลงบุหลันลอยเลื่อน
กิดาหยันหมอบกรานอยู่งานพัด
พระบรรทมโสมนัสอยู่ในที่
บุหลันเลื่อนลอยฟ้าไม่ราคี
รัศมีส่องสว่างดังกลางวัน
พระนิ่งนึกตรึกไตรไปมา
ที่จะแต่งคูหาสะตาหมัน
ป่านนี้พระองค์ทรงธรรม์
จะนับวันเคร่าคอยทุกเวลา
ครั้นล่วงเข้ายามดึกสงัด
สงบเงียบเสียงสัตว์ทุกภาษา
วังเวงวิเวกวิญญาณ์
พระนิทราหลับไปในราตรีฯ
เพลงชาติไทยฉบับที่ 3
มีการนำเพลงสรรเสริญพระบารมี มาประพันธ์ทำนองใหม่ ในปี พ.ศ.2431 โดยใช้คำร้องของสมเด็จฯ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ โดยในขณะนั้นใช้เป็น "เพลงชาติ" ซึ่งได้กลายเป็นเพลงสรรเสริญพระบารมี ฉบับที่ใช้กันในปัจจุบันนั่นเอง
...
- เนื้อเพลงสรรเสริญพระบารมี (ฉบับปัจจุบัน)
ข้าวรพุทธเจ้า
เอามโนและศิระกราน
นบพระภูมิบาล
บุญญดิเรก
เอกบรมจักริน
พระสยามินทร์
พระยศยิ่งยง
เย็นศิระเพราะพระบริบาล
ผลพระคุณ ธ รักษา
ปวงประชาเป็นสุขศานต์
ขอบันดาล
ธ ประสงค์ใด
จงสฤษฏ์ดัง
หวังวรหฤทัย
ดุจจะถวายชัย
ชโย
เพลงชาติไทยฉบับที่ 4
เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา) ได้ประพันธ์เนื้อร้องเพลงชาติขึ้นใหม่ เพื่อใช้ปลุกใจความสามัคคีและความรักชาติ โดยเป็นการนำมาใช้ชั่วคราว ระหว่างที่รอเพลงชาติที่แต่งโดย พระเจนดุริยางค์ ในช่วงเปลี่ยนผ่านทางการเมือง
- เนื้อเพลงชาติมหาชัย
สยามอยู่คู่ฟ้าอย่าสงสัย
เพราะชาติไทยเป็นไทยไปทุกเมื่อ
ชาวสยามนำสยามเหมือนนำเรือ
ผ่านแก่งเกาะเพราะเพื่อชาติพ้นภัย
เราร่วมใจร่วมรักสมัครหนุน
วางธรรมนูญสถาปนาพาราใหม่
ยกสยามยิ่งยงธำรงชัย
ให้คงไทยตราบสิ้นดินฟ้า
เพลงชาติไทยฉบับที่ 5
ภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาสู่ระบอบประชาธิปไตย ในปี พ.ศ.2475 มีการแต่งเพลงชาติขึ้นใหม่ ประพันธ์แต่งคำร้องโดยขุนวิจิตรมาตรา (สง่า กาญจนาคพันธุ์) และประพันธ์ทำนองโดยพระเจนดุริยางค์
- เนื้อร้องเพลงชาติ ฉบับของขุนวิจิตรมาตรา
แผ่นดินสยามนามประเทืองว่าเมืองทอง
ไทยเข้าครอง ตั้งประเทศ เขตต์แดนสง่า
สืบเผ่าไทยดึกดำบรรพ์ โบราณลงมา
รวมรักษาสามัคคี ทวีไทย
บางสมัย ศัตรู จู่โจมตี
ไทยพลี ชีวิตร่วม รวมรุกไล่
เข้าลุยเลือดหมายมุ่งผดุงไผท
สยามสมัย โบราณรอด ตลอดมา
อันดินสยามคือว่าเนื้อของเชื้อไทย
น้ำรินไหล คือว่าเลือด ของเชื้อข้า
เอกราชคือ เจดีย์ ที่เราบูชา
เราจะสามัคคี ร่วมมีใจ
รักษาชาติ ประเทศ เอกราชจงดี
ใครย่ำยี เราจะไม่ละให้
เอาเลือดล้างให้สิ้น แผ่นดินไทย
สถาปนา สยามให้ เทิดไทย ไชโย
...
เพลงชาติไทยฉบับที่ 6
ต่อมาในปี พ.ศ.2477 มีการจัดประกวดเนื้อร้องเพลงชาติขึ้นใหม่อีกครั้ง ฉบับที่ได้รับการคัดเลือกได้แก่ ฉบับของขุนวิจิตรมาตรา และฉบับของนายฉันท์ ขำวิไล ซึ่งเมื่อรวมกันแล้วจะได้เนื้อเพลงชาติ จำนวน 4 บท นับว่าเป็นเพลงชาติไทย ฉบับทางการครั้งแรก
- เพลงชาติ ฉบับราชการฉบับแรก
เหล่าเราทั้งหลายขอน้อมกายถวายชีวิต
รักษาสิทธิ์อิสระ ณ แดนสยาม
ที่พ่อแม่สู้ยอมม้วยด้วยพยายาม
ปราบเสี้ยนหนามให้พินาศสืบชาติมา
แม้ถึงไทยไทยด้อยจนย่อยยับ
ยังกู้กลับคงคืนได้ชื่นหน้า
ควรแก่นามงามสุดอยุธยา
นั้นมิใช่ว่าจะขัดสนหมดคนดี
เหล่าเราทั้งหลายเลือดและเนื้อเชื้อชาติไทย
มิให้ใครเข้าเหยียบย่ำขยำขยี้
ประคับประคองป้องสิทธิ์อิสรเสรี
เมื่อภัยมีช่วยกันจนวันตาย
จะสิ้นชีพไว้ชื่อให้ลือลั่น
ว่าไทยมันรักชาติไม่ขาดสาย
มีไมตรีดียิ่งทั้งหญิงทั้งชาย
สยามมิวายผู้มุ่งหมายเชิดชัย ไชโย
...
เพลงชาติไทยฉบับที่ 7 (ฉบับปัจจุบัน)
ในสมัยรัฐบาลของจอมพลแปลก พิบูลสงคราม ได้จัดประกวดเนื้อร้องเพลงชาติใหม่ เนื่องจากต้องการให้สอดคล้องกับนโยบายการเปลี่ยนชื่อประเทศอย่างเป็นทางการ โดยเลือกใช้ฉบับเนื้อร้องของพันเอกหลวงสารานุประพันธ์ (นวล ปาจิณพยัคฆ์) ที่ส่งเข้าประกวดในนามของกองทัพบก แล้วจึงประกาศยกเลิกเพลงชาติฉบับก่อนหน้า ทำให้นับตั้งแต่วันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ.2482 เป็นต้นมา เพลงชาติฉบับนี้ได้กลายเป็นเพลงชาติไทยที่ใช้กันในปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม จะเห็นได้ว่าเพลงชาติไทยมีความเป็นมาที่ยาวนาน โดยมีการปรับเปลี่ยนเพื่อให้เข้ากับบริบททางการเมืองและสังคมในแต่ละยุคสมัยนั่นเอง