ศาสนาฮินดูในอินเดียนับถือ “พระศิวะ” คือเทพเจ้าสูงสุด ที่มี “โคนนทิ” เป็นพาหนะประจำพระองค์ คนฮินดูโบราณถึงปัจจุบันจึงไม่นิยมฆ่าโคเพื่อเอาเนื้อมาเป็นอาหาร แถมยังยกขึ้นหิ้งบูชาว่าเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์คู่เทพเทวดา
ทุกปี...ชาวเนปาลีที่อพยพข้ามเทือกเขาหิมาลัย มาตั้งรกรากทำกินยังเมืองดาร์จีลิง รัฐเบงกอลตะวันตก อินเดีย บนความสูงกว่า 6,700 ฟุต จะไม่ลืมประกอบพิธีแสดงความขอบคุณต่อชีวิตโคที่ชุบเลี้ยงไว้ช่วยงานนาทุกปี โดยตกแต่งเรือนร่างให้ดูมีสีสันสวยงาม...แล้วจูงเดินไปตามชุมชนที่รอการต้อนรับ
พร้อมให้ “อาหาร” กับ “สินทรัพย์” เพื่อเลี้ยงดูมันต่อไป
“เมืองไทย” บ้านเรามีโคกระบือ...เป็นสัตว์คู่ขวัญชาวนาสันหลังประเทศมานาน จนกลายเป็นวิถีแห่งการอยู่ร่วมกัน ผูกพันเป็นวัฒนธรรมประเพณีที่มีต่อกันภายในชุมชนอย่างสม่ำเสมอ...บางแห่งขุนเลี้ยงขึ้นชั้นโคจอมยุทธ์เรียก “วัวชน” สู่สังเวียน “ชนโค” ที่ท้องถิ่นภาคใต้เรียก “สนามชนวัว”
...
โดยบางคู่มีการวางเงินเดิมพันสูงถึงหลักแสนหลักล้านบาท...กันเลยทีเดียว
ส่วนกระบือที่หมายถึง “ควาย” สวนสัตว์ในต่างประเทศหลายแห่งเรียก “ควายน้ำ (Water Buffalo)” เพราะชอบแช่น้ำ ปัจจุบันไทยมีประชากรควายทั่วประเทศประมาณ 7 แสนตัว ส่วนใหญ่เลี้ยงไว้เพื่อทำนา มีที่เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี แตกต่างจากถิ่นอื่น ตรงเลี้ยงไว้เพื่อใช้ต่อสู้ใน “สนามชนควาย” ไม่ต่างสังเวียนชนวัวที่ต้องมีการวางเงินเดิมพันโขอยู่เช่นกัน อย่างไรก็ตาม...ควายไทยถึงจะมิใช่สัตว์ในเทพนิยายตามตำนานชมพูทวีป แต่ก็ผูกพันกับคนเลี้ยงที่มีลมหายใจเหมือนกัน อยู่ร่วมชายคาเดียวกัน โดยคนเป็นเจ้าของจะพร้อมจัดกิจกรรมแสดงความขอบคุณตามจารีตประเพณีประจำปีขึ้นตามถิ่นอาศัยมิได้ขาด
วัชรพล สารสอน รอง ผอ.การท่องเที่ยวแห่ง ประเทศไทย (ททท.) สำนักงานพัทยา เล่าให้ฟังว่า ...ที่จังหวัดชลบุรี ช่วงวันก่อนออกพรรษาในวันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 11 จะมีกิจกรรม “วิ่งควาย” บริเวณพื้นที่ศาลากลางจังหวัด เป็นงานประเพณีที่จัดทุกปีต่อเนื่องมานานถึง 150 ปี “ในอดีตชาวบ้านซึ่งเป็นเกษตรกรจะนำควายไปอาบน้ำทำความสะอาดกันในวัดประจำชุมชน แล้วตกแต่งให้ดูสวยงามเป็นพิเศษ นัยว่าเป็นกุศโลบายเตรียมความพร้อมเพื่อรับงานนาปีถัดไป จากนั้นจัดแข่งขันวิ่งควายอวดความแข็งแกร่งควายแต่ละตัวกับได้สนุกสนาน”
ต่อมา...จึงนำวิถีจากแต่ละพื้นที่มาจัดรวมเป็นเทศกาลวิ่งควายประจำปี มีกิจกรรมต่างๆมากมาย กลายเป็นปัจจัยส่งเสริมการท่องเที่ยวชลบุรี เคยทำรายได้รวมปีละ 270 ล้านบาท จากคนมาเที่ยวปีละ 18 ล้านคน
N N N
“บ้านวังน้ำดำ” หมู่ 4 ต.หนองบอนแดง อ.บ้านบึง ชาวบ้านที่เห็นความสำคัญกับเรื่องนี้ได้ออกแบบก่อตั้ง “บ้านวังน้ำดำ” ขึ้นเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเรียนรู้วิถีควายไทยรับนักท่องเที่ยว เพื่อไปสัมผัสชีวิตจริงประจำวันควายไทยกลางกลิ่นโคลนสาบควาย แล้วยังเปิดโอกาสให้คนมาเที่ยวแต่ละคนได้ขี่ทุยลุยท้องทุ่งก่อนลงเล่นน้ำในหนองกับคอยป้อนหญ้าให้อาหารหรือร่วมวงสันทนาการตำรับชาวทุ่ง
“กินเมี่ยง (อาหารประจำถิ่น) เลี้ยงควาย” โดยปราชญ์พื้นบ้าน วิทยา ดำจับ วัย 53 ปี ที่คนหนองบอนแดงเรียก “สารวัตรวิทย์” หรือบางคนก็เรียกติดปากว่า “ลุงยิ้ม” ตามลักษณะนิสัย เป็นผู้ถ่ายทอดองค์ความรู้เรื่องวิถีไทยวิถีควายให้ ลุงยิ้มบอก...ควายมีอายุ 35 ถึง 40 ปี ขึ้นอยู่กับสุขภาพและการดูแล ควายเมืองนี้มีจุดเด่นคือ “เดินเหมือนม้า หน้าเหมือนเก้งกวาง” กีบเท้าหนาแบบกะลา ตาโต หางป้อง ก้อยกอดโค้งเข้าหากัน เท้าเป็นข้อคล้ายฝักมะขามทำให้เชื่อว่า...มีความแคล่วคล่องว่องไว
...
นอกจากนี้...ถ้าเป็นตัวที่มี “ขวัญ” อยู่ตรง “ตวาบ” ตามวลีคนเลี้ยงควาย หรือตรงหน้าผาก สันตะหงอกที่เลยหมอนบ่า ถือว่าเป็น “ขวัญดี” มีมงคลกับคนเลี้ยง...แต่ถ้าอุตริขึ้นเป็นขวัญที่ข้อเท้า ชาวทุ่งเรียก “ขวัญตรวน” คือเสี่ยงถูกตีตรวนนอนคุกตะรางได้ทุกเมื่อ!
...
“สำคัญเหนืออื่นใด...คนเลี้ยงต้องมีจิตวิญญาณรักเขาคือควาย แล้วควายตัวนั้นจะรักเขา ใจเราตอบ ทำนองเดียวกัน...ถ้าตั้งข้อเป็นศัตรู เขาก็พร้อมจะตอบโต้ไม่ยอมให้เข้าใกล้ทันที”
ยามเมื่อควายมีอาการป่วยไข้...เขาจะซึมและไม่ยอมเคี้ยวเอื้อง คือบดอาหารในปาก ถ้าควายล้มหมายถึงตาย...เจ้าของจะถอดสนตะพายตรงรูจมูกออก แล้วนิมนต์พระมาสวดบังสุกุลก่อนฝัง โดยเจ้าของและคนเลี้ยงจะปฏิเสธการกินเนื้อควาย...เพราะคุ้นกลิ่นกันมานาน และถือเป็นเดรัจฉานวิชาที่ไม่ควรให้อภัย
N N N
มิติความเชื่อที่น่าสนใจ...จากการสืบสานวัฒนธรรมประเพณีอันยาวนานกว่าศตวรรษครึ่ง เมื่อเสร็จกิจจากงานนาช่วงปลายฝน “เกษตรกรบ้านหนองบอนแดง” จะไม่ลืมประกอบพิธีกรรมประจำถิ่น ด้วยการนำข้าวฟาง ผลหมากรากไม้ กล้วย เผือก มัน มาเป็นเครื่องบวงสรวงสังเวยกับเครื่องบายศรี...ทำพิธีขอขมาลาโทษ หากได้ทำสิ่งไม่ดีไม่งามน้อยใหญ่กับ “ควาย”
แล้วบนบานให้เทวดาฟ้าดินได้ช่วยปกปัก รักษา คุ้มครองชีวิตควายให้แข็งแรง มีสุขภาพดี ชีวิตยืนยาว เสร็จแล้วถึงนำควายออกมาวิ่งในพื้นที่ทำนาและชุมชน เพื่อถวายบูชาเจ้าที่เจ้าทาง พระแม่ธรณี สิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำหมู่บ้าน เป็นต้นแบบการ “วิ่งควาย” มาแต่โบราณจนถึงยุคนี้
...
“คนเฒ่าคนแก่เล่าให้ฟัง...แต่ก่อนเคยมีปาฏิหาริย์ปรากฏกับคนที่ละเลยการปฏิบัติ ซึ่งถือเป็นจริตชั่วช้าที่มีต่อสัตว์ร่วมครัวเรือน คือจะเห็นเปรตตัวดำร่างใหญ่ หรือหมาดำท่าทางดุร้ายมายืนค้ำอยู่เหนือหลังคาบ้าน จนต้องทำพิธีขอขมาลาโทษถึงจะคลายบ่วงกรรมนั้นได้”
ไม่เพียงเท่านั้น...วันเวลาที่ผ่านมาหลายชั่วอายุคน ชาวตำบลหนองบอนแดงต่างก็ยังมีความเชื่อว่า...“ควาย” ตัวที่มีคุณลักษณะครบองค์ประกอบเช่นควายมงคล มักจะถูกนำไปเดินย่างกรายผ่านชุมชนที่อยู่อาศัย หรือตลาดทำการค้าเอาฤกษ์เอาชัย เพื่อความเป็นสิริมงคล และหากควายมงคลนี้เกิดพลังถ่ายมูลสีเหลืองคล้ายทองคำออกมาขณะเยื้องย่าง...นั่นหมายถึงผู้คนละแวกนั้นจะประสบโชคลาภเงินทองไหลมาเทมาดั่งห่าฝน
เหล่านี้เป็น “ศรัทธาความเชื่อ” ตามคติโบราณที่สืบทอดต่อๆกันมาจากบรรพบุรุษ และมนุษย์เราก็ควรปรับเปลี่ยนทัศนคติเสียใหม่ เลิกตราหน้าแกงมนุษย์กันเองว่า “โง่เหมือนควาย”... เพราะไม่ใช่ความจริง
“ศรัทธา”...นำมาซึ่งปาฏิหาริย์? เชื่อไม่เชื่อโปรดอย่าได้...“ลบหลู่”.
รัก-ยม