วันจักรี ตรงกับวันที่ 6 เมษายน ของทุกปี ซึ่งเป็นวันเสด็จปราบดาภิเษกขึ้นครองราชสมบัติของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และเป็นวันที่ระลึกถึงมหาจักรีบรมราชวงศ์ พสกนิกรชาวไทยร่วมกันประดับธงชาติตามอาคารบ้านเรือน และหน่วยงานราชการก็มีพิธีวางพานพุ่มถวายสักการะ ณ บรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
วันจักรีมีความสำคัญอย่างไร
วันจักรี คือ วันที่พสกนิกรชาวไทยร่วมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ซึ่งเป็นพระปฐมกษัตริย์ของราชวงศ์จักรี แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชขึ้นครองราชสมบัติเมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2325 และเป็นวันที่ทรงสถาปนากรุงเทพมหานครเป็นเมืองหลวงของประเทศไทย
พระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชที่สำคัญ คือ ทรงย้ายเมืองหลวงราชธานี จากฝั่งธนบุรี มายังฝั่งพระนคร และการฟื้นฟูวัฒนธรรมไทยที่สืบทอดมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย และอยุธยา นอกจากนี้ยังทรงตรากฎหมาย “ตราสามดวง” เพื่อใช้เป็นหลักบริหารบ้านเมือง
ประวัติวันจักรี มีที่มาอย่างไร
- พ.ศ. 2325 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ปราบดาภิเษกขึ้นครองราชสมบัติเป็นปฐมกษัตริย์ราชวงศ์จักรี
- พ.ศ. 2416 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้หล่อพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 1 - 4 เพื่อประดิษฐานไว้ให้พระมหากษัตริย์องค์ต่อมา และพระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการ รวมถึงประชาชน ได้ถวายบังคมระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณปีละครั้ง โดยประดิษฐานบนพระบรมรูปไว้บนพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท
- พ.ศ. 2461 รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้มีการปรับปรุงซ่อมแซม และประดิษฐานพระบรมรูป 5 รัชกาล และมีพระบรมราชโองการประกาศตั้งพระราชพิธีถวายบังคมพระบรมรูป ในวันที่ 6 เมษายนปีนั้น และต่อมาโปรดฯ ให้เรียกวันที่ 6 เมษายนว่า “วันจักรี”
...
พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชที่สำคัญในประเทศไทย
สถานที่ถวายพานพุ่มสักการะพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชในประเทศไทยที่สำคัญมี 2 แห่ง คือ
- พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ถ.ตรีเพชร เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร
พระบรมราชานุสาวรีย์แห่งนี้สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2475 ในงานสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ครบ 150 ปี ประดิษฐานอยู่ที่เชิงสะพานพุทธ ฝั่งเขตพระนคร สร้างขึ้นตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) พระบรมรูปทรงเครื่องขัตติยาภรณ์ เสด็จประทับเหนือพระราชบัลลังก์ ออกแบบโดยสมเด็จพระบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ และหล่อโดยศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี พระบรมราชานุสาวรีย์นี้มีความสูง 4.60 เมตร ฐานกว้าง 2.30 เมตร เบื้องหน้ามีเครื่องบูชา พานพุ่มดอกไม้ และน้ำพุประดับอย่างสวยงาม
- พระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ต.อิสาณ อ.เมือง จ.บุรีรัมย์
พสกนิกรชาวเมืองบุรีรัมย์ ได้ร่วมกันสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ด้วยความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณแห่งผู้สถาปนาเมืองบุรีรัมย์ และเป็นอนุสรณ์ศูนย์รวมจิตใจแห่งความภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ราชวงศ์จักรี ขณะที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าพระยาจักรีในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงยกทัพมาปราบกบฏเมืองจำปาศักดิ์ และได้รวบรวมผู้คนตั้งเมืองขึ้น เรียกว่า “เมืองแปะ” โดยแต่งตั้งบุตรเจ้าเมืองผไทสมัน (พุทไธสง) ให้เป็นเจ้าเมือง ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็นเมือง “บุรีรัมย์” ในช่วงปลายรัชสมัยสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) หรือต้นรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5)
...
พระบรมราชานุสาวรีย์แห่งนี้สร้างเสร็จในปี พ.ศ. 2541 มีพิธีเปิดในปี พ.ศ. 2542 ประดิษฐานอยู่ใน อ.เมืองบุรีรัมย์ ทางไป อ.ประโคนชัย สร้างขึ้นตามแบบนับฉลองพระองค์นักรบ ประทับบนช้างศึก จากจดหมายเหตุประชุมพงศาวดารภาค 7 ซึ่งกล่าวถึงเหตุการณ์ที่พระเจ้ากรุงธนบุรีโปรดให้สมเด็จพระมหากษัตริย์ศึกยกทัพไปปราบพระยานางรองที่สมคบคิดกับเจ้าโอ เจ้าอิน แห่งจำปาศักดิ์
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :