เทศกาลเช็งเม้ง (清明节) ของชาวไทยเชื้อสายจีน เริ่มไหว้กันตั้งแต่วันที่ 20 มีนาคม ถึงวันที่ 4 เมษายน 2564 แต่เนื่องจากปีนี้แต่ละพื้นที่ยังอยู่ในการเฝ้าระวังตามมาตรการความปลอดภัยต่อโรคโควิด-19 การไหว้เช็งเม้งของบางบ้านที่มีผู้สูงอายุ จึงควรไหว้ที่บ้าน แทนการเดินทางไปยังสุสาน

“วันไหว้เช็งเม้ง 2564” ตรงกับวันไหน

เมื่อเปิดปฏิทินจีนปี 2564 จะพบว่า วันเช็งเม้ง (清明) ตรงกับวันที่ 4 เมษายน 2564 ซึ่งเป็นวันไหว้วันสุดท้ายของเทศกาลนี้ แต่วันที่เริ่มไหว้ คือวันที่ 20 มีนาคม 2564 หรือที่เรียกว่า สารทชุงฮุง (春分) แต่ละครอบครัวจึงนัดหมายรวมญาติกันไปไหว้บรรพบุรุษที่สุสาน ตามความเชื่อของชาวไทยเชื้อสายจีน

คำว่า “เช็งเม้ง” มีความหมายว่า ความสะอาด บริสุทธิ์ และแสงสว่าง ชาวไทยเชื้อสายจีนจะเดินทางไปที่สุสานเพื่อเตรียมไหว้ในช่วงเวลาไม่เกิน 10.00 น. โดยเริ่มจากการทำความสะอาดฮวงซุ้ย (สุสาน) และจัดเตรียมอาหาร ของไหว้อื่นๆ

เตรียมของไหว้เช็งเม้ง 64 ต้องมีอะไรบ้าง

...

โหราศาสตร์น่ำเอี้ยงได้แนะนำการเตรียมอาหารไหว้เช็งเม้งไว้ว่าต้องมี อาหารคาว อาหารหวาน ขนม ผลไม้ เครื่องดื่ม และไหว้โถ่วตี่กง (ผู้ดูแล) และหากใครไม่สะดวกเดินทาง ก็ตั้งโต๊ะไหว้ได้ที่บ้าน โดยเตรียมของไหว้บรรพบุรุษให้พอดีกับจำนวนท่านที่ล่วงลับไปแล้ว

ของเซ่นไหว้บรรพบุรุษ ได้แก่

1. ข้าวสวยใส่ถ้วย พร้อมตะเกียบ
2. เหล้า หรือน้ำชา
3. กระดาษเปิดทาง
4. อาหาร 3 หรือ 5 อย่าง
5. สัตว์ประเภท หมู ไก่ เป็ด หรือปลา
6. กับข้าวอื่นๆ ที่บรรพบุรุษชอบรับประทาน และผลไม้ลูกสวยๆ เช่น ส้ม, แอปเปิ้ล, กล้วย, ทับทิม, แก้วมังกร, องุ่น
7. ขนมไหว้ ได้แก่ ขนมไข่ ซาลาเปา ฮวกก้วย จูชังเปี๊ยะ
8. กระดาษไหว้เจ้า ได้แก่ กระดาษหงิ่งเตี๋ย, กระดาษเงินกระดาษทอง และกระดาษรูปของใช้ต่างๆ
9. ประทัด

ของไหว้โถ่วตี่กง ได้แก่

1. เนื้อสัตว์ 3 อย่าง
2. ขนม 3 อย่าง
3. ผลไม้ 3 หรือ 5 อย่าง
4. ธูป 5 ดอก พร้อมเทียนแดง 1 คู่
5. เหล้า หรือน้ำชา

ไหว้เช็งเม้งที่บ้านได้ไหม

วันเช็งเม้ง ญาติพี่น้องจะได้นัดเจอกันเพื่อมาทำกิจกรรมร่วมกัน ด้วยการตระเตรียมของไหว้ ทำพิธีไหว้บรรพบุรุษ และรับประทานอาหารร่วมกัน ถือว่าเป็นช่วงเวลาดีๆ ที่ทุกคนจะได้เจอกันพร้อมหน้า สำหรับปีนี้ใครที่ไม่สะดวกเดินทางไปยังสุสาน ควรเลือกไหว้ที่บ้านของคนในครอบครัว ซึ่งเป็นการแสดงความกตัญญูต่อบรรพบุรุษได้อีกทางหนึ่ง. 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง