วันอุตุนิยมวิทยาโลก ตรงกับวันที่ 23 มีนาคม ของทุกปี เกิดจากความร่วมมือของหน่วยงานอุตุนิยมวิทยาทั่วโลก วันอุตุนิยมวิทยาโลกได้เกิดขึ้นครั้งแรกปี พ.ศ.2493 จากผลบังคับใช้อนุสัญญาองค์การอุตุนิยมวิทยาโลก อันเป็นหน่วยงานที่ต้องการติดตามผลการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ

ประวัติของ “วันอุตุนิยมวิทยาโลก”

อุตุนิยมวิทยา (Meteorology) เป็นศาสตร์ที่อาศัยการเก็บข้อมูลเชิงสถิติเกี่ยวกับสภาพแวดล้อม ดิน ฟ้า อากาศ ที่เกี่ยวข้องกับสรรพชีวิตบนโลก และชั้นบรรยากาศ ปัจจุบันได้มีเทคโนโลยีที่ใช้คอมพิวเตอร์เป็นตัวช่วยพยากรณ์อากาศ ประวัติความเป็นมาของวันอุตุนิยมวิทยาโลก มีดังนี้

พ.ศ.2425-2426 - การจัดตั้งปีขั้วโลกสากล ด้วยความพยายามของ 11 ชาติ ร่วมกันจัดตั้ง 12 สถานีอุตุนิยมวิทยาบนขั้วโลกเหนือ และ 2 สถานีบนขั้วโลกใต้ และตรวจวัดทางอุตุนิยมวิทยาอย่างจริงจัง ครอบคลุมถึงสนามแม่เหล็กไฟฟ้าขั้นโลก และไฟฟ้าในบรรยากาศ, การตรวจทางสมุทรศาสตร์, การตรวจธารน้ำแข็งทั่วโลก และการสุ่มเก็บตัวอย่างทางอากาศ

...

พ.ศ.2493 - บังคับใช้อนุสัญญาองค์การอุตุนิยมวิทยาโลก และเฉลิมฉลองวันอุตุนิยมวิทยาโลกเป็นครั้งแรก จัดการประชุม และกำหนดหัวข้อสำคัญในวันอุตุนิยมวิทยาโลกแต่ละปี เพื่อให้เกิดการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และดำเนินการในวงกว้าง ภายใต้กรอบการดำเนินงานด้านสภาพแวดล้อม ภูมิอากาศและน้ำ และนักอุตุนิยมวิทยา Charney, Fjotoft และ Von Neumann ได้ประกาศความสำเร็จการใช้คอมพิวเตอร์คำนวณพยากรณ์อากาศเชิงตัวเลขเป็นครั้งแรก

พ.ศ.2494 - องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) ได้รับจัดตั้งให้เป็นองค์การชำนัญการพิเศษของสหประชาชาติ และกลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติของคณะกรรมการบริหารองค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO Executive Council) เพื่อคัดเลือกหัวข้อสำคัญ เพื่อสดุดีวันอุตุนิยมวิทยาโลกประจำปี

พ.ศ.2504-2506 - จัดตั้งโครงการวิจัยบรรยากาศโลก (GARP) และโครงการตรวจอากาศโลกขององค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WWW) เพื่อสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานของระบบรวบรวม วิเคราะห์ ประมวลผล และเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับสภาพอากาศ และข้อมูลสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ของโลก

เนื่องจากเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับสภาพอากาศทั่วโลกนั้นมีผลกระทบต่อมวลชีวิตบนโลก จึงจำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีติดตามผลความเปลี่ยนแปลงทางอุตุนิยมวิทยา เพื่อป้องกันปัญหาที่เกิดขึ้นกับแหล่งทรัพยากร ดิน น้ำ และอากาศทั่วโลก จึงจัดการประชุมด้วยวาระที่สำคัญต่อกระบวนการอุตุนิยมวิทยาในวันที่ 23 มีนาคม ของทุกปีเป็นต้นมา

การศึกษา “อุตุนิยมวิทยา”

การศึกษาอุตุนิยมวิทยา เป็นศาสตร์ที่ศึกษาเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ลมฟ้าอากาศ และภูมิอากาศ อันเป็นส่วนสำคัญในชั้นบรรยากาศของโลกที่มีผลต่อชีวิต ดิน น้ำ โดยมีอิทธิพลต่อการเกิดระบบนิเวศอันเกื้อกูลกัน การศึกษาอุตุนิยมวิทยาเพื่อพยากรณ์ล่วงหน้า ด้วยการใช้เทคโนโลยีวัดค่าทางสถิติ เพื่อคาดหมายลักษณะอากาศ รวมถึงปรากฏการณ์ต่างๆ ทางธรรมชาติ ดังนี้

1. ความกดของบรรยากาศมีหน่วยเป็น "มิลลิบาร์"
2. อุณหภูมิของอากาศ ดินในความลึกระดับต่างๆ และน้ำ มีหน่วยเป็น "องศาเซลเซียส"
3. ความเร็วลมผิวพื้นและชั้นบน มีหน่วยเป็น "น็อต"
4. ทิศทางลม มีหน่วยเป็น "องศา"
5. ความชื้นสัมพัทธ์ของอากาศ มีหน่วยเป็น "เปอร์เซ็นต์"
6. หยาดน้ำฟ้า มีหน่วยเป็น "มิลลิเมตร"
7. การระเหยของน้ำ มีหน่วยเป็น "มิลลิเมตร"
8. ปริมาณรังสี มีหน่วยเป็น "mw / cm2 หรือ cal. Cm-2 . min-1"
9. ความยาวนานของแสงแดด มีหน่วยเป็น "ชั่วโมง"
10. ทัศนวิสัย มีหน่วยเป็น "เมตร หรือ กิโลเมตร"
11. ความสูงของฐานเมฆ มีหน่วยเป็น "เมตร หรือ ฟุต"


ขอบเขตการศึกษาอุตุนิยมวิทยา แบ่งออกเป็น

  • อุตุนิยมวิทยาบริสุทธิ์ ได้แก่ อุตุนิยมวิทยากายภาพ, อุตุนิยมวิทยาพลวัต และอุตุนิยมวิทยาแผนที่อากาศ
  • อุตุนิยมวิทยาประยุกต์ ได้แก่ อุตุนิยมวิทยาทางอากาศ, อุตุนิยมวิทยาทางทะเล, อุตุนิยมวิทยาชลประทาน, อุตุนิยมวิทยาทางการเกษตร, อุตุนิยมวิทยาทางการแพทย์ และอุตุนิยมวิทยาทางวิศวกรรม

ประวัติ “อุตุนิยมวิทยา” ในประเทศไทย

...

ในประเทศไทย หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับระบบอุตุนิยมวิทยาโดยตรง ก็คือ “กรมอุตุนิยมวิทยา” โดยแสดงรายงานพยากรณ์อากาศรายสัปดาห์ตามภูมิภาค บนเว็บไซต์ต่างๆ เพื่อให้ประชาชน เกษตรกร และปศุสัตว์ได้เตรียมวางแผนรับมือกับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป รวมถึงการแจ้งเตือนพื้นที่เสี่ยงภัยฝนตกหนักและพายุในแต่ละฤดูกาล การก่อตั้ง “กรมอุตุนิยมวิทยา” มีที่มาดังนี้

พ.ศ.2449 - การศึกษาอุตุนิยมวิทยาในไทย เริ่มต้นจากกองทัพเรือ โดยนายพลเรือเอกพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ ได้ทรงสอนวิชาอุตุนิยมวิทยาและทรงเป็นผู้ให้กำเนิดวิชาอุตุนิยมวิทยา เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน

พ.ศ.2466 - กรมหลวงนครสวรรค์วรพินิจ มอบหมายให้มหาอำมาตย์เอกเจ้าพระยาพหลพลเทพฯ เสนาบดีกระทรวงเกษตราธิการ พิจารณาก่อตั้งแผนกอุตุนิยมศาสตร์ และสถิติสังกัดกองรักษาน้ำ กรมชลประทาน กระทรวงเกษตราธิการ ในปลายปี พ.ศ.2466

พ.ศ.2476 - แผนกอุตุนิยมศาสตร์ ได้ยกฐานะเป็นกองอุตุนิยมวิทยาและสถิติ

พ.ศ.2479 - กองอุตุนิยมวิทยาได้โอนมาสังกัดกรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ กระทรวงกลาโหม ในวันที่ 6 สิงหาคม

พ.ศ.2485 - กองอุตุนิยมวิทยา ได้ยกขึ้นเป็นกรมอุตุนิยมวิทยา ขึ้นตรงต่อกองทัพเรือ กระทรวงกลาโหม ในวันที่ 23 มิถุนายน โดยมีที่ตั้งอยู่ที่เลขที่ 612 ถนนสุขุมวิท ตำบลคลองตัน อำเภอพระโขนง จังหวัดกรุงเทพมหานคร

พ.ศ.2492 - ประเทศไทยเข้าร่วมเป็นสมาชิกขององค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (World Meteorological Organization หรือ WMO) ในวันที่ 13 พฤษภาคม นับเป็นประเทศสมาชิกลำดับที่ 19 และเป็นปีที่องค์การสหประชาชาติกำหนดให้วันที่ 23 มีนาคม ของทุกปีเป็น “วันอุตุนิยมวิทยาโลก”

พ.ศ.2505 - จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรีในสมัยนั้น ได้โอนกิจการกรมอุตุนิยมวิทยาไปสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรีในวันที่ 29 สิงหาคม

...

พ.ศ.2515 - โอนกรมอุตุนิยมวิทยาไปสังกัดกระทรวงคมนาคม ในวันที่ 1 ตุลาคม

พ.ศ.2532 - กรมอุตุนิยมวิทยา ย้ายที่ตั้งมายังเลขที่ 4353 ถนนสุขุมวิท แขวงบางนา เขตบางนา จังหวัดกรุงเทพมหานคร

พ.ศ.2545 - กรมอุตุนิยมวิทยา ย้ายมาสังกัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ในวันที่ 3 ตุลาคม

กรมอุตุนิยมวิทยาเป็นผู้ดูแลสถานีตรวจอากาศ ซึ่งติดตั้งเครื่องมือตรวจสารประกอบอุตุนิยมวิทยาไว้กลางแจ้ง สนามอุตุนิยมวิทยานี้จะตั้งห่างจากต้นไม้ใหญ่และสิ่งปลูกสร้าง อยู่ในพื้นที่ที่เหมาะสม และทราบละติจูด ลองจิจูด รวมถึงระดับความสูงเหนือน้ำทะเล

บทบาทสำคัญของ “กรมอุตุนิยมวิทยา” มีหน้าที่ตรวจ เฝ้าระวัง ติดตาม รายงานสภาวะอากาศเพื่อการบิน และปรากฏการณ์ธรรมชาติ เพื่อให้ความรู้และบริการด้านอุตุนิยมวิทยา สอดคล้องกับการนำไปใช้เชิงเศรษฐกิจและสังคม เกษตรกรรม อุตสาหกรรม เพื่อป้องกันการเกิดภัยพิบัติและการสูญเสียชีวิต เสียทรัพย์สินของรัฐและเอกชน.

...