หลังจากซูพรีม (Supreme) เสื้อผ้าสตรีทแวร์แบรนด์ดังระดับโลก เผยผลงานเสื้อเชิ้ต Supreme Spring/Summer 2021 Blessings Ripstop Shirt ได้สร้างความแปลกใหม่ให้กับวงการออกแบบแฟชั่น ด้วยการนำอักขระยันต์วางอยู่ด้านหลังของเสื้อ แต่เนื่องจากยันต์เป็นเรื่องของความเชื่อหลายคนก็อดสงสัยไม่ได้ว่า ถ้าแปลความหมายตามความศักดิ์สิทธิ์ ภาพยันต์ที่ปรากฏบนหลังเสื้อ Supreme x หลวงพ่อคูณ จะมีความหมายอย่างไร มาพบคำตอบกับ ผศ. ดร.กังวล คัชชิมา อาจารย์ประจำภาควิชาภาษาตะวันออก คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร
12 อักขระยันต์ต่างๆ บนเสื้อ "Supreme x หลวงพ่อคูณ" มีความหมายหรือไม่
เมื่อมองภาพรวมมีทั้งรูปยันต์ด้านป้องกัน ด้านมหานิยม ด้านโชคลาภ แสดงให้เห็นว่า คนที่ออกแบบ ก็ศึกษาเรื่องอักขระยันต์ต่างๆ และมีความรู้อยู่ในระดับหนึ่ง ไม่ได้สักแต่ว่าเอามาใส่ แต่อย่างไรก็ตาม ก็คงเป็นการพยายามเลียนแบบ ไม่ได้ทำให้เหมือนทุกอย่าง ที่เห็นได้ชัดที่สุดว่าเป็นการคิดสร้างสรรค์ก็คือ เอารูปแบบตัวหนังสือที่เรามักจะเขียนเป็นรูปพระพุทธรูป ไปเขียนเป็นแบรนด์ของตัวเอง ส่วนมากเราจะเห็น คำว่า “อย่าเห็นแก่ตัว”
...
ทั้ง 12 สัญลักษณ์รูปยันต์ เป็นยันต์ที่มีชื่ออยู่ในเมืองไทยอยู่แล้ว ซึ่งเมื่อเราจะค้นหาในอินเทอร์เน็ต ก็จะพบว่าปรากฏอยู่ทั่วไป ทั้งในผ้ายันต์และ ยันต์ที่สักลงบนร่างกาย ไม่ใช่เป็นของที่ดีไซเนอร์คิดออกแบบใหม่เอง
ส่วนตัวคิดว่า ดีไซเนอร์คงได้แรงบันดาลใจจากยันต์หลวงพ่อคูณที่มีชื่อเสียงอยู่แล้ว เช่น มหาเวทยันต์เสาร์ 5 คูณพันล้าน เป็นภาพที่หลวงพ่อคุณนั่งอยู่และมียันต์ชนิดต่างๆ ล้อมรอบ ซึ่งเมื่อพิจารณาการวางยันต์ในเสื้อ ก็คล้ายๆ จะวางแบบเดียวกันนี้ เพียงแต่เอายันต์ชนิดอื่นๆ มาประกอบด้วยเท่านั้น
การวางสัญลักษณ์ยันต์ มีหลักการอย่างไร ค่าความศักดิ์สิทธิ์จะหักล้างกันหรือไม่
ยันต์แต่ละดวง มีคุณค่าอยู่ในตัวเองอยู่แล้วครับ การวางตำแหน่งยันต์ไม่มีการกำหนดตายตัว เพียงแต่ถ้ามีรูปพระจะอยู่ตำแหน่งที่สูง ถ้าเป็นยันต์รูปสัตว์ จะวางไว้ด้านล่าง เป็นแค่ความเหมาะควร และความนับถือของผู้เขียนยันต์แต่ละสำนักเท่านั้นเองครับ ความศักดิ์สิทธิ์ตามความเชื่อจะอยู่ตรงขั้นตอนที่เขียนหรือสักยันต์นั้นว่าลงอาคมขณะที่เขียนหรือสักอย่างไร
ผ้ายันต์ของชาวบ้านทั่วไป ไม่มีระเบียบกำหนดการวางที่ชัดเจน ในประเทศไทยพบการวางตำแหน่งยันต์ที่เคร่งครัด และถือว่าเป็นของสูงอย่างเป็นทางการ คือ “ยันต์พิชัยสงคราม”
ความเชื่อเรื่องยันต์ มาจากไหน
ความเชื่อเกี่ยวกับอักขระยันต์ มีประวัติมานับ 1,000 ปี มาจากคนสมัยก่อนที่ขาดความมั่นใจในตัวเอง รู้สึกไม่ปลอดภัย ต้องมีสิ่งของที่อยู่ด้วยแล้วรู้สึกมีที่พึ่ง โดยเฉพาะสิ่งของที่มีความหมายทางศาสนา จึงค้นหาวิธีการพกสิ่งของเหล่านั้นติดตัวไปได้ทุกที่ จึงกลายเป็นสิ่งของที่สลักอักขระในวัตถุชิ้นเล็กๆ เช่น โลหะม้วนทำเป็นตะกรุด, แผ่นผ้า (ผ้ายันต์) หรือบางคนสักติดไว้กับตัว
อักขระยันต์ทั้งหมดนี้ ถ้าดูรายละเอียดก็คือหัวข้อธรรมในพระพุทธศาสนา เช่น อักขระ อิ สฺวา สุ ก็คือคำย่อของ อิติปิโส ภควา (พุทธคุณ) สฺวากขาโต ภควตา ธัมโม (ธรรมคุณ) สุปฏิปันโน ภควโต สาวกสังโฆ (สังฆคุณ) หรือไม่ก็อักขระ น ม พ ธ ซึ่งเป็นคำย่อของ นโม พุทธายะ แปลว่า ขอความนอบน้อมจงมีแด่พระพุทธเจ้า
สิ่งของเหล่านี้มีไว้แล้วอุ่นใจ คนโบราณได้วางกุศโลบายไว้ คนที่มีของดีต้องประพฤติตัวดี ไม่ด่าพ่อล่อแม่ ไม่ประพฤติผิดลูกเมียคนอื่น ทำให้คนที่แข็งแรงกว่า ซึ่งถือของขลังเหล่านี้ต้องประพฤติตัวดี มิฉะนั้นของจะเสื่อม
...
นักประวัติศาสตร์พบหลักฐานที่คล้ายกับยันต์ในสมัยนี้ ที่ปราสาทบัดชุม ซึ่งเป็นปราสาทที่เนื่องเกี่ยวกับศาสนาพุทธ ที่เมืองเสียมเรียบ เมื่อ 1,000 ปีก่อน อาจจะเป็นคำย่อของหัวข้อธรรมแบบยันต์สมัยปัจจุบัน และแผ่นหินมีลวดลายลักษณะคล้ายยันต์ในปัจจุบัน อายุประมาณ 1,000 ปีพบที่ปราสาทบัดชุม เมืองเสียมเรียบ กัมพูชา
ต่อมาก็เขียนเป็นรูปแบบต่างๆ สืบทอดกันต่อมาแต่ละสำนัก
เมื่อเกิดงานสร้างสรรค์ที่พาดพิงถึงความเชื่อกับศาสนา หรือศรัทธา ตามปกติแล้ว หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรปฏิบัติอย่างไร
หน่วยงานทางด้านศาสนาควรเป็นหลักที่จะอธิบายปรากฏการณ์หรือเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อ แต่ในกรณีนี้ทางคณะสงฆ์เองก็พูดได้ไม่เต็มปาก เพราะมหาเถรสมาคมซึ่งเป็นหน่วยงานสูงสุด ห้ามทำเครื่องรางของขลัง แต่ก็ยังมีวัดทั่วไปทำกันอยู่ หน่วยงานที่รับผิดชอบในการสนองงานคณะสงฆ์คือสำนักงานพระพุทธศาสนาควรออกมาชี้แจงข้อเท็จจริงและอธิบายความตามหลักการที่เรานับถือ
...
แต่ประเด็นในครั้งนี้ ไม่น่าจะมีอะไรมาก เพราะผู้ออกแบบ คงมองว่าเป็นแรงบันดาลใจชิ้นหนึ่งในการออกแบบเท่านั้นเอง เหมือนฝรั่งสักรูปยันต์ต่างๆ เพราะดูเท่ดี โดยที่ไม่ต้องไปสักกับสำนักสักต่างๆ ไม่ต้องถือ ไม่ต้องมีข้อห้าม ทำสนุกๆ คงไม่มีใครที่คิดว่าใส่เสื้อแบบนี้แล้วจะคุ้มครองปัองกันภัยได้จริงหรือไม่
ผู้เขียน : สีวิกา ฉายาวรเดช
กราฟิก : สถิตย์ เชื้อพรรณงาม