"ยามอุบากอง 2566" ศาสตร์โบราณที่สอดคล้องกับความเชื่อของคนไทยสมัยก่อน ซึ่งมักจะถือฤกษ์งามยามดีก่อนเดินทางออกจากบ้าน ในปัจจุบันก็ยังมีคนจำนวนมากที่ยึดถือยามอุบากอง ไทยรัฐออนไลน์จะพาผู้อ่านไปทำความรู้จักกับศาสตร์นี้ให้มากขึ้น พร้อมสอนวิธีอ่านยามอุบากองอย่างถูกต้อง

ยามอุบากอง คืออะไร? ทำไมคนสมัยก่อนนิยมใช้ดูฤกษ์ยาม

ยามอุบากอง คือ ฤกษ์ยามที่คนไทยสมัยโบราณ นิยมใช้ตรวจดูฤกษ์ยามก่อนเดินทางออกจากบ้าน บ้างก็ใช้ในการออกรถใหม่และขึ้นบ้านใหม่ โดยเชื่อว่าหากเลือกเวลามงคลก็จะประสบความสำเร็จ แคล้วคลาดจากอุบัติเหตุและอันตรายทั้งปวง แต่หากเลือกเวลากาลกิณี ก็จะประสบโชคร้าย หรืออาจเกิดอุบัติเหตุขึ้นได้

ยามอุบากอง จะมีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าคล้ายยันต์ ทำให้บางครั้งเรียกกันว่า "ยันต์อุบากอง" แบ่งออกเป็นช่องต่างๆ โดยในแต่ละช่องก็จะกำกับไว้ด้วยสัญลักษณ์รูปวงกลมและกากบาท ในอดีตเคยมีเรื่องเล่าว่า ชาวพม่าเคยใช้ยามอุบากองในการแหกคุก ทำให้หลายคนรู้จักในชื่อ "ยามพม่าแหกคุก" บางครั้งความเชื่อเกี่ยวกับยามอุบากอง จึงครอบคลุมไปถึงเรื่องยันต์คงกระพัน และยันต์สะเดาะกลอนด้วย

ยามอุบากอง ศาสตร์ทำนายเวลาเดินทาง มีกี่รูปแบบ?

ยามอุบากอง 2566 อันเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายมาตั้งแต่สมัยโบราณ มี 3 รูปแบบด้วยกัน ได้แก่ ยามอุบากองแบบใช้วัน-เวลา ซึ่งเป็นตำราการเดินยามอุบากองที่ได้รับความนิยมมากที่สุด, ยามอุบากองข้างขึ้น, ยามอุบากองข้างแรม โดย 2 รูปแบบหลัง จะอ้างอิงตามตำแหน่งดิถีต่างๆ ดวงจันทร์ ทำให้เห็นได้ว่าจริงๆ แล้ว ยามอุบากองเป็นศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการคำนวณ ตามความเชื่อของคนสมัยก่อน ไม่ใช่สิ่งที่สร้างขึ้นมาอย่างไม่มีที่มาที่ไป

...

ประวัติที่มาของ "ยามอุบากอง" ความเชื่อฤกษ์ยามพม่าแหกคุกไทย

ประวัติความเป็นมาของยามอุบากอง เล่าสืบต่อกันมาว่า เกิดขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก (รัชกาลที่ 1) ซึ่งแต่ละเรื่องเล่าก็จะมี ปี พ.ศ. ที่แตกต่างกันเล็กน้อย บางตำราว่าเกิดขึ้นใน พ.ศ. 2338 บ้างก็ว่า พ.ศ. 2350

โดยในสมัยนั้นพระเจ้ากรุงอังวะของพม่า สั่งให้แม่ทัพใหญ่ยกไพร่พลมาหลายกองทัพ หวังจะตีเมืองเชียงใหม่ แต่พระเจ้ากาวิละ เจ้านครเชียงใหม่ ปกป้องเมืองไว้ได้ ทำให้กองทัพพม่าล่าถอยไปล้อมเมืองไว้โดยรอบ รัชกาลที่ 1 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้กรมพระราชวังบวรฯ นำทัพเสริมไปช่วยเมืองเชียงใหม่ และสามารถตีกองทัพพม่าได้สำเร็จ

ทางฝั่งไทยได้จับตัวแม่ทัพพม่าคนหนึ่งมาเป็นเชลยศึก โดยระหว่างที่ให้ทุกคนถอดเสื้อรวมตัวกัน ก็สังเกตเห็นยันต์บนแผงอกของแม่ทัพพม่า มีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า แบ่งออกเป็นช่องต่างๆ ถามความจึงทราบว่าแม่ทัพคนนี้ มีชื่อว่า "อุบากอง" เป็นผู้คิดยันต์ขึ้นเอง ผู้คุมจึงสั่งให้ลอกยันต์ พร้อมแปลเป็นภาษาไทย 

นอกจากนี้ อุบากองยังบอกว่าเขาเป็นคนไทยที่ถูกพม่ากวาดต้อนไปเป็นเชลยศึกพร้อมกับบิดา เมื่อครั้งเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 (พ.ศ. 2310) เขาจึงถูกส่งตัวไปสอบสวนที่พระนคร และพบว่ามีญาติที่เป็นคนไทยอยู่จริงๆ อุบากองจึงได้เผยเรื่องราชการของกรุงอังวะ พร้อมได้รับพระราชทานทรัพย์เพื่อไปตั้งตัว ทำให้ยันต์อุบากองเริ่มเป็นที่แพร่หลายในหมู่ชาวไทยตั้งแต่นั้น

ภายหลังอุบากองอวดอ้างฤทธิ์ ทำให้ชาวบ้านหลงเชื่อว่าเป็นผู้มีคาถาอาคม จนบูชาเป็นผู้วิเศษ จึงถูกจับคุมขังที่คุกวัดโพธิ์ แต่ปรากฏว่าเขาสามารถสะเดาะโซ่ตรวน และหลบหนีกลับพม่าได้ ทำให้มีเสียงเล่าลือว่ายันต์อุบากองมีความศักดิ์สิทธิ์ และใช้ตรวจจับดูฤกษ์ยามได้ คนไทยโบราณจึงยึดถือยามอุบากองเป็นศาสตร์ทำนายในการเดินทาง และส่งต่อความเชื่อจากรุ่นสู่รุ่นจนถึงปัจจุบัน

วิธีอ่านยามอุบากอง 2566 ล่าสุด หาฤกษ์ดีออกจากบ้าน ออกรถใหม่ ขึ้นบ้านใหม่

การอ่านยามอุบากองวันนี้ สามารถดูเวลาได้จากตาราง ซึ่งจะต้องอ่านเทียบกับบทกลอน ที่คนไทยสมัยก่อนบอกเล่าสืบต่อกันมา โดยให้สังเกตวัน และเวลาที่ต้องใช้ออกเดินทาง ว่าตรงกับสัญลักษณ์ใดในตาราง

...

ยามอุบากอง 2566 วันนี้ : ตารางเช็กฤกษ์ยามอุบากองล่าสุด
ยามอุบากอง 2566 วันนี้ : ตารางเช็กฤกษ์ยามอุบากองล่าสุด

หากเป็นสัญลักษณ์วงกลม (●) จะเรียกว่า "ศูนย์" ส่วนเครื่องหมายกากบาท (x) ก็นำมาพิจารณาประกอบด้วยเช่นกัน ซึ่งบทกลอนบทนี้ ได้ให้ความหมายของสัญลักษณ์ต่างๆ ไว้ ดังนี้

ศูนย์หนึ่งอย่าพึ่งจร แม้ราญรอนจะอัปรา
สองศูนย์เร่งยาตรา จะมีลาภสวัสดี
ปลอดศูนย์พูลสวัสดิ์ ภัยพิบัติลาภบ่มี
กากบาทตัวอัปรีย์ แม้จรลีจะอัปรา
สี่ศูนย์จะพูนผล แม้จรดลดีหนักหนา
มีลาภล้นคณนา เร่งยาตราจะมีชัย

ความหมาย
ศูนย์ 1 ตัว = อย่าเพิ่งออกเดินทาง อันตราย จะทำสิ่งใดก็พ่ายแพ้
ศูนย์ 2 ตัว = ฤกษ์ดี ให้รีบออกเดินทาง จะมีโชคลาภมงคล
ไม่มีศูนย์ = ฤกษ์ปกติ ไร้โชค ไร้เคราะห์ ใช้ออกเดินทางได้
กากบาท = ฤกษ์อัปมงคล ห้ามออกเดินทางโดยเด็ดขาด
ศูนย์ 4 ตัว = ฤกษ์ดี ออกเดินทางได้ ประสบความสำเร็จ

...

ตัวอย่าง (ดูตารางยามอุบากองประกอบด้วย)
หากต้องการขับรถทางไกลไปต่างจังหวัด ในวันอาทิตย์ เวลา 10.00 น.
เมื่อเทียบตารางยามอุบากอง จะเห็นว่า 10.00 น. อยู่ในช่วงเวลา กลางวัน-สาย (08.25-10.48 น.)
วันอาทิตย์ 10.00 น. ก็จะตรงกับ ช่องสัญลักษณ์กากบาท
ซึ่งบทกลอนกล่าวไว้ว่า "กากบาทตัวอัปรีย์ แม้จรลีจะอัปรา"
หมายความว่า เป็นฤกษ์อัปมงคล ห้ามออกเดินทางโดยเด็ดขาด

ในปัจจุบัน ยามอุบากอง 2566 ถูกรู้จักในฐานะศาสตร์ความเชื่อโบราณ ที่นิยมนำมาใช้ทำนาย และจับยามเวลาต่างๆ เพื่อให้การเดินทางปลอดภัย นิยมนำมาปรับใช้กับการดูฤกษ์ก่อนเดินทางไกล, การออกรถใหม่, การเดินทางไปเสนองานลูกค้า ฯลฯ ซึ่งสามารถช่วยเสริมกำลังใจให้แก่ผู้ที่มีความเชื่อได้เป็นอย่างดี