"แซ่อะไร?" กลายเป็นคำถามที่ชาวจีนโพ้นทะเลในไทยมักใช้ถามไถ่ซึ่งกันและกัน เนื่องจาก แซ่จีน หรือแซ่ของคนจีน มีประวัติความเป็นมาที่ยาว และยังสามารถบ่งบอกถึงวงศ์ตระกูล และถิ่นกำเนิดดั้งเดิมได้

ทำความรู้จัก "แซ่จีน" คืออะไร?

แซ่จีน (姓) หรือ แซ่ของคนจีน หมายถึง นามสกุลจีนของผู้ที่มีเชื้อสายจีน ซึ่งไม่ได้จำกัดอยู่แค่คนที่อยู่ในจีนแผ่นดินใหญ่เท่านั้น แต่ยังรวมถึงชาวจีนโพ้นทะเล (Overseas Chinese) ที่โยกย้ายถิ่นฐาน ไปพำนักอาศัยอยู่ในประเทศต่างๆ ทั่วโลก โดยผู้ที่มีเชื้อสายจีนมักจะมีแซ่ของครอบครัวติดตัวไปด้วย แม้จะเปลี่ยนนามสกุลให้เป็นภาษาต่างๆ แล้วก็ตาม บางครั้งรุ่นลูกรุ่นหลานอาจไม่ได้ใช้นามสกุลเป็นแซ่จีน แต่เมื่อสืบสาวขึ้นไปยังบรรพบุรุษรุ่นก่อนหน้านี้ ก็มักจะปรากฏแซ่เดิมของตระกูลนั่นเอง

กำเนิด "แซ่ของคนจีน" มีที่มาจากไหน?

แม้จะไม่มีหลักฐานปรากฏชัดเจนว่า "แซ่" ปรากฏขึ้นเป็นครั้งแรกตั้งแต่เมื่อไหร่ แต่เชื่อว่ามีการใช้สืบต่อกันมายาวนานเป็นเวลาหลายพันปี เนื่องจากอักษรที่จารึกบนกระดูกกระดองเต่า หรือที่เรียกว่า "เจี่ยกู่เหวิน" หลักฐานทางประวัติศาสตร์ชิ้นสำคัญในสมัยราชวงศ์ซาง (ราว 1,600 - 1,046 ปีก่อนคริสต์ศักราช) ก็มีชื่อของแซ่จีนปรากฏอยู่แล้ว รวมถึงการบันทึกชื่อของบุคคลสำคัญทางประวัติศาสตร์ ก็ระบุแซ่ไว้เช่นเดียวกัน 

สายธารทางประวัติศาสตร์ของแผ่นดินจีน รวมถึงบริบทการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและการเมืองในยุคต่างๆ ล้วนส่งผลต่อพัฒนาการของชื่อแซ่ กล่าวได้ว่า แซ่โบราณที่เคยปรากฏอยู่ในวรรณกรรมยุคเก่า อาจไม่มีใช้แล้วในปัจจุบัน แต่ระหว่างนั้น ก็ก่อกำเนิดแซ่ใหม่ๆ ขึ้นมากมายนับหมื่นแซ่ ซึ่งใช้สืบเนื่องต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน

...

การตั้งแซ่ของคนจีน จึงมีที่มาจากหลายต้นกำเนิดด้วยกัน เช่น ตั้งตามชื่อราชวงศ์ ชื่อถิ่นที่อยู่ ชื่อแคว้น ชื่อบรรพบุรุษ ชื่อยศถาบรรดาศักดิ์ ชื่ออาชีพ ฯลฯ โดยส่วนใหญ่แซ่จีนจะมีเพียง 1 พยางค์เท่านั้น หากเป็นแซ่จีน 2 พยางค์ มักจะเป็นแซ่ของชนกลุ่มน้อยต่างๆ ทั้งนี้ การสร้างระบบแซ่ขึ้นมาในวัฒนธรรมจีน ถือเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างอัตลักษณ์เฉพาะกลุ่มของตนเอง

ลูกหลานมังกรในไทย ประวัติ และต้นกำเนิดของ "แซ่จีน" มีอะไรบ้าง? 

คนไทยเชื้อสายจีนที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนจีนถิ่นแต้จิ๋ว ทำให้ชื่อแซ่จีนต่างๆ มักออกเสียงตามสำเนียงจีนแต้จิ๋ว ขณะเดียวกันหลายๆ คนก็เปลี่ยนมาใช้นามสกุลภาษาไทย แต่ก็ยังนำชื่อของแซ่ ตั้งไว้ต้นนามสกุล โดยจะยกตัวอย่างที่มาของ 5 แซ่จีนในไทย ที่คนไทยใช้กันเยอะที่สุด และเป็นที่คุ้นเคยกันดี ได้แก่


1. แซ่ตั้ง
 (ภาษาจีนกลางคือ แซ่เฉิน)
ถือเป็นตระกูลใหญ่ มีผู้ใช้แซ่ตั้งในประเทศไทยเยอะมาก ประวัติความเป็นมาของแซ่ตั้ง แยกออกเป็นหลายสาย แต่สำหรับเรื่องเล่าที่รู้จักกันมากที่สุด เชื่อว่ามาจากสมัยที่กษัตริย์ของแคว้นโจวตะวันตก ออกตามหาทายาทสืบสกุลของราชวงศ์ซางที่ล่มสลายไปแล้ว จนกระทั่งตามหาพบ ซึ่งก็คือ "กุยหม่าน" จึงได้ยกลูกสาวของตนให้แต่งงานด้วย และให้ทั้งคู่ไปปกครองเมืองที่ชื่อว่า "เฉิน" ตั้งอยู่ในมณฑลเหอหนานในปัจจุบัน ซึ่งถือเป็นต้นกำเนิดของแซ่เฉินในเวลาต่อมา


2. แซ่ลิ้ม (ภาษาจีนกลางคือ แซ่หลิน)
แซ่ลิ้ม ในประเทศไทย เป็นตระกูลที่รวมตัวเป็นสมาคมที่เหนียวแน่นมาอย่างยาวนาน ประวัติของตระกูลลิ้มเล่าสืบต่อกันมาว่า มีต้นตระกูลมาจาก "เกียงกง" ซึ่งเป็นบุตรชายของ "ปีกังกง" ผู้เป็นข้าราชการที่มีความซื่อสัตย์ แต่กลับถูกจักรพรรดิสั่งประหารชีวิตโดยมิชอบ ภรรยาของปีกังกงจึงหลบหนีไปคลอดลูกในถ้ำเชี่ยงลิ้ม ซึ่งต่อมาก็คือบุตรชายที่ชื่อว่าเกียงกงนั่นเอง เมื่อสิ้นสุดรัชสมัยเดิม จักรพรรดิองค์ใหม่ขึ้นครองราชย์ และได้พระราชทานแซ่สกุลให้ว่า "ลิ้ม" โดยตั้งตามชื่อถ้ำเชี่ยงลิ้ม อันเป็นสถานที่กำเนิดของเขา


3. แซ่หลี (ภาษาจีนกลางคือ แซ่หลี่) 
คนแซ่หลี ไม่ได้มีเยอะแค่ในประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังเป็นแซ่ที่คนจีนแผ่นดินใหญ่ใช้กันจำนวนมากอีกด้วย แซ่หลีมีประวัติหลายที่มา แยกออกไปเป็นแซ่ และสายตระกูลต่างๆ มากมาย ต้นกำเนิดตระกูลนี้ เชื่อว่าหลักๆ มาจากลูกหลานของ "จวนซุนตี้" บ้างก็ว่ามาจาก "เล่าจื๋อหลี่เอ๋อ" เจ้าแห่งลัทธิเต๋าในสมัยราชวงศ์โจว ขณะที่อีกเรื่องเล่า ก็เชื่อว่าเป็นการนำตำแหน่งทางราชการที่เรียกว่า "ต้าหลี่" มาตั้งเป็นแซ่ต้นตระกูล

...


4. แซ่อึ๊ง
(ภาษาจีนกลางคือ แซ่หวง)
ส่วนใหญ่บรรพบุรุษของคนแซ่นี้ มีถิ่นกำเนิดในมณฑลกวางตุ้ง ถือเป็นตระกูลเก่าแก่อีกตระกูลหนึ่งของจีน คำคำนี้ออกเสียงในภาษาจีนกลางว่า "หวง" มีความหมายว่า "สีเหลือง" ประวัติที่มาต้องย้อนกลับไปถึงสมัยโบราณ ที่เชื่อว่ามีเผ่าจำนวน 9 เผ่า ที่เจริญรุ่งเรืองที่สุด โดยหนึ่งในนั้นคือ เผ่าหวง เป็นเผ่าที่บูชานกสีเหลืองขนงดงาม อาศัยอยู่แถบมองโกเลียใน ก่อนจะอพยพลงใต้มาเรื่อยๆ รวมถึงภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ส่วนเรื่องเล่าอื่นๆ เชื่อว่าเป็นการตั้งแซ่ตามแคว้นที่ชื่อว่า "หวง" ซึ่งเมื่อออกเสียงตามภาษาจีนถิ่นแต้จิ๋ว ก็คือ "อึ๊ง" นั่นเอง 


5. แซ่โง้ว (ภาษาจีนกลางคือ แซ่อู๋)
โง้ว ออกเสียงในภาษาจีนกลางว่า "อู๋" เป็นตระกูลที่กระจายกว้างขวางที่สุดอีกแซ่หนึ่งในไทย มีประวัติความเป็นมาที่ยาวนาน เชื่อว่าต้นกำเนิดมาจาก "อู๋ฉวน" ข้าราชการในสมัยของพระเจ้าจวนซู บ้างก็ว่ามาจาก "อู๋เฮ่อ" ข้าราชการสมัยราชวงศ์เซี่ย ซึ่งล้วนมีเรื่องเล่าที่แตกต่างกันออกไป แต่จุดร่วมมีลักษณะใกล้เคียงกันคือ ผู้ให้กำเนิดต้นตระกูล เป็นข้าราชบริพารของจักรพรรดิ และรับราชการเป็นข้าแผ่นดินในรัชสมัยต่างๆ 

แซ่จีน หรือแซ่ของคนจีน นับเป็นมรดกทางวัฒนธรรม ที่สามารถบอกภูมิลำเนา และแนวคิดการนับถือบรรพชนได้ อีกทั้งยังสะท้อนเรื่องราวของสายเลือดมังกรพลัดถิ่น การที่มีคนเชื้อสายจีนอาศัยอยู่ในประเทศต่างๆ ทั่วโลก จึงทำให้มีคำกล่าวที่ว่า แผ่นดินจีนเป็นดินแดนที่พระอาทิตย์ไม่เคยตกดิน

ที่มา: lim.or.thhakkapeople.com

...