วันตรุษจีน 2565 นี้ตรงกับวันที่ 1 กุมภาพันธ์ เทศกาลตรุษจีนปีนี้จึงใกล้กับวันวาเลนไทน์ด้วย ถือเป็นช่วงเวลาดีๆ ที่ทุกคนในครอบครัวจะได้มารวมตัวทำกิจกรรมไหว้บรรพบุรุษ และอยู่กับคนที่คุณรัก วันนี้ไทยรัฐออนไลน์พาคุณมาย้อนดูประวัติวันตรุษจีนว่ามีที่มาและความสำคัญอย่างไร

ประวัติวันตรุษจีน

“เทศกาลตรุษจีน” หรือ “วันตรุษจีน” ไม่ได้ถูกบันทึกไว้อย่างชัดเจนว่าเริ่มต้นเมื่อไหร่ จากการค้นคว้าของ กิตติธัช นําพิทักษ์ชัยกุล ทายาทรุ่นที่ 3 เจ้าของกิจการปฏิทินน่ำเอี้ยง ซึ่งเป็นปฏิทินจีนฉบับภาษาไทยที่ได้รับความนิยมมากในไทย ได้พบข้อมูลว่าเทศกาลตรุษจีนอาจเริ่มต้นในราชวงศ์โจว 周朝 (1046-256 ปีก่อนคริสตศักราช) เริ่มใช้คำว่า “Nián (年)” ซึ่งมีความหมายว่า “ปี” ในวันขึ้นปีใหม่ของชาวจีน ตรงกับปฏิทินตามจันทรคติจีน ในวันที่ 1 เดือน 1 และชาวจีนเริ่มนิยมสักการะเทพเจ้า และบรรพบุรุษ เพื่อขอพรจากฟ้าดิน ให้พืชผลทางการเกษตรงอกงาม มีกิน มีใช้ ตลอดทั้งปี

...

ดังนั้น เทศกาลปีใหม่จีนจึงไม่ตรงกันในแต่ละปี และไม่ตรงกับปฏิทินสากล โดย “วันตรุษจีน” จะอยู่ในช่วงปลายเดือนมกราคม-กลางเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี ซึ่งเป็นช่วงสิ้นสุดของฤดูหนาว (大寒 ) และเริ่มต้นฤดูใบไม้ผลิ (立春) ที่แสงอาทิตย์มีอิทธิพลสร้างความอบอุ่น บรรเทาความหนาวจนสิ้นสุดลง และดอกไม้ต่างๆ เริ่มผลิบาน จึงตั้งเป็นวันแรกของฤดูทั้ง 24 ตามปฏิทินจันทรคติของจีน

สมัยนั้นชาวจีนให้ความสำคัญกับการเพาะปลูก จึงให้ความสำคัญกับปฏิทินจันทรคติด้วย เพื่อเตรียมเพาะปลูก เก็บเกี่ยว รวมถึงเตรียมไหว้เทพเจ้าในวันสำคัญตามความเชื่อทางศาสนา

เมื่อมองกลับมาที่ประเทศไทยมีชาวไทยเชื้อสายจีนอาศัยอยู่มาก ในปี 2562 SCB Economic Intelligence Center (EIC) ได้เผยแพร่ข้อมูลว่า จำนวนครัวเรือนไทย 96% มีค่าใช้จ่ายเพื่อการกุศล โดยสัดส่วนของค่าใช้จ่ายในการทำบุญ ไหว้เจ้า รวมทั้งประเทศในปี 2560 อยู่ที่ประมาณ 1.3 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 6,200 บาท ต่อครัวเรือน และครอบครัวที่มีผู้สูงอายุ มีค่าใช้จ่ายเพื่อการกุศลมากกว่า สอดคล้องกับพฤติกรรมการไหว้เจ้าของชาวไทยเชื้อสายจีนที่ผู้สูงวัยมักจะเป็นผู้นำของกิจกรรมจับจ่ายซื้อของไหว้เจ้า

นอกจากการไหว้เจ้าแล้วสิ่งที่นิยมปฏิบัติกันในเทศกาลตรุษจีน คือการเตรียมทำความสะอาดบ้าน ทาสีบ้านใหม่ ตัดผม หาเสื้อผ้าใหม่สีสันสดใส ประดับโคมไฟสีแดง และตุ้ยเหลียน (ป้ายคำอวยพรความหมายมงคล) ไว้หน้าบ้าน รวมถึงเตรียมซองอั่งเปาสำหรับมอบให้กับเด็กๆ ที่มาอวยพรให้ผู้ใหญ่สุขภาพแข็งแรง

ของไหว้ตรุษจีน มีอะไรบ้าง และมีความหมายอย่างไร

...

ของไหว้ตรุษจีน จะประกอบด้วยเนื้อสัตว์ 3 หรือ 5 อย่าง รวมถึงอาหารแห้ง, อาหารเจ, ผลไม้, ขนมมงคล และกระดาษเงินกระดาษทองเพื่อจำลองสิ่งมีค่ามอบให้กับบรรพบุรุษ ไม่นิยมใช้ของไหว้ที่มีสีดำ หรือสีขาว เพราะเป็นสีที่แสดงถึงความโศกเศร้า ส่วนของไหว้ที่นิยมต่างๆ พร้อมความหมาย มีดังนี้

เนื้อสัตว์ 5 อย่าง ที่นำมาไหว้ในเทศกาลตรุษจีน

- ไก่ หมายถึง ความสง่างาม ความก้าวหน้า และเกียรติยศ จึงต้องใช้ไก่ทั้งตัว ที่สมบูรณ์
- เป็ด หมายถึง ความสามารถที่หลากหลาย
- ปลา หมายถึง ความอุดมสมบูรณ์
- หมู หมายถึง ความอุดมสมบูรณ์
- หมึก หมายถึง ความอุดมสมบูรณ์ เหลือกิน เหลือใช้

ขนมมงคล สำหรับไว้ในเทศกาลตรุษจีน

- ถั่วตัด หมายถึง เงิน
- ขนมเข่ง ขนมเทียน หมายถึง ความหวานชื่นอันสมบูรณ์
- ขนมไข่ หมายถึง ความเจริญ
- ขนมถ้วยฟู ขนมสาลี่ หมายถึง ความรุ่งเรือง เฟื่องฟู
- ซาลาเปา หมั่นโถว หมายถึง การห่อโชค
- ขนมจันอับ หมายถึง ความหวานที่เพิ่มพูน มีความสุขตลอดไป

อาหารแห้ง และอื่นๆ

- บะหมี่เส้นยาวๆ หมายถึง อายุยืนยาว
- เม็ดบัว หมายถึง การมีลูกชายจำนวนมาก
- สาหร่ายทะเลสีดำ หมายถึง ความมั่งคั่งร่ำรวย
- หน่อไม้ หมายถึง การอวยพรให้ผาสุก

คำอวยพรเทศกาลตรุษจีน ความหมายมงคล

...

ในวันตรุษจีน ลูกหลานมักเดินทางไปเยี่ยมญาติผู้ใหญ่ และมอบคำอวยพรความหมายมงคลทั้งเรื่องสุขภาพและความร่ำรวย แสดงถึงความกตัญญู คำอวยพรภาษาจีนมักจะเขียนเป็นกลอน 4 คำ 2 กลอน เมื่อนำมาเขียนเรียงกันจะประกอบด้วยอักษรจีนทั้งหมด 8 ตัว

1. ซินเจิ้งหรูอี้ ซินเหนียนฟาฉาย (新正如意 新年发财) แปลว่า คิดหวังสิ่งใดขอให้สมหวังสมปรารถนาในปีใหม่นี้ มีแต่ความสุขมั่งคั่ง โชคดีร่ำรวยตลอดปี
2. ซินเหนียนไคว้เล่อ เซินถีเจี้ยนคัง (新年快乐 身体健康) ขอให้มีความสุขสมหวัง สุขภาพแข็งแรงตลอดปี
3. ว่านซื่อหรูอี้ ซินเสี่ยงซื่อเฉิง (万事如意 心想事成) ขอให้เรื่องต่างๆ ผ่านไปโดยอย่างราบรื่น คิดสิ่งใดก็ขอให้สมดั่งปรารถนา

คำอวยพรนี้นิยมเขียนอยู่ในป้ายมงคลสีแดงประดับบ้านเรือน หรือบนซองอั่งเปา เพื่อให้ผู้พบเห็นรู้สึกดีต่อกัน เพื่อเป็นการส่งต่อความรักความห่วงใย เพราะบางครอบครัวต้องห่างไกลกันไปทำหน้าที่ของตน และกลับมาเยี่ยมเยียนกันในเทศกาลตรุษจีนเป็นครั้งแรกของปี

“อั่งเปา” ต้องใส่เท่าไร ทำไมต้องเป็นซองแดง

...

การมอบ "อั่งเปา" เป็นซองสีแดงเป็นธรรมเนียมที่ชาวจีนนิยมมอบให้กันในเทศกาลตรุษจีน วันแต่งงาน วันขึ้นปีใหม่ และวันขึ้นบ้านใหม่ รวมถึงวันสำคัญต่างๆ การมอบอั่งเปาในวันตรุษจีนนั้นนิยมมอบให้กับเด็กๆ ที่กล่าวคำอวยพรให้แก่ผู้ใหญ่ เพื่อให้มีความสุข สุขภาพยืนยาว

ในอดีตเรียกว่า “แต๊ะเอีย” เพราะเงินสมัยก่อนเป็นรู ต้องร้อยด้วยเชือกสีแดง ผูกเอาไว้ที่เอว คำว่า “อั่งเปา” มีความหมายว่าซองสีแดง ปัจจุบันมักนิยมมอบ ธนบัตร เช็ก ทองคำ จึงต้องใส่ซอง และเงินที่ใส่ซองนั้นจะขึ้นต้นหรือมีเลข 4 หรือ 8 เพราะคล้องเสียงกับตัว “ฟา 发” ที่แปลว่ารุ่งโรจน์ ร่ำรวย เจริญยิ่งขึ้นไป

หลักการให้และรับซองอั่งเปานั้น ผู้ใหญ่จะเป็นฝ่ายเตรียมเงินใส่ซองสีแดงไว้ให้แก่เด็กๆ และมอบให้กับลูกหลานในครอบครัว แต่หากบุตรหลานมีหน้าที่การงานแล้ว ก็เปลี่ยนจากผู้รับ เป็นผู้มอบ แล้วเด็กๆ ก็จะเป็นฝ่ายอวยพรเรา เฉกเช่นกับที่ปฏิบัติกันเป็นธรรมเนียมสืบมา

ส่วนบุตรหลานที่มีรายได้ และต้องการใส่ซองอั่งเปาเพื่อมอบให้แก่ผู้ใหญ่ ก็ทำได้ เพื่อเป็นการตอบแทนที่เลี้ยงและดูแลเรามา ให้เรามีอนาคตที่ดี แสดงความกตัญญูเป็นมงคลเริ่มต้นปีใหม่ให้กับตัวเอง

ข้อห้ามในวันตรุษจีน

ความเชื่อที่สืบทอดกันมา บางครอบครัวยึดถือเพื่อไม่ให้ขัดต่อโชคลาภที่จะได้รับในปีใหม่นี้ จะต้องงดกิจกรรมที่มีความหมายไม่ดี เพื่อเชื่อว่าจะส่งผลไปตลอดทั้งปี แต่ก็เป็นความเชื่อส่วนบุคคลของแต่ละครอบครัว ที่แตกต่างกันออกไป ยกตัวอย่างเช่น

1. ห้ามกวาดบ้าน เพราะเชื่อว่าจะเป็นการกวาดโชคลาภออกไปจากบ้านจนหมด
2. ห้ามตัดผม สระผม ห้ามตัดเล็บ เพราะเชื่อว่าจะเป็นการนำความมั่งคั่งออกไป
3. ห้ามใส่เสื้อผ้าสีขาวดำ เพราะเป็นสีแห่งความเศร้าโศก จึงนิยมใส่สีแดง เพราะเป็นสีแห่งความสุข และโชคดี
4. ห้ามให้ยืมเงิน เพราะจะทำให้เสียทรัพย์ตลอดปี
5. ห้ามพูดจาไม่ดี หรือ ห้ามพูดคำหยาบ เพราะจะทำให้ครอบครัวทะเลาะกัน และนำพาแต่เรื่องวุ่นวายมาตลอดทั้งปี

วันตรุษจีนจะแบ่งออกเป็น 3 วัน ได้แก่ วันไหว้, วันจ่าย และวันเที่ยว ซึ่งปี 2565 ยังคงมีการระบาดของโควิด-19 เมื่อคุณได้ออกเดินทางไปยังตลาดรวมถึงการเดินทางไปพบญาติพี่น้องก็ต้องสวมหน้ากากอนามัย และปฏิบัติตามหลักความปลอดภัยของกรมควบคุมโรค ติดตามการประกาศพื้นที่เสี่ยง เพื่อให้เป็นปีที่นำพาสิ่งดีๆ และมีสุขภาพแข็งแรง ไร้โรคภัย

ที่มา : scbeic.com

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง