“หลวงพ่อโสธร” เป็นหนึ่งในตำนานพระพุทธศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองของไทย โดยมีประวัติยาวนานจนไม่ทราบว่าใครคือผู้สร้าง แต่ความงดงามและความศักดิ์สิทธิ์ของหลวงพ่อโสธรกลายเป็นที่เล่าขานกันต่อมาหลายยุคสมัย กระทั่งปัจจุบันก็ยังเป็นที่เลื่อมใสของชาวบ้านตลอดมา วันนี้ไทยรัฐออนไลน์พาคุณมารู้จักประวัติของหลวงพ่อโสธรแห่งวัดหลวงพ่อโสธร เพื่อเตรียมตัวขอพรได้อย่างถูกต้อง

วัดหลวงพ่อโสธร ประวัติยาวนานกว่า 250 ปี

ประวัติ “หลวงพ่อโสธร” หรือ “พระพุทธโสธร” เป็นพระพุทธปฏิมากรปางสมาธิ ประทับอยู่เหนือรัตนบัลลังก์ 4 ชั้น ปูลาดด้วยผ้าทิพย์ ตามตำนานเล่าว่าเดิมเป็นพระพุทธรูปหล่อสำริดสวยงาม แต่พระสงฆ์ในวัดเห็นว่าจะเป็นอันตรายจึงพอกปูนหุ้มองค์จริงไว้ภายใน แล้วลงรักปิดทอง เพื่อความปลอดภัย ป้องกันผู้เกิดกิเลสแรงกล้าที่อาจลักไปเพื่อประโยชน์ส่วนตัว

วัดหลวงพ่อโสธร เป็นชื่อที่เรียกกันมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 ภายหลังที่ปรับเปลี่ยนการใช้คำไทยให้สวยงาม ตรงตามความหมายตรงกับความเลื่อมใสศรัทธาของพุทธศาสนิกชน จากแต่เดิมเขียนว่า “โสทร” มีความหมายว่า “พี่น้องร่วมอุทร” เพราะตำนานหลวงพ่อโสธรนี้ มาจากพระพุทธรูปลอยน้ำมา

สมัยอดีตเล่าขานกันว่ามีพระพุทธรูปลอยน้ำมาพร้อมกัน 3 องค์ องค์แรกคือ “หลวงพ่อวัดบ้านแหลม” มีชาวบ้านอัญเชิญขึ้นที่วัดบ้านแหลม จังหวัดสมุทรปราการ องค์ที่สองคือ “หลวงพ่อโตบางพลี” ซึ่งมีชาวบ้านอัญเชิญขึ้นที่วัดบางพลี จังหวัดสมุทรปราการเช่นกัน

องค์สุดท้ายลอยมาไกลถึงเขตจังหวัดฉะเชิงเทรา ผุดขึ้นที่หน้าวัดหงส์ หรือวัดเสาธงทอน ชาวบ้านให้ชื่อว่า “หลวงพ่อโสทร” เพราะมีความหมายว่าเป็นพี่น้องร่วมอุทรกับองค์พระพุทธรูปทั้ง 3 องค์ที่ลอยน้ำมาพร้อมกัน วันที่อัญเชิญหลวงพ่อโสทรขึ้นมาจากแม่น้ำ ตรงกับวันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 5 ราว พ.ศ. 2313 ตรงกับรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสิน ทรงสถาปนากรุงธนบุรี

...

รัชกาลที่ 5 เคยเสด็จประพาส เมืองฉะเชิงเทรา ในปี พ.ศ. 2451 และได้ทอดพระเนตรหลวงพ่อวัดโสธร และได้มีพระราชดำรัสถึงหลวงพ่อว่า

“องค์ที่สำคัญว่า เป็นหมอดีนั้น คือองค์ที่อยู่ตรงกลาง ดูรูปตักและเอวงาม ทำนองเดียวกับพระพุทธรูปเทวปฏิมากร (วัดพระเชตุพน) แต่ตอนบน กลายเป็นฝีมือผู้ที่ไปปั้นว่าลอยน้ำมา ก็เป็นความจริง เพราะเป็นศิลา คงทำไม่ได้ในที่นี้”

ภาพหลวงพ่อโสธร จากหนังสือโสธรวรารามวรวิหาร
ภาพหลวงพ่อโสธร จากหนังสือโสธรวรารามวรวิหาร

กรมศิลปากรได้ศึกษาพระพุทธโสธรอย่างละเอียด พบว่าวัสดุที่ใช้สร้างเป็นหินทราย หลวงพ่อโสธรที่ปรากฏในปัจจุบันเป็นปูนปั้น ลงรักปิดทอง พระวรกายแบบเทวรูป พระพักตร์แบบศิลปะล้านนา พระเกตุมาลาแบบปลี ข้อพระกรข้างขวามีกำไลรัดตรึง พระจีวรแนบเนื้อ กว้าง 3 ศอก 5 นิ้ว (กว้าง 1.65 เมตร สูง 1.98 เมตร) และมีพระพุทธรูปอื่นๆ อีก 13 องค์ ประดิษฐานพระพุทธรูปบนฐานชุกชี โดยมีหลวงพ่อโสธรอยู่ตรงกลาง

ภาพการบูรณะอุโบสถวัดโสธร จากหนังสือโสธรวรารามวรวิหาร
ภาพการบูรณะอุโบสถวัดโสธร จากหนังสือโสธรวรารามวรวิหาร


ส่วนประวัติของ “วัดหลวงพ่อโสธร” หรือ “วัดโสธรวรารามวรวิหาร” เว็บไซต์องค์การบริหารส่วนตำบลสนามจันทร์ จังหวัดฉะเชิงเทรา อธิบายไว้ว่า แต่เดิมชื่อว่าวัดหงส์ เนื่องจากมีเสาหงส์สูง ปลายเสาเป็นรูปหงส์ คาดว่าสร้างจากฝีมือช่างชาวมอญ ภายหลังเสาหัก ส่วนที่เป็นตัวหงส์ตกลงมา ชาวบ้านจึงนำผ้าไปผูกไว้ ผู้พบเห็นจึงเรียกว่า “วัดเสาธง” เมื่อผ่านแดดผ่านฝนหลายสมัยเสานี้ได้หักลงมาอีก ชาวบ้านจึงพากันเรียกว่า “วัดเสาธงทอน” ตามลักษณะของเสาที่หักลงมาเป็นสองท่อน

จากหนังสือโสธรวรารามวรวิหาร เล่าประวัติวัดหลวงพ่อโสธร ในรัชสมัยรัชกาลที่ 5 คำว่า “โสทร” สะกดด้วย ท ทหาร และใน พ.ศ. 2458 สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรสเสด็จตรวจราชการคณะสงฆ์ที่จังหวัดฉะเชิงเทรา ทรงวินิจฉัยว่า “ผู้ให้ชื่อวัดนี้ว่า ‘วัดโสธร’ นั้น ไม่ใช่เป็นคนไม่มีความรู้ เพราะชื่อนี้เป็นชื่อที่ไพเราะ ทั้งแปลก็ได้ความหมายดีด้วย”

...

วันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2458 รัชกาลที่ 9 พระราชทานยก “วัดโสธร” ขึ้นเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร นามว่า “วัดโสธรวรารามวรวิหาร”

ไหว้หลวงพ่อโสธร ขอพรเรื่องใดไม่ได้ 

ผู้ที่มาขอพรวัดหลวงพ่อโสธร มักขอพรเรื่องโชคลาภ ธุรกิจ การรักษาพยาบาล และอื่นๆ และเนื่องจากประชาชนส่วนหนึ่งมีความเชื่อเรื่องความฝัน บวกการทำนายเลข จึงมักขอพรหาเลขที่เกี่ยวข้องกับวันเกิดหลวงพ่อโสธร รวมถึงขนาดหน้าตัก ความสูง ของพระพุทธรูปไปเสี่ยงโชค อย่างไรก็ดีหากบนบานศาลกล่าวแล้วสัมฤทธิ์ผล ผู้มาสักการะมักแก้บนด้วยไข่ต้ม หรือรำถวาย ซึ่งพบเห็นตะกร้าไข่ต้มและนางรำอยู่ในพื้นที่วัดเป็นจำนวนมาก

...

จากคำเล่าขานต่อๆ มา หากใครที่มาขอพรไหว้พระวัดหลวงพ่อโสธร มักเตือนกันต่อๆ ว่าห้ามขอบนให้ไม่ผ่านการเกณฑ์ทหาร เพราะเล่าต่อกันมาว่าใครที่มาขอให้จับได้ใบดำ มักได้ใบแดงอยู่เสมอไป รวมถึงการขอลูกที่อาจจะไม่ประสบผลสำเร็จ

วัดหลวงพ่อโสธรเปิดปิดกี่โมง

วัดหลวงพ่อโสธรมีมาตรการป้องกันโควิด-19 โดยมีข้อกำหนดให้เข้าเป็นรอบๆ รอบละไม่เกิน 20 คน และต้องสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาขณะอยู่ในวัด และรักษาระยะห่างระหว่างบุคคล 1-2 เมตร พระอุโบสถวัดโสธรวรารามวรวิหาร เปิดให้เข้าสักการะ วันปกติ เวลา 07.00-16.30 น. และวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ เวลา 07.00-17.00 น.


อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง