“ก เอ๋ย ก ไก่ ข ไข่ อยู่ในเล้า ฃ ฃวด ของเรา ค ควาย เข้านา…” เนื้อเพลง ก ไก่ถึง ฮ นกฮูก นี้ถูกนำมาร้องทุกยุคทุกสมัย ถูกนำไปอัดแผ่นเสียง แผ่นซีดี จนมาเป็นเพลง ก ไก่ถึงฮ นกฮูกในช่อง YouTube ที่มีผู้เข้าชม 35 ล้านวิว กลอน ก ไก่ นี้จึงแพร่หลายมากเกินกว่าจะเป็นบทท่องศัพท์ในโรงเรียนแต่ใครเคยร้องเพลง ก ไก่ พร้อมกับเด็กๆ จะทราบว่าไม่ง่ายเลยที่ท่องจนครบ โดยไม่สลับตัวอักษร ใครกันหนอเป็นผู้แต่งกลอนเพลง ก ไก่ ถึง ฮ นกฮูก มาตามหาต้นฉบับไปพร้อมๆ กัน

กลอนท่อง ก ไก่ ถึง ฮ นกฮูก มีที่มาอย่างไร

เมื่อผู้เขียนเริ่มต้นออกเดินทางตามหาต้นฉบับกลอนท่อง ก ไก่ ถึง ฮ นกฮูก พบข้อมูลจากเพจบ้านพิพิธภัณฑ์ และสอบถามพูดคุยกับ อาจารย์เอนก นาวิกมูล กรรมการบ้านพิพิธภัณฑ์ ผู้เป็นนักเขียนสารคดีประวัติศาสตร์ ครั้งนี้เป็นโค้ชให้คำแนะนำแก่ผู้เขียนตามหาผู้แต่ง ก ไก่ จึงทราบว่าอาจารย์เอนกเคยเขียนเรื่องนี้ลงคอลัมน์ “ห้าแยกบันเทิง” หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ เมื่อปี พ.ศ. 2534 จนท่านรวบรวมข้อมูลเขียนหนังสือที่เกี่ยวข้องกับกลอน ก ไก่ ไว้ 2 เล่ม คือ “แกะรอย ก ไก่” พิมพ์ครั้งที่ 1 เมื่อ พ.ศ. 2536 และ “แบบเรียนในดวงใจ” พิมพ์ครั้งที่ 1 เมื่อ พ.ศ. 2546

“ไหนคุณลองท่องให้ผมฟัง..” อาจารย์เอนกถาม
ผู้เขียนตอบว่า “กอเอ๋ย กอไก่ ….. คอควายเข้านา ฅอคนขึงขัง …”

“ของคุณคือฉบับประชาช่าง” อาจารย์เอนกตอบ “ผมเคยสอบถามไปยังสำนักพิมพ์แล้ว ไม่ปรากฏชื่อผู้แต่ง เจ้าของสำนักพิมพ์ไม่ทราบว่าใครเป็นคนแต่ง”

...

ที่มาของคำกำกับกลอน ก ไก่ ถึง ฮ นกฮูก ของบริษัทประชาช่างนั้น อาจารย์เอนก นาวิกมูล นักประวัติศาสตร์ และกรรมการบ้านพิพิธภัณฑ์ ได้เล่าผ่านเพจ House of Museums ว่าไม่ทราบชื่อผู้แต่ง แต่พบว่าผู้วาด ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 7 ปี พ.ศ. 2493 ใช้ลายเซ็นว่า ย ล ใต้รูป มีชื่อว่านายยูเก่ง ล่อเฮง ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น ยล มงคลรัตน์ 

อาจารย์เอนกยังแนะนำว่า “..ถ้าเป็น ฅอฅนโสภา เป็นฉบับครูย้วน ทันนิเทศ” เมื่อเทียบแบบเรียนสมัยก่อน มาผนวกกับข้อมูลของอาจารย์เอนก ผู้เขียนพบว่า คำกับกับ ก ไก่ ถึง ฮ นกฮูก มี 9 เวอร์ชั่น ดังนี้

1. ก ไก่ ฉบับชาวจีนเล่นหวย มีพยัญชนะ 36 ตัว

อาจารย์เอนกเล่าไว้ในหนังสือ “แกะรอย ก ไก่” ว่าคำกำกับอักษร ก ข ที่พอจะมีผู้บันทึกไว้ คือ เสฐียรโกเศศ เขียนไว้ในหนังสือ “ฟื้นความหลัง เล่ม ๑” ตีพิมพ์ ราวปี พ.ศ. 2510 เป็นบันทึกจากความทรงจำของผู้แต่งในยุคนั้น พบการใช้ชื่อตัวละครจีนมากำกับอักษรก ไก่ บนแผ่นไม้เพื่อความสะดวกในการเล่นหวยของคนซื้อที่เป็นคนไทย สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงกล่าวในประชุมพงศาวดารภาคที่ 17 ว่าการเล่นหวยในเมืองไทยเกิดเมื่อ พ.ศ. 2378 ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 3 แต่ตัวหวยมีแค่ 36 ตัว จึงมีคำกำกับแค่ 36 ตัว ได้แก่

ก สามหวย / ข ง่วยโป๊ / ฃ เจียมกวย
ค หะตั๋ง / ฅ เม่งจู / ฆ ยิดซัว
ง จีเกา / จ อันสือ / ฉ จีติด
ช ฮกซุน / ซ แชหงวน / ฌ ฮวยกัว
ญ ย่องเซ็ง / ด กวางเหม็ง / ต ปิดติด
ถ พันกุ้ย / ท เซี่ยงเจียว / ธ ไท้เผง
น เทียนสิน / บ แจหลี / ป กังสือ
ผ อิวหลี / ฝ ง่วนกุ้ย / พ กิดปิ้น
ฟ เกากัว / ภ คุนซัว / ม หันหุน
ย ฮ่องชุน / ร กินเง้ก / ล เทียนเหลียง
ว แชหุน / ส ฮะไฮ้ / ห บ้องหลิม
ฬ ง่วนกิด / อ บ้วนกิ่ม / ฮ เจี๊ยสูน

ในสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อมีการตั้งโรงเรียนหลวงใน พ.ศ. 2414 แล้ว พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) ได้คิดคำกำกับพยัญชนะเฉพาะที่มีเสียงพ้องกัน เช่น คคิด ค กัณฐา (กัณฐา แปลว่าลำคอ) ให้นักเรียนท่องเพราะสังเวช ที่คนไทยจนคำพูด ต้องเอาชื่อตัวหวยมาใช้เป็นชื่ออักษร แต่คำกำกับ พยัญชนะของพระยาศรีสุนทรโวหารมีไม่ครบ 44 ตัว

สิ่งที่ควรสังเกตคือ พยัญชนะตัว ฅ หัวหยัก ใช้เขียนคำว่า ลำฅอเป็นหลัก ไม่ได้เขียนว่าคน

2. ก ไก่ ถึง ฮ นกฮูก จากหนังสือบันไดทอง พ.ศ. 2444 มีพยัญชนะ 28 ตัว

หนังสือบันไดทอง พิมพ์เมื่อปี พ.ศ. 2444 (ร.ศ. 119) ครั้งแรก พิมพ์โดยรับสั่ง พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้ากิติยากรวรลักษณ์ อธิบดีกรมศึกษาธิการ จำนวน 500 เล่ม เพื่อใช้เป็นแบบเรียนเร็วเล่มแรก พบว่ามีตัวอักษรทั้งหมด 28 ตัว ที่เป็นต้นแบบของกลอนท่อง ก ไก่ ในยุคต่อมา แต่แตกต่างเฉพาะ ค ควาย ที่เดิมเรียกว่า ค คน ส่วน ฅ คน ไม่ปรากฏในหนังสือบันไดทองนี้

ก ไก่ กา กุ้ง / ข ไข่ ขัน เข่ง
ค คน คาน คิม / ง งู เงิน งา
จ จาน เจ็ก จอก / ฉ ฉิ่ง ฉาบ ฉาก
ช ช้าง ชี่ ชาม / ซ โซ่ ซอ ซ่อม (ส้อม)
ด เด็ก กระดาษ ดาว / ต เต่า เตียง ตู้
ถ ถุง ถ้วย โถ / ท ทหาร คนโท เทียน
น หนู หนอน น้ำ / บ ใบไม้ บอน เบี้ย
ป ปลา ป้าน แป้ง / ผ ผึ้ง ผม ผ้า
ฝ ฝา ฝน ฝ้าย / พ พาน พระ แพ
ฟ ฟัน ไฟ ฟืน / ม ม้า หมา หมู
ย ยักษ์ ย่าม ยุง / ร เรือ เรือน ร่ม
ล ลิง ลาว เฉลว / ว แหวน ว่าว วัว
ส เสือ เสื่อ เสื้อ / ห หีบ ห่าน หิน
อ อ่าง อิฐ อัฐ / น นกฮูก

3. คำกับกับ ก ไก่ ถึง ฮ นกฮูก ฉบับสมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ พ.ศ. 2444

...

สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ผู้แต่ง แบบเรียนเร็ว สำหรับเรียนหนังสือไทย เล่ม 1
สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ผู้แต่ง แบบเรียนเร็ว สำหรับเรียนหนังสือไทย เล่ม 1

ปรากฏ ก ไก่ ถึง ฮ นกฮูก ครบ 44 ตัวครั้งแรก จากหนังสือแบบเรียนเร็ว เล่ม 1 พ.ศ. 2444 แต่งโดย สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ พิมพ์ที่โรงพิมพ์รัฐบาล ได้รับการตีพิมพ์หลายครั้ง และฉบับพิมพ์ครั้งที่ 10 พ.ศ. 2444 นั้น ปรากฏชื่อกำกับตัวอักษรทั้ง 44 ตัว ครบแล้ว แต่งโดยสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เพื่อใช้เป็นแบบเรียนในโรงเรียนต่างๆ ของรัฐ ให้เด็กได้ท่องจำและเรียนได้เร็ว พบการเปลี่ยนคำเรียก ค คน เป็น ค ควาย และเพิ่มการเรียกกำกับตัวอักษรเพิ่มขึ้นมาหลายคำ เช่น ภ เป็น ภ สำเภา ได้แก่

ภาพในหนังสือ แบบเรียนเร็ว สำหรับเรียนหนังสือไทย เล่ม 1 แต่งโดยสมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ
ภาพในหนังสือ แบบเรียนเร็ว สำหรับเรียนหนังสือไทย เล่ม 1 แต่งโดยสมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ

...

ก ไก่ / ข ไข่ / ฃ ฃวด / ค (ควาย)
ฅ คน / ฆ ระฆัง / ง งู / จ จาน
ฉ ฉิ่ง / ช ช้าง / ซ โซ่ / ฌ เฌอ
ญ ผู้หญิง / ฎ ชะฎา / ฏ ปะฏัก / ฐ ฐาน
ฑ นางมณโฑ / ฒ ผู้เฒ่า / ณ เณร
ด เด็ก / ต เต่า / ถ ถุง / ท ทหาร
ธ ธง / น หนู / บ ใบไม้ / ป ปลา
ผ ผึ้ง / ฝ ฝา / พ พาน / ฟ ฟัน
ภ สำเภา / ม ม้า / ย ยักษ์ / ร เรือ
ล ลิง / ว แหวน / ศ ศาลา / ษ ฤาษี
ส เสือ / ห หีบ / ฬ ฬา / อ อ่าง
ฮ นกฮูก

4. ก ไก่ ถึง ฮ นกฮูก จากหนังสือแบบเรียนมูลศึกษา พ.ศ. 2454

แบบเรียนมูลศึกษา (แบบเรียนเร็วย่อ) โรงพิมพ์สามมิตร์ ร.ศ. 129 (พ.ศ. 2454) ซึ่งพิมพ์หลังจากแบบเรียนไว 10 ปี พบว่ามีตัวอักษร 44 ตัว แต่การกำกับชื่อเรียกตัวอักษรนั้นไม่ครบทั้งหมด สิ่งที่เพิ่มขึ้นมาจากฉบับของกรมพระยาดำรงฯ คือการเรียก ฬ จาก ฬ ลา เป็น ฬ จุฬา ซึ่งไม่ได้ระบุความหมายว่าเป็น “ว่าว” หรือพระนามาภิไธย ของรัชกาลที่ 5 ได้แก่

ก / ข (ไข่) / ฃ (เฃตร) / ค ควาย
ฅ ฅอ / ฆ (ระฆัง,ฆ่า,เฆี่ยน,ฆ้อง,ตะเฆ่,เมฆ)
ง / จ / ฉ / ช (ช้าง) / ซ / ฌ (เฌอ)
ญ (หญิง, หญ้า) / ฎ (ชะฏา), กุฏิ, มงกุฏ
ฏ (ปะฏัก) / ฐ (ฐาน) กะฐิน,อัฐ,อิฐ,เสรฐี
ฑ (นางมณโฑ) พระมณเฑียร
ฒ (ผู้เฒ่า) วันพุฒ / ณ (เณร)
ด (เด็ก) / ต (เต่า) / ถ (ถุง) / ท (ทหาร)
ธ (ธง) พุทธ, เธอ, ธุระ, ธูป, ธรรม, โกรธ, ครุธ
น (หนู) / บ / ป / ผ / ฝ / พ (พาน)
ฟ / ภ (สำเภา) / ม ม้า / ย (ยักษ์)
ร / ล (ลิง) / ว /
ศ (ศาลา,ศุข,เศร้า,ศอก,ศีล,กุศล)
ษ (ฤาษี) โทษา, ทาษ, โทษ / 
ส (เสือ) / ห / ฬ (จุฬา) / อ / 

...

5. ก ไก่ ถึง ฮ นกฮูก จากหนังสือดรุณศึกษา ตอน กอ ขอ ในเครืออัสสัมชัญ

เจษฎาจารย์ ฟ  ฮี แลร์ รองอธิการโรงเรียนอัสสัมชัญ ผู้แต่งหนังสือ
เจษฎาจารย์ ฟ ฮี แลร์ รองอธิการโรงเรียนอัสสัมชัญ ผู้แต่งหนังสือ "ดรุณศึกษา ตอน กอ ขอ”

ข้อมูลจากหอจดหมายเหตุอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ ระบุว่าเจษฎาจารย์ ฟ. ฮี แลร์ รองอธิการโรงเรียนอัสสัมชัญ ได้แต่งหนังสือเรียนภาษาไทย “อัสสัมชัญ ดรุณศึกษา ตอน กอ ขอ” แยกออกจาก “อัสสัมชัญ ดรุณศึกษา ตอน ต้น” ในฉบับพิมพ์ครั้งที่ 4 ปี พ.ศ. 2463

หนังสือ
หนังสือ "ดรุณศึกษา ตอน กอ ขอ”

ฉบับนี้พบคำเรียกกำกับตัวอักษรที่แตกต่างจากตำราอื่น 8 ตัว คือ ฑ มณฑล, ณ ธรณี, บ บัว, ป เป็ด, ย นกยุง, ห ห่าน, ฬ นาฬิกา และ อ ต้นอ้อ ฉบับที่ผู้เขียนค้นพบตัวอักษรที่มีภาพกำกับคือ ดรุณศึกษา เล่ม 1 พิมพ์เมื่อปี ร.ศ. 129 มีคำกำกับทั้ง 44 อักขระ ได้แก่

ก ไก่ / ข ไข่ / ฃ ฃวด / ค ควาย
ฅ ฅอ / ฆ ระฆัง / ง งู / จ จาน
ฉ ฉิ่ง / ช ช้าง / ซ โซ่ / ฌ เฌอ
ญ ผู้หญิง / ฎ ชะฏา / ฏ ปะฏัก
ฐ ฐาน / ฑ มณฑล / ฒ ผู้เฒ่า
ณ ธรณี / ด เด็ก / ต เต่า / ถ ถุง
ท ทหาร / ธ ธง / น หนู / บ บัว
ป เป็ด / ผ ผึ้ง / ฝ ฝา / พ พาน
ฟ ฟัน / ภ สำเภา / ม ม้า
ย นกยุง / ร เรือ / ล ลิง / ว แหวน
ศ ศาลา / ษ ภาษี / ส เสือ
ห ห่าน / ฬ นาฬิกา / อ อ้อ (ต้นอ้อ)
ฮ นกฮูก

6. กลอนท่อง ก ไก่ จากหนังสือแบบเรียนไว เล่มหนึ่ง ตอนต้น นายย้วน ทันนิเทศ พ.ศ. 2470

จากการค้นคว้าของอาจารย์เอนกพบว่า การท่อง ก ไก่ ถึง ฮ นกฮูก ฉบับครูย้วน ทันนิเทศ น่าจะเป็น “กลอน ก ไก่” สำนวนแรก เพราะก่อนหน้านั้นมีเพียงคำกำกับอย่างเดียว เช่น ก ไก่ ข ไข่ ยังไม่มีใครแต่งเป็นกลอน จนถึงยุค พ.ศ. 2470 ครูย้วนจึงแต่งกลอน ก ไก่ เป็นคนแรก แต่น่าเสียดายที่คำกำกับของ ฅ คนแต่งเป็น ฅ ฅนโสภา จึงทำให้เกิดความสับสนมาจนถึงปัจจุบัน เพราะ ฅ นั้นเราใช้ ค ควาย มาแต่โบราณ ส่วน ฅ หัวหยักใช้เรียกคำกำกับว่า “ลำฅอ” ถ้าจะให้ถูกครูย้วนควรจะใช้คำว่า ฅ ลำฅอกันฐา

กลอนท่อง ก.ไก่ จากหนังสือแบบเรียนไว เล่มหนึ่ง ตอนต้น นายย้วน ทันนิเทศ พ.ศ. 2473
กลอนท่อง ก.ไก่ จากหนังสือแบบเรียนไว เล่มหนึ่ง ตอนต้น นายย้วน ทันนิเทศ พ.ศ. 2473

คำกลอน ก ไก่ ถึง ฮ นกฮูก ฉบับครูย้วนได้รับความนิยมท่องจำตั้งแต่ปี พ.ศ. 2473 เป็นต้นมา โดยปรากฏอยู่ในหนังสือแบบเรียนไว เล่มหนึ่ง ตอนต้น พิมพ์ครั้งแรก 20,000 ฉบับ ที่โรงพิมพ์วัฒนะผล แต่ภายหลังเมื่อพิมพ์ครั้งต่อๆ มาปรากฏว่าถูกตัดคำกลอนออก เหลือแต่ภาพ กับตัวอักษร ก ไก่ ถึง ฮ นกฮูก ได้แก่

ก เอ๋ย ก ไก่ / ข ไข่มาหา / ง งูใจหาญ
จ จานจริงจัง / ญ หญิงเอวบาง
เอียงข้าง ฎ ชะฎา / ณ เณรเล็กๆ
ด เด็กขี้เซา / น หนูดูยุ่ง / ม่านมุ้ง บ ใบไม้
ฟ ฟันหน้าเศร้า / ภ สำเภากล้าหาญ
ว แหวนแสนรัก / ไม่ทัก ศ ศาลา
อ อ่างดูถูก / ฮ นกฮูกหน้าผี

ข้อสังเกตที่เห็นได้ชัดในเวอร์ชั่นนี้คือ ค ควาย เข้ามา ไม่ใช่เข้านาแบบที่เราท่องกันในปัจจุบัน และคาดว่าคำกลอนบางท่อนมีความหมายด้านลบต่อภาพจำของเด็ก จึงถูกปรับตัดออกในภายหลัง

7. กลอนท่อง ก ไก่ จากหนังสือแบบเรียน ก.ไก่ บริษัทประชาช่าง พ.ศ. 2490- 2493

เพลงท่อง ก.ไก่ จากหนังสือแบบเรียน ก.ไก่ บริษัทประชาช่าง พ.ศ. 2490- 2493
เพลงท่อง ก.ไก่ จากหนังสือแบบเรียน ก.ไก่ บริษัทประชาช่าง พ.ศ. 2490- 2493

หนังสือแบบเรียน ก ไก่ บริษัทประชาช่าง พิมพ์ครั้งแรก 20,000 ฉบับ พิมพ์ราวต้นปี หรือกลางปี พ.ศ. 2490 (พบเล่มที่เก่าแก่ที่สุดคือ ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 3 ลงคำนำวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 โดยบริษัท ประชาช่าง จำกัด) ขณะนั้นนายสวัสดิ์ เหตระกูลเป็นผู้พิมพ์โฆษณา ตัวอย่างคำที่คิดมาใหม่ ได้แก่ ช ช้าง ไม่หนี, ซ โซ่ช่วยที, ฒ ผู้เฒ่า ไม่มอง และ ณ เณร เดินย่อง

กลอนท่อง ก.ไก่ จากหนังสือแบบเรียน ก.ไก่ บริษัทประชาช่าง พ.ศ. 2490- 2493
กลอนท่อง ก.ไก่ จากหนังสือแบบเรียน ก.ไก่ บริษัทประชาช่าง พ.ศ. 2490- 2493

8. กลอนท่อง ก ไก่ จากหนังสือแบบหัดอ่าน ก ไก่ โรงพิมพ์บริษัทประชาช่าง พ.ศ. 2534 เป็นต้นมา

หนังสือ ก ไก่ ประชาช่างในปี พ.ศ. 2534 เป็นต้นมา เปลี่ยนชื่อผู้จัดพิมพ์ เป็น บริษัทโรงพิมพ์ประชาช่าง จำกัด และปัจจุบันก็ยังมีจำหน่ายอยู่ตามร้านหนังสือทั่วไป โดยแบ่งได้ออกเป็น 2 รูปแบบ คือ รูปแบบหนังสือภาพวาด และหนังสือภาพถ่าย เมื่อเทียบกับเวอร์ชั่นแรก มีปรับเปลี่ยนบางคำ ดังนี้ ช ช้าง วิ่งหนี, ซ โซ่ล่ามที, ฒ ผู้เฒ่า เดินย่อง และ ณ เณร ไม่มอง

หน้าปกและคำนำหนังสือ
หน้าปกและคำนำหนังสือ "แบบเรียน ก.ไก่ อนุบาล" บริษัทประชาช่าง ฉบับภาพถ่าย พ.ศ. 2539
คำกลอนส่วนหนึ่งจากหนังสือ
คำกลอนส่วนหนึ่งจากหนังสือ "แบบเรียน ก.ไก่ อนุบาล" บริษัทประชาช่าง ฉบับภาพถ่าย พ.ศ. 2539
เพลงการละเล่นส่วนหนึ่งจากหนังสือ
เพลงการละเล่นส่วนหนึ่งจากหนังสือ "แบบเรียน ก.ไก่ อนุบาล" บริษัทประชาช่าง ฉบับภาพถ่าย พ.ศ. 2539

ความนิยมของ กลอนท่อง ก ไก่ ของ บริษัทประชาช่าง และโรงพิมพ์ประชาช่าง ที่ใช้กันถึงปัจจุบัน รวมระยะเวลาแล้วกว่า 70 ปีทีเดียว

หนังสือแบบเรียน ก.ไก่ ประชาช่าง ฉบับต่างๆ
หนังสือแบบเรียน ก.ไก่ ประชาช่าง ฉบับต่างๆ

นอกจากกลอนท่อง ก ไก่ ถึง ฮ นกฮูก ท้ายหนังสือของประชาช่าง ยังรวบรวมเพลงการละเล่น เอาไว้ให้ผู้อ่านได้ร้องเล่นกับเด็กๆ เช่น รีรีข้าวสาร, ชักสาวเอย, จ้ำจี้มะเขือเปราะ ทำให้เพลงเหล่านี้ไม่สูญหายไปจากการละเล่นของเด็กไทย

9. กลอนท่อง ก ไก่ จากหนังสือแบบหัดอ่าน ก ไก่ สำนักพิมพ์โลกหนังสือ พ.ศ. 2554

ผู้เขียนได้ลองสำรวจหนังสือแบบฝึกอ่าน ก ไก่ ที่มีจำหน่ายอยู่ในปัจจุบัน เลือกเล่มที่มีคำประกอบเป็นเพลงกลอน พบว่านอกจากฉบับของบริษัทโรงพิมพ์ประชาช่างแล้วยังมีสำนักพิมพ์โลกหนังสือ พิมพ์เมื่อปี พ.ศ. 2554 ได้ใช้กลอนที่แตกต่างขึ้นมา แตกต่างจากฉบับประชาช่าง 36 ตัวอักษร เช่น


ข ไข่ ในตะกร้า
ฃ ขวดมากมาย
ค ควายไถนา
ฅ คนแข็งขัน

ง เลื้อยช้า
จ สะอาดดี

ช ช้างหางยาว
ซ โซ่ล่ามเสา
ฌ เฌอต้นไม้
สรุปแล้วเพลงกลอน ก ไก่ ที่นิยมมี 2 เวอร์ชั่น คือ ฉบับครูย้วน ทันนิเทศ ที่นิยมในกลุ่มผู้เกิดช่วงรัชสมัยรัชกาลที่ 7 และเวอร์ชั่นสำนักพิมพ์ประชาช่างที่นิยมมาถึงปัจจุบัน (แต่ไม่ทราบชื่อผู้แต่ง) และองค์ความรู้ที่พวกเราได้รับส่งต่อมา คือวิธีทำสื่อการสอนสำหรับเด็ก เมื่อใช้เพลง หรือคำคล้องจอง จะช่วยส่งเสริมการจำได้อย่างสัมฤทธิผล

การเดินทางของกลอนกำกับ ก ไก่ ถึง ฮ นกฮูก ยาวนานกว่า 120 ปี ผ่านรูปแบบหนังสือคัดไทย, หนังสือระบายสี, หนังสือป๊อปอัป, แอปพลิเคชัน แต่สิ่งที่เหมือนกันก็คือ ครูทุกสมัยต้องการให้เด็กเรียนรู้ไว มีทัศนคติที่ดีต่อการศึกษาเรียนรู้ หากคุณต้องการเลือกหนังสือหรือเพลงให้เด็กเล็ก ต้องเปิดอ่าน เปิดฟัง ก่อนที่ข้อมูลจะถูกจดจำไปตลอดชีวิตของหนูๆ


ผู้เขียน : สีวิกา ฉายาวรเดช
กราฟิก : Theerapong C

ที่มา :
1. เอนก นาวิกมูล, แกะรอย ก.ไก่, พิมพ์ครั้งที่ 1 จำนวน 3,000 เล่ม, สำนักพิมพ์สารคดี, 2536
2. เอนก นาวิกมูล, รวมภาพแห่งความทรงจำอันสดใสในวัยเยาว์ แบบเรียนในดวงใจ, พิมพ์ครั้งที่ 1, 2546
3. กมลมาลย์ คำแสน, เอกสารประกอบการสอนรายวิชา การวิเคราะห์หนังสือเรียนภาษาไทย TH07403, สาขาวิชาภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี, 2557
4. แบบเรียน ก.ไก่ อนุบาล สำหรับนักเรียนอนุบาล และเด็กเล็กเรียนที่บ้าน, บริษัทโรงพิมพ์ประชาช่าง จำกัด, ไม่ระบุปีที่พิมพ์
5. กรมพระยาดำรงราชานุภาพ, แบบเรียนเร็ว สำหรับเรียนหนังสือไทย เล่ม 1, พิมพ์ครั้งที่ 10 โรงพิมพ์รัฐบาล, ร.ศ. 119
6. แบบเรียนมูลศึกษา กรมการศึกษาธิการ (แบบเรียนเร็วย่อ), โรงพิมพ์สามมิตร์, ร.ศ. 129
7. บันไดทองเล่ม 1 เป็นหนังสืออ่านเทียบเมื่อเรียนแบบเรียนเร็ว เล่ม 1, โรงพิมพ์พิศาลบรรณนิติ์, พิมพ์ครั้งที่ 1, ร.ศ. 119