วันอาสาฬหบูชา 2565 ในปีนี้ตรงกับวันพุธที่ 13 กรกฎาคม ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 ตามจันทรคติ เป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาที่พระพุทธเจ้าได้แสดงธรรมจากการตรัสรู้ให้แก่ปัญจวัคคีย์ทั้ง 5 ณ มฤคทายวัน เมืองพาราณสี
ประวัติวันอาสาฬหบูชา มีความเป็นมาอย่างไร?
หลังจากพระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 หรือวันวิสาขบูชา ปัญจวัคคีย์ทั้ง 5 ได้ฟังปฐมเทศนาจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจนกระทั่ง โกณฑัญญะได้บรรลุดวงตาเห็นธรรมเป็นพระอริยบุคคลระดับโสดาบัน จึงได้รับการอุปสมบทจากพระพุทธเจ้า นับได้ว่า "วันอาสาฬหบูชา" เป็นวันแรกที่มีพระภิกษุเกิดขึ้นในพระพุทธศาสนา
...
ในประเทศไทยเพิ่งเริ่มมีพิธีกรรมในวันอาสาฬหบูชาเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2501 ตามประกาศของสังฆมนตรี ที่ได้กำหนดให้วันอาสาฬหบูชาเป็นวันสำคัญในศาสนาพุทธ ออกประกาศในวันที่ 14 กรกฎาคม 2501 นับตั้งแต่วันนั้นพุทธศาสนิกชนในประเทศไทยก็กำหนดพิธีขึ้นอย่างเป็นทางการโดยมีการปฏิบัติกิจกรรมทางศาสนาเทียบเท่ากับวันวิสาขบูชา
ความสําคัญวันอาสาฬหบูชา
- พระพุทธเจ้าแสดงธรรมจากการตรัสรู้ครั้งแรก เรียกว่า “ธัมมจักรกัปปวัตนสูตร” แก่ปัญจวัคคีย์ทั้ง 5
- ปัญจวัคคีย์ขอบวชเพื่อศึกษาพระธรรมวินัย จึงเกิดพิธีการบวชครั้งแรกโดยพระพุทธเจ้ากระทำให้ เรียกว่า “เอหิภิกขุอุปสัมปทา”
- เป็นวันแรกที่พระพุทธเจ้าประกาศ “ศาสนาพุทธ”
- จึงถือว่าวันนี้เป็นวันที่พระรัตนตรัยเกิดขึ้นโดยสมบูรณ์ ทั้งพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์
หลักธรรมสําคัญวันอาสาฬหบูชา
พระธัมมจักกัปปวัตตนสูตร
ซึ่งมีอริยสัจ 4 ความจริงอันประเสริฐ ได้แก่
1. ทุกข์ คือ ปัญหาที่ทำให้ไม่สบายกาย ไม่สบายใจ
2. สมุทัย คือ เหตุที่ทำให้เกิดทุกข์
3. นิโรธ คือ การดับทุกข์
4. มรรค คือ กระบวนการแก้ปัญหา มี 8 ข้อด้วยกัน เรียก อริยอัฏฐังคิกมัคค์ ได้แก่
- 4.1. สัมมาทิฏฐิ เห็นชอบ คือ รู้เข้าใจถูกต้อง เห็นตามที่เป็นจริง
- 4.2. สัมมาสังกัปปะ ดำริชอบ คือ คิดสุจริตตั้งใจทำสิ่งที่ดีงาม
- 4.3. สัมมาวาจา เจรจาชอบ คือ กล่าวคำสุจริต
- 4.4. สัมมากัมมันตะ กระทำชอบ คือ ทำการที่สุจริต
- 4.5. สัมมาอาชีวะ อาชีพชอบ คือ ประกอบสัมมาชีพหรืออาชีพที่สุจริต
- 4.6. สัมมาวายามะ พยายามชอบ คือ เพียรละชั่วบำเพ็ญดี
- 4.7. สัมมาสติ ระลึกชอบ คือ ทำการด้วยจิตสำนึกเสมอ ไม่เผลอพลาด
- 4.8. สัมมาสมาธิ ตั้งจิตมั่นชอบ คือ คุมจิตให้แน่วแน่มั่นคงไม่ฟุ้งซ่าน
กิจกรรมวันอาสาฬหบูชา 2565
กิจกรรมในวันอาสาฬหบูชาแบ่งออกเป็นกิจกรรมของพระภิกษุสงฆ์และพุทธศาสนิกชน โดยพระภิกษุสงฆ์ในวัดก็เตรียมจัดกิจกรรมที่วัด รวมถึงแสดงพระธรรมเทศนาธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ตามที่พระพุทธเจ้าเคยแสดงธรรมแก่ปัญจวัคคีย์ ส่วนชาวพุทธก็มีกิจกรรมดังนี้
- ทำบุญตักบาตรในช่วงเช้า
- ไปวัดรับศีล งดการทำบาปทั้งปวง
- ถวายสังฆทาน หรือให้ทาน
- ฟังธรรมเทศนา
- เวียนเทียนรอบอุโบสถในเวลาเย็น
เวียนเทียนวันอาสาฬหบูชา
...
การเวียนเทียนในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา คือการเดินเวียนรอบปูชนียสถาน เพื่อแสดงความเคารพ โดยการเดินเวียนขวา 3 รอบ (เรียกว่า เวียนประทักษิณาวัตร” ซึ่งเป็นอิทธิพลที่รับมาจากอินเดีย เพื่อแสดงความเคารพบูชาพระรัตนตรัย ซึ่งใน 1 ปี จะมีพิธีเวียนเทียนในวันสำคัญ 4 ครั้งเท่านั้น ได้แก่ วันมาฆบูชา, วันวิสาขบูชา, วันอาสาฬหบูชา และวันอัฏฐมีบูชา
ขั้นตอนการเวียนเทียน มีดังนี้
- เมื่อไปถึงวัดให้สักการะพระพุทธรูปองค์ประธานด้านในอุโบสถก่อน
- เตรียมตัวเวียนเทียนด้วยการถือธูป เทียน และดอกไม้ ต่อแถวเรียงลำดับจาก พระสงฆ์ สามเณร อุบาสก อุบาสิกา
- ถือธูปเทียน เวียนขวา 3 รอบ รอบที่ 1 สวดบทอิติปิโส, รอบที่ 2 สวดบทสวากขาโต และรอบที่ 3 สวดบทสุปะฏิปันโน
การเวียนเทียนในวันอาสาฬหบูชา ชาวพุทธต้องสำรวมกาย วาจา และใจ อย่าลืมแต่งกายให้เหมาะสมกับสถานที่ และหากมีเด็กไปด้วยก็ต้องดูแล ระมัดระวังไม่ให้เกิดอุบัติเหตุ
อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง