วัดพระธาตุห้าดวง อำเภอลี้ ตำบลลี้ จังหวัดลำพูน ใครได้ไปเยือนจะสัมผัสได้ถึงความสงบเย็น แฝงเร้นด้วยพลังศรัทธา

คำสอน “สมเด็จองค์ปฐม” หลวงพ่อพระราชพรหมยานสรุปใจความสั้นๆเอาไว้ตามที่ท่านเทศน์ที่ “เทวสภา” ว่า “ท่านทั้งหลายการหลบหลีกไม่ต้องตกอบายภูมิ มีนรกเป็นต้น เป็นของไม่ยาก...”

หนึ่ง...ขอทุกท่านจงอย่าลืมความตาย จงคิดว่าความตายอาจจะมีกับเราเดี๋ยวนี้ไว้เสมอๆ สอง...เคารพพระพุทธเจ้า พระธรรม พระอริยสงฆ์ ด้วยศรัทธาแท้...ด้วยความจริงใจ สาม...มีศีลบริสุทธิ์เป็นปกติ และ สี่...เป็นกรณีพิเศษ ปฏิเสธการเกิดเป็นมนุษย์ เทวดา นางฟ้า และพรหมในชาติต่อไป ตั้งใจไปพระนิพพานโดยเฉพาะ

เท่านี้ทุกท่านจะหนีอบายภูมิพ้นและไปพระนิพพานได้ในที่สุด....

“วัดพระธาตุห้าดวง” หรือ “เวียงเจดีย์ห้าหลัง” โดดเด่นเป็นสง่านับจากซุ้มประตูทางเข้าขนาดใหญ่ ประดับกระจกสีสันสวยงาม สันนิษฐานกันว่าสถานที่แห่งนี้เป็นบริเวณเวียงเก่าลี้ ด้วยมีการค้นพบซากกำแพง คูเมืองเห็นเป็นแนว

ตำนานเล่าขานสืบต่อๆกันมาว่า “พระนางเจ้าจามเทวี” กษัตริย์ผู้ปกครองเมืองหริภุญไชยได้ยินข่าวเล่าลือในหมู่ชาวเมืองลี้ว่ามีดวงแก้ว 5 ดวง ปรากฏให้เห็นอยู่บ่อยๆ จึงได้เสด็จมาดู เวลากลางคืนจึงได้ทอดพระเนตรเห็นแสงสว่างจากดวงแก้วทั้ง 5 ดวงลอยอยู่บนกองดิน 5 กอง...จึงสอบถามความเป็นมา

...

ทราบความว่า คือ “พระเมโตธาตุ”... “น้ำไคลมือ” ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่เคยล้างพระหัตถ์และน้ำก็ไหลผ่านปลายนิ้วทั้ง 5 ลงพื้นดิน

พระนางเกิดศรัทธา จึงสร้างพระธาตุเจดีย์ครอบกองดินทั้ง 5 กองไว้และในวันที่ 20 เมษายนของทุกปีจะมีประเพณีสรงน้ำพระธาตุห้าดวง

คำไหว้องค์พระธาตุห้าดวง นะโมตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ (3 จบ)

อิมินา สักกาเรนะ อะหัง วันทามิ ภะคะวะโต เมโตธาตุ เจติยัง ยัง โทสัง กายะกัมมังวะจีกัมมัง มะโนกัมมัง สันจิตตะโทสัง จะ อะสันจิตตะโทสัง จะ ปะมาเทนะ กะตัง สัพพันตัง ขะมะตุ โน เมโตธาตุ

อะหัง วันทามิ สิระสา อะหัง วันทามิ สัพพะทา อะหัง วันทามิ สัพพะโส อิมายะ ปูชายะ อัมหากัง ทีฆะรัตตัง หิตายะ สุขายะ วัฑฒะนายะ อนิสังโส สังวัตตะตุ.

คำแปล...ข้าพเจ้าขอไหว้ซึ่งพระธาตุ อันเกิดจากน้ำล้างพระหัตถ์ของพระผู้มีพระภาคเจ้า ด้วยเครื่องสักการะนี้ โทษอันใด อันข้าพเจ้ากระทำแล้ว ด้วยความประมาท อันเป็นไปทางกาย ทางวาจา และทางใจเป็นโทษที่มีเจตนาและไม่มีเจตนา ขอพระเมโตธาตุ จงงดซึ่งโทษนั้นทั้งหมด แก่ข้าพเจ้า

ข้าพเจ้าขอไหว้ด้วยเศียรเกล้า ข้าพเจ้าขอไหว้ในกาลทุกเมื่อ ข้าพเจ้าขอไหว้โดยประการทั้งปวง ขออานิสงส์แห่งการบูชานี้ จงเป็นไป เพื่อประโยชน์ เพื่อความสุข เพื่อความเจริญแก่ข้าพเจ้าตลอดกาลนานเทอญฯ

ราวปี 2364 ผู้ครองนครลำพูนยุคนั้น ได้ทำการบูรณะเมือง ตามพงศาวดารลี้ฉบับพื้นเมืองจารึกลงในใบลานว่า “เจ้าหลวงเศรษฐีคำฟั้น” ได้นำบริวารมาปรับปรุงเมืองลำพูนไปตามสายแม่น้ำเรื่อยไปตลอดเส้นทางจนถึงเมืองลี้ มิได้เข้าไปในเวียงคงตั้งอยู่ที่เชิงเขาพระธาตุ 5 ยอดนี่เอง

แล้ว...ก็ทำการซ่อมแซมองค์พระธาตุจนสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี

หลังจากนั้นก็มีครูบา 6 รูป ได้มาปฏิบัติธรรมบำเพ็ญภาวนา ดูแลรักษา ปฏิสังขรณ์วัด โดยมีรายนามดังนี้ ครูบากิตติ, ครูบามหาสมณะ, ครูบามหามังคลาจารย์, ครูบามหาสวามี, ครูบามหาเตจา, ครูบาจะวรรณะ ปัญญา และยังมีครูบาอีก 3 รูปที่ไม่ได้กล่าวถึงได้แก่ ครูบาศรีวิชัย, ครูบาอภิชัยขาวปี, ครูบาชัยยะวงศาพัฒนา โดยมีการปั้นรูปเหมือนประดิษฐานไว้ใน “วิหาร 9 ครูบา” ให้ผู้คนได้กราบสักการบูชาในปัจจุบัน

...

วัดพระธาตุห้าดวง มีบันทึกประวัติศาสตร์น่าศึกษาค้นหา โดยเฉพาะ “องค์พระเจดีย์” ที่ควรค่าแก่การบูรณปฏิสังขรณ์ให้เจริญรุ่งเรืองสะท้อนให้เห็นถึงแรงศรัทธา คุณความดีงามที่มีอยู่ในพุทธศาสนิกชนผู้ร่วมแรงร่วมใจในวันนี้ ดังเช่นบรรพบุรุษของเราที่ได้กระทำมาแล้วในอดีต

ว่าสถานที่แห่งนี้คือ ประทีปส่องนำปัญญา ทำให้เราๆท่านๆได้เห็นอริยสัจ...ความจริงอันประเสริฐ.

รัก–ยม