วันอัฏฐมีบูชา 2567 (ภาษาอังกฤษ : Atthami Bucha Day) ถือเป็นวันสำคัญทางพุทธศาสนาที่มีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้น เมื่อพูดถึง "วันอัฏฐมีบูชา" เชื่อว่าอาจเป็นวันที่คนไทยไม่คุ้นเคยมากนัก บทความนี้ไทยรัฐออนไลน์จะพาไปทำความรู้จักว่าวันอัฏฐมีบูชาคือวันอะไร และมีความเป็นมาอย่างไรบ้าง ติดตามได้ที่นี่
ทำความรู้จัก "วันอัฏฐมีบูชา 2567" คือวันอะไร?
วันอัฏฐมีบูชา คือ วันถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระของพระพุทธเจ้า หลังจากเสด็จดับขันธปรินิพพานได้ 8 วัน ซึ่งจะตรงกับวันแรม 8 ค่ำ เดือน 6 สำหรับปีนี้วันอัฏฐมีบูชา 2567 ตรงกับวันพฤหัสบดีที่ 30 พฤษภาคม 2567 ไม่ถือเป็นวันหยุดราชการและเอกชน
วันอัฏฐมีบูชา 2567 มีความสำคัญอย่างไร?
วันอัฏฐมีบูชา เป็นวันที่ชาวพุทธพึงระลึกถึงเนื่องจากในสมัยพุทธกาลมีการถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระของพระพุทธเจ้าในวันดังกล่าว การดับขันธปรินิพพานของพระบรมศาสดา นับเป็นสิ่งที่ทำให้ชาวพุทธทุกคนได้ตระหนักถึงสัจธรรมและธรรมชาติของมนุษย์ ที่มีเกิด แก่ เจ็บ และตาย เป็นธรรมดา ไม่มีใครสามารถหนีพ้น
...
ประวัติความเป็นมาของวันอัฏฐมีบูชา 2567
ย้อนกลับไปในสมัยพุทธกาล หลังจากที่พระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพานไปแล้ว 8 วัน "มัลละกษัตริย์" แห่งเมืองกุสินารา พร้อมด้วยประชาชนและพระสงฆ์ โดยมี "พระมหากัสสปเถระ" เป็นประธาน ได้ร่วมกันทำพิธีถวายพระเพลิงพุทธสรีระ ณ เมืองกุสินารา ซึ่งตรงกับวันแรม 8 ค่ำ เดือน 6 โดยมีการเรียกวันดังกล่าวว่า "วันอัฏฐมีบูชา"
นับตั้งแต่นั้น ในแต่ละปีที่ตรงกับวันแรม 8 ค่ำ เดือน 6 ชาวพุทธก็จะรวมกันประกอบพิธีบูชาเพื่อระลึกถึงองค์พระศาสนา ในบางแห่งมีการจัดพิธีถวายพระเพลิงฯ จำลอง บ้างก็มีการทำบุญตักบาตร และเวียนเทียน นอกจากนั้นก็จะเป็นการเจริญสติเพื่อตระหนักถึงสังขารและความไม่เที่ยงของมนุษย์
กิจกรรมทางศาสนาในวันอัฏฐมีบูชา 2567
สำหรับในประเทศไทยประชาชนจะนิยมไปเวียนเทียนในวันอัฏฐมีบูชา นอกจากนี้ ในบางพื้นที่ก็ยังคงจัดงานประเพณีถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระจำลอง เช่น วัดพระบรมธาตุทุ่งยั้ง อ.ลับแล จ.อุตรดิตถ์ และวัดใหม่สุคนธาราม อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม โดยภายในงานยังมีกิจกรรมเสียง สี เสียง ให้ประชาชนได้เดินทางมาร่วมงานเป็นประจำทุกปี อีกทั้งยังมีการจัดแสดงเรื่องราวพุทธประวัติ แสดงธรรมหลักคำสอนของพระพุทธเจ้าที่ประชาชนสามารถนำมาปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าวันอัฏฐมีบูชา 2567 อาจไม่ได้ถูกพูดถึงมากนัก อีกทั้งไม่ได้เป็นวันหยุดราชการของไทย แต่ก็ถือเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาที่แฝงข้อคิดเรื่องการไม่ยึดติดไว้อย่างแยบยล เพื่อให้ชาวพุทธมีปัญญาและมีสติในการยอมรับความจริงของธรรมชาติว่าด้วยเรื่อง "สังขารไม่เที่ยง" นั่นเอง