วันตรุษจีน 2567 (Chinese New Year 2024) ตรงกับวันเสาร์ที่ 10 กุมภาพันธ์ ถือเป็นหนึ่งในวันสำคัญของผู้ที่มีเชื้อสายจีนทั่วโลก เนื่องจากเป็นวันขึ้นปีใหม่จีนที่จะมีการเฉลิมฉลองกันอย่างยาวนาน ไทยรัฐออนไลน์ชวนทำความรู้จักประวัติวันตรุษจีน กิจกรรมที่นิยมปฏิบัติ และเรื่องน่ารู้ในวันตรุษจีน
ประวัติวันตรุษจีนสั้นๆ มีที่มาอย่างไร
วันตรุษจีนไม่มีบันทึกแน่ชัดว่าเริ่มต้นตั้งแต่ช่วงใด แต่มีการสันนิษฐานว่ามีมาตั้งแต่โบราณ ซึ่งจะจัดขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองเทศกาลฤดูใบไม้ผลิ หลังจากที่ช่วงเวลาก่อนหน้านี้ต้องเผชิญกับหิมะและความหนาวเหน็บ จนไม่สามารถเพาะปลูกหรือทำการเกษตรได้ วันแรกของฤดูใบไม้ผลิจึงเป็นเสมือนวันปีใหม่ ที่จะได้กลับมาทำการเกษตรอย่างอุดมสมบูรณ์ โดยชาวจีนจะเฉลิมฉลองยาวนานถึง 15 วัน มีการรวมญาติ กินอาหารร่วมกัน รวมถึงไหว้เทพเจ้า บรรพบุรุษ เพื่อขอพร เสริมสิริมงคลให้กับตนเองและครอบครัวตลอดทั้งปีอีกด้วย
การเฉลิมฉลองวันตรุษจีน (Chinese New Year) ทั้ง 3 วันในไทย
ตามธรรมเนียมปฏิบัติที่ยึดถือกันมาเป็นเวลานานจะมีการเฉลิมฉลองตรุษจีนยาวนานถึง 15 วัน แต่จะมีวันสำคัญที่ยึดถือปฏิบัติเป็นหลัก ดังนี้
วันจ่ายตรุษจีน
วันจ่ายตรุษจีน คือ วันสิ้นปีก่อนถึงปีใหม่ ปีนี้ตรงกับวันที่ 8 กุมภาพันธ์ ชาวไทยเชื้อสายจีนจะต้องออกไปจับจ่ายซื้อของไหว้ตรุษจีน เพื่อเตรียมนำมาทำพิธี เช่น อาหารมงคลทั้งคาวและหวาน หรือผลไม้
วันไหว้ตรุษจีน
วันไหว้ตรุษจีน 2567 ตรงกับวันที่ 9 กุมภาพันธ์ ในช่วงเช้ามืดจะมีการทำพิธีไหว้ป้ายเล่าเอี๊ย หรือไหว้เทพเจ้า ในช่วงสายจะทำพิธีไหว้ป้ายแป๋บ้อ หรือไหว้บรรพบุรุษ ส่วนในช่วงบ่ายจะมีการทำพิธีไหว้ป้ายฮ่อเฮียตี๋ หรือไหว้ผีพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้ว
...
วันเที่ยวตรุษจีน
วันเที่ยว หรือวันปีใหม่ ตรงกับวันที่ 10 กุมภาพันธ์ กิจกรรมที่ถือปฏิบัติสืบต่อกันมาในวันนี้คือ การขอพรและไหว้ผู้ใหญ่ ไปเที่ยว หรือกินอาหารร่วมกับคนในครอบครัว
ของไหว้ตรุษจีนมีอะไรบ้าง มีความหมายอย่างไร
ของไหว้ตรุษจีน จะประกอบด้วยเนื้อสัตว์ 3 หรือ 5 อย่าง อาหารแห้ง อาหารเจ ผลไม้ ขนมมงคล ซึ่งของไหว้ที่นิยมนำมาไหว้มีดังนี้
- ไก่ หมายถึง ความสง่างาม และเกียรติยศ
- เป็ด หมายถึง ความสามารถที่หลากหลาย
- ปลา หมายถึง ความอุดมสมบูรณ์
- หมู หมายถึง ความอุดมสมบูรณ์
- หมึก หมายถึง ความอุดมสมบูรณ์
- ถั่วตัด หมายถึง เงิน
- ขนมเข่ง ขนมเทียน หมายถึง ความหวานชื่น
- ขนมไข่ หมายถึง ความเจริญ
- ขนมถ้วยฟู หรือขนมสาลี่ หมายถึง ความรุ่งเรือง เฟื่องฟู
- ซาลาเปา หรือหมั่นโถว หมายถึง การห่อโชค
- ขนมจันอับ หมายถึง ความสุขตลอดไป
- บะหมี่ หมายถึง อายุยืนยาว
- เม็ดบัว หมายถึง การมีลูกชายจำนวนมาก
- สาหร่ายทะเลสีดำ หมายถึง ความมั่งคั่ง
- หน่อไม้ หมายถึง การอวยพรให้ผาสุก
- ส้ม หมายถึง ความเป็นสิริมงคล
- ลูกพลับ หมายถึง ผ่านพ้นอุปสรรคได้อย่างราบรื่น
- แอปเปิล หมายถึง ความสุขสงบ
- สับปะรด หมายถึง ความโชคดี
- แก้วมังกร หมายถึง อำนาจ ความอุดมสมบูรณ์
กิจกรรมที่นิยมปฏิบัติในวันตรุษจีนมีอะไรบ้าง
กิจกรรมที่นิยมปฏิบัติและสืบต่อกันมารุ่นต่อรุ่นในช่วงเทศกาลตรุษจีนมีดังนี้
- การไหว้เจ้าและบรรพบุรุษ
- การนัดวันรวมญาติในคืนวันไหว้ และกินเกี๊ยวร่วมกัน เนื่องจากเกี๊ยวมีลักษณะคล้ายกับเงิน ชาวจีนเชื่อว่าสื่อถึงโชคลาภ และเงินทอง
- การพูดแต่สิ่งดีๆ และยิ้มแย้มตลอดวัน เพราะเชื่อว่าจะช่วยเสริมให้พบเจอสิ่งที่ดี
- การทำพิธีรับเทพเจ้าไฉ่ซิงเอี๊ยในคืนวันไหว้ เพราะเชื่อว่าจะเปรียบเสมือนการรับโชคลาภเข้ามาในชีวิต
- การสวมใส่เสื้อผ้าสีสันสดใส หรือเสื้อผ้าตัวใหม่ โดยนิยมใส่เสื้อสีมงคลในวันตรุษจีน
- กินเจในมื้อแรกของวันตรุษจีนหรือวันขึ้นปีใหม่
- ลูกหลานจะได้รับอั่งเปาจากผู้ใหญ่ โดยจะต้องกล่าว "ซินเจียยู่อี่ ซินนี้ฮวดใช้" เพื่ออวยพรกลับ
- การอวยพรผู้ใหญ่ด้วยส้ม 4 ผล
- การติดตุ๊ยเลี้ยง หรือคำอวยพรปีใหม่ที่มีความหมายมงคล
- การประดับตกแต่งด้วยของตกแต่งสีแดง
...
10 ข้อห้ามวันตรุษจีน 2567 ห้ามทำอะไรบ้าง
เนื่องจากวันตรุษจีนเป็นวันปีใหม่ที่มีความสำคัญและเป็นวันมงคล ดังนั้น จึงมีความเชื่อเกี่ยวกับการหลีกเลี่ยง 10 ข้อห้ามวันตรุษจีน เพื่อเสริมสิริมงคลและโชคดีตลอดทั้งปีร่วมด้วย ดังนี้
- ห้ามทำความสะอาดบ้าน
- ห้ามพูดคำหยาบหรือมีปากเสียงกับผู้อื่น
- ห้ามสระผมหรือตัดผม
- ห้ามให้อั่งเปาเป็นเลขคี่
- ห้ามกินโจ๊ก
- ห้ามใช้ของมีคม
- ห้ามใส่ชุดสีขาวหรือสีดำ
- ห้ามซักผ้า
- ห้ามให้ยืมเงิน
- ห้ามทำของแตก
- ห้ามซื้อรองเท้าคู่ใหม่
- ห้ามร้องไห้
ตามประวัติวันตรุษจีน แม้จะไม่มีการระบุถึงจุดเริ่มต้นที่แน่ชัด แต่วันตรุษจีนก็ถือเป็นวันสำคัญ ที่นอกจากจะปฏิบัติตามธรรมเนียมที่ยึดถือสืบต่อกันมา ยังมีการหลีกเลี่ยงข้อห้าม เพื่อเสริมสิริมงคลให้กับชีวิตด้วยเช่นกัน
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง