วันสารทไทย 2566 ตรงกับวันเสาร์ที่ 14 ตุลาคม 2566 ถือเป็นประเพณีสำคัญของคนไทยที่ปฏิบัติสืบต่อกันมายาวนาน มักจะจัดขึ้นในราวเดือนกันยายน-ตุลาคมของทุกปี อีกทั้งยังเป็นวันรวมญาติที่สมาชิกในครอบครัว ร่วมกันทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว มีประวัติความเป็นมาอย่างไร ติดตามจากบทความนี้

ทำความรู้จัก "วันสารทไทย" คือวันอะไร?

วันสารทไทย คือ วันทำบุญกลางปีของคนไทย ตรงกับวันแรม 15 ค่ำ ขึ้น 10 บ้างก็นิยมเรียกวันนี้ว่า "วันสารทเดือนสิบ" หรือ "ประเพณีทำบุญเดือนสิบ" โดยในแต่ละภาคจะมีชื่อเรียกที่แตกต่างกันออกไป ดังนี้

- ภาคกลาง : วันสารทไทย
- ภาคใต้ : งานบุญเดือนสิบ, ประเพณีชิงเปรต
- ภาคอีสาน : งานทำบุญข้าวสาก
- ภาคเหนือ : งานตานก๋วยสลาก

วันสารทไทยได้รับอิทธิพลมาจากคติอินเดีย เมื่อไทยรับเข้ามาใช้เป็นส่วนหนึ่งของประเพณีท้องถิ่นแล้ว ก็จะมีความยึดโยงกับความเชื่อเรื่องสังคมเกษตรกรรมและบรรพบุรุษ โดยเชื่อว่าการทำบุญให้แก่บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว รวมถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เคารพนับถือ จะช่วยดลบันดาลให้ครอบครัวอยู่เย็นเป็นสุข ฝนฟ้าตกตามฤดูกาล พืชพรรณธัญญาหารอุดมสมบูรณ์ เก็บเกี่ยวได้ผลผลิตที่พอใจ แต่หากไม่เคารพบรรพบุรุษและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ก็จะได้รับผลที่ตรงข้ามกันนั่นเอง

...

ประวัติวันสารทไทย 2566 มีที่มาอย่างไร?

จากหลักฐานในหนังสือพระราชพิธีสิบสองเดือน บทพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) เชื่อว่า ประเพณีวันสารทไทยมีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย ส่วนสาเหตุที่สันนิษฐานว่าได้รับอิทธิพลมาจากอินเดียและคติพราหมณ์ เนื่องจากในอดีตช่วงวันสารทที่จัดในเดือน 10 เมื่อเทียบกับช่วงฤดูเก็บเกี่ยวของไทยแล้ว พบว่าเป็นช่วงที่ข้าวยังไม่สุก ไม่ใช่ฤดูเก็บผลผลิตของไทย จึงไม่สามารถทำขนมกระยาสารทขึ้นมาโดยใช้ผลผลิตในช่วงนั้นได้

เมื่อเป็นเช่นนั้น คนไทยจึงดัดแปลงด้วยการนำข้าวสารเก่า ผสมกับถั่วและงา เพื่อใช้ทำขนมกระยาสารท สำหรับบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เทวดา และผีสาง ที่คอยปกป้องคุ้มครองแทนนั่นเอง ต่อมาเมื่อคนไทยหันมานับถือศาสนาพุทธ จึงนิยมทำบุญกับพระสงฆ์ เพื่ออุทิศบุญส่วนกุศลไปให้บรรพบุรุษ รวมถึงผู้ตายที่ตกเป็น "เปรต" ให้ได้มีโอกาสมารับส่วนบุญในวันทำบุญสารทเดือนสิบนั่นเอง ซึ่งคนใต้จะเรียกวันนี้ว่า "วันทำบุญชิงเปรต" นั่นเอง โดยจะต้องมีการจัดสำรับอาหาร ผลไม้ ขนมพอง ขนมลา ฯลฯ นำไปทำบุญ เพื่อหวังให้ญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้ว ได้รับผลบุญในช่วงเทศกาลดังกล่าว

ความสําคัญวันสารทไทย สะท้อนแนวคิดเรื่องอะไรบ้าง?

  • การแสดงความกตัญญูต่อบรรพชนที่ล่วงลับไปแล้ว เชื่อว่าในช่วงวันสารทเดือนสิบ ญาติพี่น้องที่ตายจากไปแล้ว แต่ยังต้องชดใช้กรรมอยู่ จะได้กลับมาหาครอบครัวเพื่อรับส่วนบุญกุศล
  • การแสดงความเคารพต่อผู้มีพระคุณ แสดงถึงความผูกพันระหว่างบรรพชนที่เสียชีวิตไปแล้ว และลูกหลานญาติพี่น้องที่ยังมีชีวิตอยู่
  • การแสดงความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เนื่องจากในช่วงวันสารทไทย คนไทยมักจะนิยมนำขนมกระยาสารท หรือขนมตามประเพณีของแต่ละท้องถิ่น ไปมอบให้แก่กัน
  • การแสดงความเคารพต่อธรรมชาติ แม่โพสพ ผีสาง เทวดา (ตามความเชื่อของแต่ละพื้นที่) ที่ช่วยปกป้องคุ้มครองให้พืชผลการเกษตรได้ผลดี  
  • การเสียสละ ทำบุญ บริจาคทาน ไม่โลภ ไม่ยึดติด อีกทั้งเป็นการอุปถัมภ์ค้ำชูพระพุทธศาสนา อนุรักษ์ประเพณีไทยสืบไป

สำหรับกิจกรรมวันสารทไทย 2566 ที่คนไทยยึดถือปฏิบัติกันทุกปี คือ การไปวัดทำบุญ กรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลให้แก่บรรพบุรุษที่ล่วงลับ ด้วยการนำข้าวปลาอาหาร ผลไม้ ขนมตามประเพณี ไปร่วมตักบาตรที่วัด ซึ่งการประกอบพิธีวันสารทไทยในแต่ละพื้นที่ ก็อาจมีลักษณะที่แตกต่างกันออกไป 

...

ที่มา: www.m-culture.go.th