วันออกพรรษา 2566 ปีนี้ตรงกับวันอาทิตย์ที่ 29 ตุลาคม ซึ่งเป็นวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 สิ้นสุดระยะเวลาจำพรรษาของพระภิกษุสงฆ์รวม 3 เดือน กิจกรรมวันออกพรรษาแบ่งออกเป็นฝั่งภิกษุสงฆ์และฆราวาส ทั้งการตักบาตรเทโว เทศน์มหาชาติ และไหลเรือไฟ ถือเป็นประเพณีทางพุทธศาสนาที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนาน  

ประวัติวันออกพรรษา วันแรม 1 ค่ำ เดือน 11

ประวัติวันออกพรรษาในอดีต คือเหตุการณ์ในพุทธประวัติมีเรื่องเล่าว่าพระพุทธเจ้าเสด็จโปรดเทวดาชั้นดาวดึงส์ ผู้เคยมาเกิดเป็นพระนางสิริมหามายา เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จกลับมายังโลกมนุษย์ถึงเมืองสังกัสสะ ชาวบ้านต่างร่วมใจกันเดินทางไปรับเสด็จพระพุทธเจ้า เป็นที่มาของการตักบาตรเทโวโรหณะ และพระพุทธเจ้าทรงแสดงโอวาท เรียกว่า “ไตรโลกวิวรณปาฏิหาริย์”

ความสำคัญวันออกพรรษา วันสำคัญของชาวพุทธ

...

ความสำคัญของวันออกพรรษาเพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ที่พระพุทธเจ้าเสด็จกลับมาจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ พุทธศาสนิกชนเตรียมอาหารเพื่อถวายพระภิกษุสงฆ์หลังวันออกพรรษา 1 วัน ในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 และพระภิกษุสงฆ์จัดพิธีกรรม “มหาปวารณา” ให้ว่ากล่าวตักเตือนซึ่งกันและกันได้ เนื่องจากพบเห็นข้อบกพร่องระหว่างจำพรรษาอยู่ด้วยกัน รวมถึงเปิดโอกาสให้ซักถามข้อสงสัยระหว่างพระภิกษุสงฆ์ พระผู้ใหญ่กล่าวตักเตือนพระผู้น้อยได้ และพระผู้น้อยก็ชี้แนะพระผู้ใหญ่ที่อาวุโสกว่าได้ เพื่อจะได้ระมัดระวัง ไม่ประมาท ให้อยู่ในกรอบของพระวินัย

การ “กล่าวปวารณา” เป็นภาษาบาลีเริ่มต้นว่า "สังฆัมภันเต ปะวาเรมิ ทิฏเฐนะ วา สุเตนะ วาปะริสังกายะ วา วะทันตุ มัง อายัสมันโต อะนุกัทปัง อุปาทายะ ปัสสันโต ปฏิกะริสสามิ"

กิจกรรมวันออกพรรษาที่ชาวพุทธควรปฏิบัติ

กิจกรรมวันออกพรรษาของแต่ละภาคในประเทศไทยนั้นปฏิบัติไม่เหมือนกัน โดยเริ่มต้นด้วยวิธีการตักบาตรเทโว เพื่อสมมติจำลองถึงวันที่พระพุทธเจ้าเสด็จกลับจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์

ตักบาตรเทโว หรือ ตักบาตรเทโวโรหณะ

อาหารที่ใช้ตักบาตรเทโว นิยมใช้ ข้าวต้มมัด และข้าวต้มลูกโยน ชาวบ้านรอพระภิกษุ สามเณร เดินลงมาจากบันไดอุโบสถ หลังจากทำวัตรเช้า เมื่อพระอาทิตย์ขึ้นก็สมมติว่าพระพุทธเจ้าเสด็จบันไดสวรรค์ โดยบางแห่งเปิดเพลง หรือบรรเลงดนตรี สมมติว่าเป็นเทวดาบรรเลง ชาวบ้านที่รออยู่ก็จะใส่บาตรด้วยอาหารหวาน อาหารคาว ข้าวต้มลูกโยน

ทอดกฐิน

ชาวบ้านนำผ้าใหม่ มาเย็บเป็นจีวรเพื่อถวายแด่พระภิกษุสงฆ์ที่จำพรรษาครบ 3 เดือน นิยมทำหลังจากออกพรรษา 1 เดือน

ทอดผ้าป่า

ทอดผ้าป่ามีประวัติมาจากในอดีตพระภิกษุสงฆ์นำผ้าที่ชาวบ้านทิ้งไว้ มารวบรวมทำความสะอาดทำผ้านุ่ง แต่เนื่องจากพระพุทธเจ้ายังไม่ได้บัญญัติให้พระภิกษุรับจีวรจากชาวบ้านได้ ชาวบ้านที่อยากถวายก็นำมาทิ้งตามทางให้พระภิกษุพบ พิธีทอดผ้าป่าในไทยถูกรื้อฟื้นขึ้นมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) โดยไม่ได้กำหนดฤดูกาลว่าต้องทำใน 1 เดือนหลังออกพรรษา

เทศน์มหาชาติ

...

วัดต่างๆ จัดเทศน์มหาชาติ 13 กัณฑ์ เล่าถึงพุทธประวัติของพระพุทธเจ้า นิยมจัดในวันขึ้นหรือแรม 8 ค่ำ เดือน 12 เพื่อให้พุทธศาสนิกชนรำลึกถึงพระธรรมเทศนา

เมื่อออกพรรษาแล้ว พระภิกษุสงฆ์สามารถค้างแรมสถานที่อื่นได้โดยไม่ผิดวินัย และยังได้รับอานิสงส์อีก 4 ข้อ คือ 1) ไปไหนมาไหนโดยไม่ต้องบอกลา 2) ไม่ต้องถือผ้าไตรครบชุด 3) มีสิทธิ์ได้ลาภที่เกิดขึ้นได้ และ 4) มีโอกาสได้อนุโมทนากฐิน ขยายเวลาได้อีก 4 เดือน

ไหลเรือไฟ

ประเพณีไหลเรือไฟ เป็นกิจกรรมวันออกพรรษาที่โดดเด่นของจังหวัดนครพนม โดยในปี 2566 นี้ ทางจังหวัดจัดแสดงโชว์ไหลเรือไฟคืนละ 1-2 ลำ และปล่อยกระทงสายวันละ 25,000 ดวง พร้อมซุ้มวิถีคนทำเรือไฟ 12 อำเภอ กิจกรรมนี้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 20-30 ตุลาคม 2566 เป็นเวลา 11 วัน 11 คืน

นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมที่หน่วยงานรัฐ ร่วมกับเอกชน เพื่อให้พุทธศาสนิกชนได้เปลี่ยนแปลงตัวเองให้มีอารมณ์และสุขภาพที่ดีขึ้น เช่น กิจกรรมงดเหล้าเข้าพรรษา รวมถึงกิจกรรมที่เอกชนร่วมกันจัดทอดกฐินหลังออกพรรษา 1 เดือน เพื่อถวายผ้ากฐินให้แก่พระสงฆ์ผู้จำพรรษาครบ 3 เดือน


ที่มา : กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม, สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์