ในทุกปีแรงงาน ลูกจ้างในหลายประเทศจะได้หยุดพักในวันแรงงานตรงกับวันที่ 1 พฤษภาคม ซึ่งเป็นวันหยุดนักขัตฤกษ์เพื่อให้ทุกคนได้รำลึกถึงความสำคัญของแรงงาน ในประเทศไทยเองก็มีแรงงานกว่า 38 ล้านคน ถือเป็นกำลังสำคัญที่ร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจในทุกภาคส่วน วันนี้ไทยรัฐออนไลน์จึงได้รวบรวมประวัติวันแรงงานที่น่าสนใจมาเล่าให้คุณฟัง

ประวัติวันแรงงานสากล

เมื่อ 130 กว่าปีก่อนขณะที่โลกเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม ผู้ประกอบการใช้เครื่องจักรควบคู่กับแรงงานมนุษย์โดยไม่มีสวัสดิการหรือข้อตกลงที่ชัดเจนระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง จนกระทั่งราวปี พ.ศ. 2432 แรงงานในสหรัฐอเมริกาได้เรียกร้องให้กำหนดชั่วโมงการทำงานสูงสุดวันละ 8 ชั่วโมง รวมถึงให้ทบทวนสิทธิของแรงงานด้านอื่นตามความเหมาะสม กลายเป็นการชุมนุมที่จัตุรัสเฮย์มาเก็ต

การปะทะระหว่างแรงงานและตำรวจส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตทั้งสองฝ่าย ทั่วโลกยกย่องความกล้าหาญของการต่อรองครั้งนั้นระหว่างขบวนการแรงงานและรัฐ ด้วยการกำหนดให้วันที่ 1 พฤษภาคมของทุกปี เป็นวันแรงงานสากล หรือที่เรียกว่า เมย์เดย์ (May Day)

การปะทะกันระหว่างแรงงานกับรัฐเกิดขึ้นในหลาย ๆ ประเทศ เพื่อเจรจาต่อรองให้เกิดการจ้างงานอย่างเป็นธรรม รวมถึงจัดสวัสดิการที่เหมาะสมด้านความปลอดภัยต่อสุขภาพของแรงงานขณะทำงาน ตัวอย่างประเทศที่หยุดงานในวันที่ 1 พฤษภาคม เพื่อฉลองวันเมย์เดย์ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา, จีน เยอรมนี, เดนมาร์ก, บัลแกเรีย, ฝรั่งเศส, เนเธอร์แลนด์, อิตาลี, กรีซ, อินเดีย, ศรีลังกา, เวียดนาม, ลาว, ไทย เป็นต้น

...

ชาวยุโรปถือว่าวันเมย์เดย์ เป็นวันเริ่มต้นฤดูกาลเกษตรกรรม ทำพิธีบวงสรวงตามความเชื่อเพื่อขอให้ปลูกพืชผลได้มีผลผลิตที่ดี ส่วนประเทศไทยเราก็มีวันพืชมงคล เป็นวันฤกษ์ดีด้านการเพาะปลูกเกษตรกรรมเช่นกัน

ประวัติวันแรงงานแห่งชาติไทย

วันแรงงานในประเทศไทยถูกกล่าวถึงครั้งแรกในปี พ.ศ. 2475 ซึ่งตรงกับสมัยจอมพล ป. พิบูลสงครามเป็นนายกรัฐมนตรี ในรัชสมัยรัชกาลที่ 8 และรัฐบาลได้รับรองวันที่ 1 พฤษภาคม เป็นวันกรรมกรแห่งชาติในปี พ.ศ. 2499 และได้เปลี่ยนชื่อเป็นวันแรงงานในปี พ.ศ. 2500

ในยุคแรกของวันแรงงานนั้น ลูกจ้างยังไม่ได้หยุดงานในวันที่ 1 พฤษภาคมนี้ด้วย และใช้เวลาถึง 17 ปี จึงได้ประกาศเป็นวันหยุดให้แรงงานได้มีช่วงเวลาเฉลิมฉลองวันแรงงานในปี พ.ศ. 2517

เนื่องจากวันแรงงาน 1 พฤษภาคม ของทุกปี มีวันหยุดนักขัตฤกษ์ใกล้เคียงกันคือวันพืชมงคล แรงงานที่มีครอบครัวเป็นเกษตรกรจึงมักใช้โอกาสนี้เดินทางกลับต่างจังหวัดเพื่อเริ่มฤดูกาลหว่านไถ ถือเป็นฤกษ์มงคลในการเพาะปลูกรอรับน้ำฝนในช่วงเดือน พฤษภาคม - มิถุนายน

ตัวเลขของสมาชิกแรงงานไทยล่าสุด มีดังนี้

  • ประเทศไทยเรามีกลุ่มผู้มีอายุ 15 ปีขึ้นไป ที่พร้อมเข้าสู่สถานะแรงงาน 56.57 ล้านคน เป็นเพศหญิงมากกว่าเพศชาย
  • แต่กลุ่มแรงงานทั้งหมดในไทย เป็นเพศชายมากกว่าเพศหญิงถึง 3 ล้านคน
  • ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีจำนวนแรงงานมากที่สุดในประเทศไทยด้วยจำนวน 9.5 ล้านคน รองลงมาคือภาคกลาง 11.9 ล้านคน ภาคเหนือ 6.2 ล้านคน และภาคใต้ 5.1 ล้านคน
  • กรุงเทพมหานครเป็นจังหวัดที่มีแรงงานมากที่สุด สูงถึง 5.3 ล้านคน

ความสำคัญของแรงงานไทยในปัจจุบัน

แรงงานทั้งกลุ่มที่เป็นลูกจ้าง พนักงานต่าง ๆ เป็นกำลังในการดำเนินกิจการ และช่วยสร้างรายได้ ถือเป็นปัจจัยสำคัญในการผลิตสินค้าและการบริการ โดยมีข้อมูลจำนวนแรงงานในธุรกิจต่าง ๆ ดังนี้

  • ธุรกิจการศึกษา
  • ธุรกิจโรงแรมและร้านอาหาร
  • ธุรกิจการเงิน การลงทุน และที่เกี่ยวข้องกับอสังหาริมทรัพย์
  • ธุรกิจค้าปลีก
  • ธุรกิจการผลิต
  • เกษตรกรรม ประมง
  • ธุรกิจยานยนต์
  • ธุรกิจการขนส่ง
  • ธุรกิจการก่อสร้าง
  • บริการอื่น ๆ

เพราะฉะนั้นหากหน่วยงานที่มีแรงงานที่มีประสิทธิภาพ ก็มักจะส่งผลให้ธุรกิจเติบโตได้ดีด้วย ปัจจุบันหน่วยงานที่ดูแลระบบแรงงานไทยทั้งหมด คือ กระทรวงแรงงาน โดยแบ่งออกเป็น กรมจัดหางาน, กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน, กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน และสำนักงานประกันสังคม โดยมีช่องทางให้แรงงานติดต่อสอบถามข้อมูลต่าง ๆ ได้ที่สายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร. 1506

ที่มา: การสำรวจภาวะการทำงานของประชากร สำนักงานสถิติแห่งชาติ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม, มหาวิทยาลัยสยาม, ธนาคารแห่งประเทศไทย

...