สวัสดีท่านผู้อ่านทุกท่านครับ สัปดาห์นี้มีเรื่องที่น่าสนใจเกี่ยวกับลูกหนี้รายหนึ่ง เคยกู้ยืมเงินสินเชื่อส่วนบุคคลจากสถาบันการเงินแห่งหนึ่ง โดยมีเงื่อนไขการผ่อนชำระเป็นเงินต้นและดอกเบี้ยคืนเป็นงวดๆ ทุกเดือน มีกำหนด 24 งวด หลังจากที่มีการกู้ยืมเงินกันแล้ว ลูกหนี้ไม่เคยผ่อนชำระเงินคืนให้แก่สถาบันการเงินเลย ตั้งแต่ปี 2550

ต่อมาในปี 2564 ลูกหนี้ถูกสถาบันการเงินฟ้องในข้อหาผิดสัญญากู้ยืมเงิน ขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยคืนเงินต้นจำนวน 30,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยนับตั้งแต่วันที่กู้ยืมเงินจนถึงวันฟ้อง เป็นเงินจำนวน 98,000 บาทเศษ และชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 28 บาทต่อปี นับจากวันถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าลูกหนี้จะชำระหนี้เสร็จสิ้น พร้อมทั้งให้ชำระค่าฤชาธรรมเนียม และค่าทนายความแทนโจทก์

ประเด็นที่น่าสนใจของคดีนี้ คือ ลูกหนี้กู้ยืมเงินจากเจ้าหนี้เป็นระยะเวลากว่า 14 ปี อายุความขาดหรือไม่ เหตุใดเจ้าหนี้จึงสามารถยื่นฟ้องต่อศาลได้

สิทธิเรียกร้องตามสัญญากู้ยืมเงิน มีอายุความ 10 ปีนับแต่วันถึงกำหนดชำระหนี้คืน แต่หากสัญญากู้ยืมตกลงชำระเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยคืนเป็นงวดๆ เช่น ผ่อนคืนเงินต้นและดอกเบี้ย จำนวน 24 งวด กรณีจะเป็นการชำระหนี้ เพื่อผ่อนทุนคืนเป็นงวดๆ ซึ่งจะมีอายุความ 5 ปีนับแต่วันที่เจ้าหนี้มีสิทธิเรียกร้องเงินคืน โดยในสัญญากู้ยืมเงินที่ให้ผ่อนเป็นงวดๆ นั้น สัญญามักจะระบุไว้ว่า หากลูกหนี้ผิดนัดงวดใดงวดหนึ่งให้ถือว่าผิดนัดทั้งหมด ซึ่งมีผลทำให้เจ้าหนี้มีสิทธิเรียกร้องเงินทั้งหมดคืนทันที โดยไม่ต้องรอให้งวดใดงวดหนึ่งถึงกำหนดชำระเสียก่อน

...

ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 อายุความนั้น ถ้าประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่นมิได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะ ให้มีกำหนดสิบปี

มาตรา 193/33 สิทธิเรียกร้องดังต่อไปนี้ให้มีกำหนดอายุความห้าปี (2) เงินที่ต้องชำระเพื่อผ่อนทุนคืนเป็นงวดๆ

พิจารณาจากหลักกฎหมายประกอบสัญญากู้ยืมเงิน คดีนี้มีข้อตกลงการผ่อนเงินต้นและดอกเบี้ยเป็นงวดๆ จึงมีกำหนดอายุความ 5 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/33 (2)

ทั้งนี้ แม้ว่าสิทธิเรียกร้องตามสัญญากู้ยืมเงินจะขาดอายุความแล้วก็ตาม แต่ก็ไม่ได้มีผลให้มูลหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินระงับสิ้นไปด้วย โจทก์จึงสามารถยื่นฟ้องจำเลยต่อศาล เพื่อบังคับจำเลยให้ชำระหนี้คืนโจทก์ได้ แต่จำเลยก็มีสิทธิที่จะปฏิเสธการชำระหนี้ได้เช่นกัน โดยจำเลยจะต้องยื่นคำให้การในประเด็นเรื่องอายุความเพื่อสู้คดีด้วย เนื่องจากเรื่องอายุความไม่ใช่เรื่องอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ศาลจึงไม่มีอำนาจหยิบยกเรื่องอายุความมาพิจารณาพิพากษาได้ ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่ของจำเลยที่จะต้องยื่นคำให้การต่อสู้คดี เพื่อให้ศาลกำหนดประเด็นข้อพิพาทและวินิจฉัยชี้ขาดประเด็นเรื่องอายุความต่อไป

สุดท้ายนี้ แม้คดีจะขาดอายุความแล้ว และจำเลยมีสิทธิที่จะปฏิเสธการชำระหนี้ได้ ไม่ต้องจ่ายเงินคืนเลยก็ตาม แต่ทั้งนี้ ก็ไม่ตัดสิทธิโจทก์หรือจำเลยที่จะขอเจรจาไกล่เกลี่ย ขอชำระหนี้คืนให้แก่โจทก์ เฉพาะเงินต้นหรือคืนเงินตามความสามารถก็ได้ เพื่อไม่ให้มีภาระติดค้างกัน ทั้งทางโลกและทางธรรมครับ

สำหรับท่านที่มีคำถามข้อสงสัยเกี่ยวกับเรื่องกฎหมายและต้องการความช่วยเหลือ หรือมีเรื่องราวดีๆ อยากแบ่งปันประสบการณ์ เมลมาหาผมได้ที่ “คุยกับคนดัง” talktoceleb@trendvg3.com ได้เลยครับ