• จริงๆ แล้ว ควรเปลี่ยนยางรถยนต์ตอนไหน? คำตอบคือ ควรใช้จนร่องดอกยางลึกไปถึง 1.6 มิลลิเมตรได้ แต่คนส่วนใหญ่เปลี่ยนยางโดยยังมีร่องดอกยางที่ลึกถึง 3 มิลลิเมตร

  • จากสถิติพบว่า คนส่วนใหญ่เปลี่ยนยางรถยนต์เร็วเกินไป หลังใช้ไปได้แค่ 60% ซึ่งยิ่งเปลี่ยนยางบ่อย ก็ยิ่งส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

  • นอกจากควรเปลี่ยนยางเมื่อใช้อย่างเต็มที่แล้ว ซีริลล์ โรเฌต์ ผอ.ฝ่ายนวัตกรรมฯ ของมิชลิน มีคำแนะนำว่า ในกระบวนการรีไซเคิลผลิตล้อยาง จะเกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ ต้องขับเคลื่อนทั้งอุตสาหกรรม เพื่อให้ทั้งสายพานการผลิตมีแนวคิดเรื่องความยั่งยืนสอดแทรกอยู่เสมอ

คุณเปลี่ยนยางรถยนต์บ่อยแค่ไหน? จริงไหมที่บอกกันว่าเราควรเปลี่ยนยางรถยนต์ทุกๆ สามปี สิ่งหนึ่งที่คนอาจไม่ค่อยนึกถึงคือ ในชีวิตที่เราเดินทางไปไหนต่อไหนแทบทุกวัน การตัดสินใจเลือกหรือเลิกใช้ยางรถยนต์ ก็มีผลต่อสิ่งแวดล้อมโดยตรงเช่นกัน

ไทยรัฐออนไลน์ ได้สัมภาษณ์ ซีริลล์ โรเฌต์ (Cyrille Roget) ผู้อำนวยการฝ่ายนวัตกรรมและการสื่อสารเชิงวิทยาศาสตร์ของมิชลิน ที่เล่าถึงแนวคิดเกี่ยวกับการพัฒนาอุตสาหกรรมยางล้อ ในแบบที่คำนึงถึงการรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะพันธกิจที่หลายประเทศทั่วโลกตั้งคำถามร่วมกันว่า ประเทศๆ หนึ่งและอุตสาหกรรมๆ หนึ่ง จะมีส่วนลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ที่มีผลต่อภาวะโลกร้อนได้อย่างไร

ซีริลล์ โรเฌต์ (Cyrille Roget) ผู้อำนวยการฝ่ายนวัตกรรมและการสื่อสารเชิงวิทยาศาสตร์ของมิชลิน
ซีริลล์ โรเฌต์ (Cyrille Roget) ผู้อำนวยการฝ่ายนวัตกรรมและการสื่อสารเชิงวิทยาศาสตร์ของมิชลิน

...

“คนอาจจะนึกว่ายางรถยนต์มันไม่เกี่ยวกับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เปล่าเลย มันเกี่ยวข้องโดยตรง แม้กับรถยนต์ไฟฟ้า (ที่เชื่อกันว่าจะช่วยปกป้องให้อากาศสะอาดกว่ารถยนต์สันดาป) เพราะเราต้องการพลังงานไฟฟ้ามาใช้กับเครื่องยนต์ และพลังงานไฟฟ้าก็สร้างการคายก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เว้นแต่ว่าเราจะสามารถใช้พลังงานทดแทนอื่นๆ เช่น พลังงานลม ที่สามารถเอามาใช้ได้”

ตลอดห่วงโซ่การผลิตยางล้อ ล้วนส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมไปในทุกขั้นตอน โรเฌต์ กล่าวว่า การจะทำความเข้าใจเรื่องความยั่งยืนและคิดคำนึงถึงผลกระทบต่ออุตสาหกรรมยางรถยนต์ที่มีต่อสิ่งแวดล้อม จำเป็นต้องทำงานข้อมูลและสร้างความร่วมมือในระดับโลก และถ้าจะเจาะเฉพาะเรื่องยางรถยนต์ ว่าส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมโลกอย่างไร ก็ต้องดูที่พฤติกรรมการใช้ยางรถยนต์ของบุคคล และวิเคราะห์อายุการใช้งานยางรถยนต์

“สิ่งที่เราหาทางแก้ปัญหาคือ ปัญหายางเสื่อมสภาพ ยางชำรุด ซึ่งพบประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ของการใช้ยางรถยนต์ หรือคิดเป็นจำนวนราวๆ 200 ล้านชิ้นต่อปี ที่ต้องยุติการใช้ยางล้อก่อนเวลาอันควร ซึ่งในเรื่องนี้มิชลินอยู่ระหว่างการคิดค้นและพัฒนายางที่ไม่ใช้ลม ที่ชื่อว่า UPTIS ซึ่งหวังว่าจะเป็นทางออกของปัญหานี้ได้”

ยางเก่าอาจยังไม่ต้องรีบเปลี่ยน

แต่นอกจากปัญหายางชำรุด อีกประเด็นใหญ่ก็คือพฤติกรรมผู้บริโภค ที่พบว่าคนจำนวนหนึ่ง เลิกใช้ยางก่อนเวลาอันควรโดยไม่มีเหตุผล ทั้งที่ยางล้อนั้นยังใช้งานได้อยู่ แต่ตัดสินใจเปลี่ยนเพียงเพราะรู้สึกไม่มั่นใจ แปลว่ายางจำนวนหนึ่งจะกลายไปเป็นขยะก่อนเวลาอันควร แทนที่จะใช้งานยางรถยนต์ให้เต็มประสิทธิภาพ

“คนจำนวนหนึ่งเปลี่ยนยาง โดยยังมีร่องดอกยางที่ลึกถึง 3 มิลลิเมตร ทั้งที่จริงๆ แล้วยังคงสามารถใช้งานจนสึกหรอไปถึง 1.6 มิลลิเมตร เรียกได้ว่า เราทิ้งการใช้งาน ทั้งที่มันควรมีอายุต่อไปได้อีก 40% และการเปลี่ยนยางบ่อยๆ ก็มีผลต่อการคายก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งส่งผลต่อสิ่งแวดล้อม”

โรเฌต์ ขยายความเรื่องอายุการใช้งานของยางรถยนต์ว่า สมมติว่าผู้ผลิตยางล้อ ผลิตยางรถยนต์ที่สามารถใช้งานวิ่งได้มากถึง 60,000-70,000 กิโลเมตร แล้วจะทำอย่างไรให้ผู้ใช้ใช้งานยางนั้นๆ ให้เต็มศักยภาพ แทนที่จะปลดระวางยางก่อนเวลา ไม่เปลี่ยนยางขณะที่วิ่งได้เพียง 20,000-30,000 กิโลเมตร

“เราอยากให้คนใช้งานยางรถยนต์ไปจนถึงวันสุดท้ายที่ยางหมดอายุขัย ไม่อย่างนั้น หากผู้ใช้เปลี่ยนยางบ่อย ก็ทำให้แต่ละปีต้องผลิตยางรถยนต์เพิ่มขึ้น และในกระบวนการผลิตก็สร้างก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากอยู่แล้ว”

โรเฌต์ กล่าวว่า ความกังวลของผู้ใช้ส่วนใหญ่ น่าจะอยู่ที่ประสิทธิภาพของยางบนพื้นถนนที่ลื่นหรือเปียก ซึ่งเขามองว่าทางออกหนึ่งคือ ให้มีคณะกรรมการกลางที่มากำกับดูแลคุณภาพยางรถยนต์ในสภาพ wet braking ซึ่งในยุโรปเองก็จะมีการกำกับดูแลลักษณะนี้ในปี 2567 เพื่อวางมาตรฐานกลางที่ผู้ใช้จะวางใจได้ เมื่อวางใจแล้วก็จะได้ยืดอายุการใช้งานยางล้อต่อไปให้ยาวนานขึ้น ไม่ต้องเปลี่ยนยางบ่อยๆ โดยไม่จำเป็น

...

ยางรถยนต์ที่ประหยัดพลังงาน

นอกจากการสร้างความไว้วางใจต่อผู้บริโภค ให้มั่นใจในคุณภาพของยางรถยนต์ ว่าจะช่วยสร้างความปลอดภัยในการขับขี่ เพื่อลดปริมาณการเปลี่ยนยางใหม่ อันจะเป็นผลดีต่อสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังมีอีกสองประเด็นคือ การพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตยางที่ช่วยประหยัดพลังงาน และการทำให้ตลอดกระบวนการของอุตสาหกรรมการผลิตยางคำนึงถึงผลกระทบที่มีต่อสิ่งแวดล้อม

...

สำหรับเรื่องยางรถยนต์ที่ช่วยประหยัดพลังงานนั้น โรเฌต์ กล่าวถึงหัวใจสำคัญข้อหนึ่งคือ เรื่องแรงต้านการหมุนของล้อ (Rolling Resistance) ที่แปรผันโดยตรงกับน้ำหนักรถยนต์ ยิ่งรถมีน้ำหนักเบาก็ยิ่งประหยัดพลังงาน แต่เทรนด์การใช้รถในปัจจุบันที่คนนิยมรถคันใหญ่ขึ้น และเริ่มหันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้าที่ตัวรถมีน้ำหนักมากขึ้นจากน้ำหนักของแบตเตอรี่ ก็ยิ่งเป็นความท้าทายว่านวัตกรรมของยางล้อที่ต้องรองรับเทรนด์การใช้รถใหม่ๆ โดยที่ต้องหาทางออกเรื่องการประหยัดพลังงานด้วยนั้น จะเป็นไปได้แค่ไหน

ในเรื่องนี้ โรเฌต์ กล่าวว่า ตลอดสามสิบปีที่ผ่านมา มิชลินพยายามพัฒนาเทคโนโลยีด้านนี้ จนสามารถลดแรงต้านการหมุนของล้อไปได้ถึงครึ่งหนึ่ง กล่าวคือ ยางรุ่น Energy ที่ผลิตในปี 1992 นั้น มีค่าแรงต้านการหมุนของล้อที่ 12kg/T และพัฒนาเรื่อยมา จนถึงยางรุ่น e.PRIMACY ที่พัฒนาจนลดแรงต้านการหมุนของล้ออยู่ที่ 5kg/T

เขายังกล่าวถึงกลไกการกำกับดูแลอุตสาหกรรมที่ยุโรปใช้ ว่าอยากให้มีมาตรฐานเดียวกันนี้ในนานาประเทศ ซึ่งกลไกที่ว่านี้จะควบคุมปริมาณการใช้พลังงาน การใช้น้ำ และควบคุมไปจนถึงระบบขนส่งหรือโลจิสติกส์ ที่ต้องคำนึงถึงการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์

เขาเห็นว่าการกำกับดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อมจำเป็นต้องเกิดขึ้นในระดับนานาชาติ เพื่อให้มั่นใจว่าในทุกๆ ขั้นตอนของการผลิต จะได้รับการควบคุมให้ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากจนเกินไป เพราะการคำนึงเรื่องผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ต้องเกิดขึ้นในทุกขั้นตอนของวัฏจักรผลิตภัณฑ์ ตั้งแต่การออกแบบ การผลิต การขนส่ง การใช้งาน และการนำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่หรือรีไซเคิล (Recycling)

...

การรีไซเคิลยางรถยนต์

แล้วยางรถยนต์ที่เลิกใช้ จะทิ้งแล้ว มันไปอยู่ที่ไหน แนวทางหนึ่งเพื่อดูแลผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้ได้มากที่สุด ก็คือทำอย่างไรให้วัสดุเหลือทิ้ง สามารถนำกลับเข้าสู่ระบบการผลิตได้อีกครั้ง ตามแนวคิด circular economy เพื่อลดปริมาณขยะตกค้างในสิ่งแวดล้อม

เรื่องนี้ดูจะมีสัญญาณที่ดีในวงการยางล้อ เพราะมีการวางแผนและมอนิเตอร์ข้อมูลกันอย่างเป็นระบบ ในอุตสาหกรรมยางรถยนต์ระดับโลกมีโครงการที่เรียกว่า TIP หรือ Tire Industry Project ซึ่งแต่ละปี จะรวบรวมรายงานสถานการณ์การใช้ยางรถยนต์

โรเฌต์ กล่าวว่า สถิติชี้ว่า 90% ของยางรถยนต์ที่ใช้แล้วทั่วโลก ได้รับการเก็บแล้วนำกลับเข้ามาสู่กระบวนการผลิตอื่นๆ ต่อไป สัดส่วนนี้ถือเป็นสัดส่วนการรวบรวมวัสดุใช้แล้วในปริมาณที่สูงมาก เมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมอื่นๆ โดยหากนับเป็นจำนวนที่ยางกลับคืนเข้าสู่กระบวนการ upcycling ก็คิดเป็นจำนวน 1.6 พันล้านชิ้นต่อปี

ยางรถยนต์ที่ใช้แล้ว ยังสามารถนำกลับเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล และกลับเข้าสู่การผลิตยางรถยนต์ และสามารถนำไปใช้ในอุตสาหกรรมอื่นๆ เช่น การก่อสร้างอาคารที่นำเอาวัสดุจากยางใช้แล้วไปพัฒนาเป็นส่วนประกอบที่ช่วยต้านแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหว หรือยังสามารถนำไปใช้ในพลาสติกที่จะช่วยเสริมความเหนียวและทนทาน

แต่แน่นอนว่า แนวทางหนึ่งที่นวัตกรรมยางรถยนต์พยายามคิดค้นคือ การเพิ่มสัดส่วนของการนำยางเก่า ให้สามารถนำกลับเข้าสู่กระบวนการผลิตยางใหม่ให้ได้มากยิ่งขึ้นกว่าเดิม และมิชลินก็ยังทะเยอะทะยานกว่านั้น โดยตั้งเป้าไว้ว่า มิชลินจะต้องเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนานวัตกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อมที่นั่งยืน โดยมีเป้าหมายว่า ยางของมิชลินจะต้องผลิตมาจากวัสดุที่ใช้แล้ว 100% ภายในปี 2593

แม้ปี 2593 ฟังดูห่างไกล เพราะใช้เวลาอีกนานเกือบ 30 ปี แต่การตั้งเป้าหมายลักษณะนี้สำหรับองค์กรที่มีอายุนับร้อยปี ก็คงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร อย่างไรก็ดี เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา มิชลินมีข่าวความคืบหน้าเกี่ยวกับการพัฒนาเทคโนโลยีแห่งอนาคต โดยเปิดตัวยางรถยนต์และยางรถโดยสาร 2 รุ่น ซึ่งผลิตจากวัสดุที่ยั่งยืนในสัดส่วน 45% และ 58% ซึ่งยังอยู่ระหว่างการพัฒนา และเริ่มนำมาทดลองขับในงานแถลงข่าวแล้ว และคาดว่าการพัฒนาจะสมบูรณ์ พร้อมจะผลิตสินค้าครั้งละมากๆ (Mass Production) ใช้ในปี 2568

ยางรถยนต์ของมิชลิน ที่ใช้วัสดุที่ยั่งยืนเป็นส่วนประกอบถึง 45%
ยางรถยนต์ของมิชลิน ที่ใช้วัสดุที่ยั่งยืนเป็นส่วนประกอบถึง 45%
ยางรถโดยสารของมิชลิน ที่ใช้วัสดุที่ยั่งยืนเป็นส่วนประกอบถึง 58%
ยางรถโดยสารของมิชลิน ที่ใช้วัสดุที่ยั่งยืนเป็นส่วนประกอบถึง 58%

งานพัฒนาลักษณะนี้ ไม่ได้เกิดขึ้นได้จากความเชี่ยวชาญของมิชลินในด้านวัสดุ การวิจัย และพัฒนาเท่านั้น แต่ยังร่วมมือเป็นพันธมิตรกับธุรกิจสตาร์ทอัพด้านนวัตกรรม ที่ชื่อ Enviro ที่สร้างกระบวนการนำวัสดุที่ยั่งยืนมาใช้ในการพัฒนายางล้อ หรือความพยายามเปลี่ยนอุตสาหกรรมทั้งระบบให้คำนึงเรื่องสิ่งแวดล้อม

โรเฌต์ กล่าวว่า มันมีคำที่เรียกว่า Black Cycle ที่ใช้ในอุตสาหกรรมยางล้อ ที่ให้ความสนใจในการควบคุมการผลิต ตั้งแต่การนำส่วนประกอบของยางเก่ากลับสู่กระบวนการผลิต การหาหนทางที่ทำงานกับผู้ผลิตทั้งหมดในห่วงโซ่การผลิตนี้ให้ร่วมกันวางกติกา และสร้างเงื่อนไขให้อุตสาหกรรมการผลิตยางรถยนต์ ต้องคำนึงถึงเรื่องสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาที่ยั่งยืน

โรเฌต์ เสริมข้อมูลว่า เช่นเดียวกันกับ Black Cycle ที่ใช้ในอุตสาหกรรมยางล้อ ก็มีอีกคำที่สอดคล้องกันคือคำว่า White Cycle ซึ่งใช้กับอุตสาหกรรมพลาสติก ซึ่งผู้เล่นสำคัญไม่ได้นับรวมแค่ผู้ผลิตพลาสติก แต่ยังรวมถึงอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่ใช้พลาสติกเป็นส่วนประกอบ เช่น ผู้ผลิตเสื้อผ้าแบรนด์ฟาสต์แฟชั่นสัญชาติสเปนอย่าง ZARA ที่ต้องใช้โพลีเอสเตอร์ในการผลิตเสื้อผ้า ก็ถือเป็นผู้ใช้พลาสติกรายใหญ่ และเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการ White Cycle ที่ร่วมกันจับตา และกำกับผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมที่มีต่อสิ่งแวดล้อมด้วย