มีคำถามยอดฮิตในหมู่นักสะสม ว่าพระสมเด็จวัดระฆังฯเริ่มสร้างปีไหนกันแน่

ถ้าอ้างตามตำรา ตรียัมปวาย ก็ต้องบอกว่า ปี พ.ศ. 2409 ...

ตรียัมปวาย อ้างถึงบันทึกของพระอาทรพัตรพิสิฐ (เล็ก อุณหะนันท์) ที่ได้สัมภาษณ์พระธรรมถาวร (ช่วง จันทโชติ) ศิษย์ใกล้ชิด ท่านเจ้าประคุณสมเด็จโต ไว้ในหนังสือปริอรรถาธิบายแห่งพระเครื่อง เล่มที่ 1 ว่า “เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ได้เริ่มสร้างพระสมเด็จฯ ของท่านขึ้น เมื่อตัวเจ้าคุณพระธรรมถาวรบวชได้ 2 พรรษาแล้ว ... (เจ้าคุณพระธรรมถาวร อุปสมบท เมื่อ พ.ศ. 2407 โดยมีท่านเจ้าประคุณสมเด็จโต เป็นพระอุปัชฌาย์)”

น่าสนใจว่า “พระสมเด็จฯ” ข้างต้นนี้หมายความว่าอย่างไร และก่อนปี พ.ศ. 2409 ท่านเจ้าประคุณฯ ได้มีการสร้างพระเครื่องอื่นๆ ไว้หรือไม่ ...

ตรียัมปวาย ได้กล่าวถึงการสร้าง “พระพิมพ์หลวงพ่อโต” โดยอ้างถึงคำกล่าวของนายกนก สัชชุกร ที่ได้สัมภาษณ์พระธรรมถาวรว่า “เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ได้สร้าง (พระพิมพ์หลวงพ่อโต) ไว้ตั้งแต่ยังครองสมณศักดิ์ที่พระธรรมกิตติ แล้วติดแผ่นกระดานไว้ในโบสถ์วัดระฆังฯ เตรียมจะประดับฝาผนังโบสถ์ ...”

และยังอ้างถึงคำกล่าวของ พระราชธรรมภาณี เจ้าอาวาสวัดระฆังฯ ไว้ด้วยว่า “เจ้าคุณเฒ่า (พระธรรมถาวร) เคยเล่าว่า เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ได้สร้างพระหลวงพ่อโตเนื้อดินเผาขึ้นในระยะแรกๆ ก่อนที่จะสร้าง พระสมเด็จฯ แบบสี่เหลี่ยม ... มีลักษณะสัณฐานแตกต่างกับหลวงพ่อโต วัดกระทิง อยุธยา เป็นอันมาก ของเจ้าพระคุณฯ นั้น มีขนาดย่อมกว่าประมาณ 1 ใน 3 กรอบค่อนข้างเรียวชลูด ยอดแหลม ไม่ป้านเหมือนของอยุธยา องค์พระไม่ล่ำสันขึงขัง และพระเกศแบบบัวตูม”

...

(พระหลวงพ่อโต พบที่วัดบางกระทิง จ.พระนครศรีอยุธยา และยังพบตามกรุวัดต่างๆ ทั้งในอยุธยาและจังหวัดใกล้เคียง มีสัณฐานเป็นรูปสามเหลี่ยม นั่งขัดสมาธิราบบนฐานบัวคว่ำบัวหงาย องค์พระคมชัดนูนเด่น พระพักตร์ใหญ่ พุทธศิลป์เป็นฝีมือของช่างสมัยอยุธยา อายุกว่า 400 ปี)

หนังสือทำเนียบพระราชาคณะกรุงรัตนโกสินทร์ ของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ บันทึกไว้ว่า ท่านเจ้าประคุณฯ ได้รับการแต่งตั้งเป็นพระราชาคณะที่ พระธรรมกิตติ เมื่อปี พ.ศ. 2395 และต่อมาอีก 2 ปี ในปี พ.ศ. 2397 ท่านได้รับการแต่งตั้งเป็นพระราชาคณะชั้นผู้ใหญ่ที่ พระเทพกวี แล้วจึงได้รับสถาปนาเป็นที่ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) เมื่อปี พ.ศ. 2407

(อาจารย์ประกิต หลิมสกุล หรือ “พลายชุมพล” แห่งหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ กรุณาให้ข้อมูลว่า ในสมัยนั้น พระราชาคณะชั้นเทพ จะสูงกว่า ชั้นธรรม ก่อนที่จะมีการเปลี่ยนแปลงต่อมาในยุคหลัง)

ซึ่งหมายถึงว่าท่านเจ้าประคุณฯ ได้เคยสร้างพระเครื่องพิมพ์อื่นที่ไม่ใช่สี่เหลี่ยมชิ้นฟัก ในช่วงก่อนปี พ.ศ. 2409 เช่นพระพิมพ์ “หลวงพ่อโต” ไว้ด้วยเช่นกัน และได้เริ่มสร้างพระสมเด็จฯ แบบสี่เหลี่ยม ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2409 เป็นต้นมา จนถึง ปี พ.ศ. 2415 ซึ่งเป็นปีที่ท่านละสังขาร ...

คำว่า พระสมเด็จฯ แบบสี่เหลี่ยม จึงน่าจะหมายถึง พระเครื่องที่สร้างโดยท่านเจ้าประคุณฯ หลังจากได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จพระราชาคณะแล้วนั่นเอง

จากข้อมูลเหล่านี้ “ศาสตร์แห่งพระสมเด็จ” ขออนุญาตนำเสนอแนวทางการแบ่งยุค ของพระเครื่องที่ท่านเจ้าประคุณฯ เป็นผู้สร้าง ออกเป็น 2 ยุค เรียกว่า เป็นยุคก่อนได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จพระราชาคณะหรือ ยุคพระพิมพ์ และยุคหลังได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จพระราชาคณะหรือ ยุคพระสมเด็จฯ แบบสี่เหลี่ยม

ข้อมูลพยานหลักฐานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับพระเครื่องที่ท่านเจ้าประคุณฯ สร้าง ในยุคก่อนได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จพระราชาคณะ (ยุคพระพิมพ์) นั้นมีน้อยมาก สันนิษฐานว่า ท่านเจ้าประคุณฯ และญาติโยมที่เกี่ยวข้อง น่าจะสร้างตามรูปแบบของพระเครื่องหรือพระพิมพ์ ที่มีมาแต่ก่อน และเป็นที่เคารพศรัทธา ในยุคนั้น เช่นพระพิมพ์หลวงพ่อโตวัดบางกระทิง ตามที่ปรากฏในหนังสือของ ตรียัมปวาย หรืออาจจะเป็นพระพิมพ์อื่นเช่น พระรอดลำพูน หรือพระกำแพงซุ้มกอ ที่มีการสร้างมาก่อนหน้านั้นแล้วหลายร้อยปีก็เป็นไปได้ ...

ในส่วนของพระเครื่องที่ท่านสร้างในยุคหลัง คือหลังจากได้รับสถาปนาเป็นที่ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) หรือที่เรียกว่า พระสมเด็จฯ แบบสี่เหลี่ยม นั้น มีผู้แต่งหนังสือตำรา อธิบายถึงพิมพ์พระสมเด็จฯ แบบต่างๆ ไว้มากมายหลายเล่ม

หนังสือปริอรรถาธิบายแห่งพระเครื่องฯ เล่มที่ 1 ของ ตรียัมปวาย ได้สรุปความในเรื่องนี้ จากผู้ที่ได้สัมภาษณ์พระธรรมถาวร เช่น พระอาจารย์ขวัญ “วิสิฏโฏ” พระอาทรพัตรพิสิฐ และนายกนก สัชชุกร ไว้ว่า “แต่เดิมนั้นชาวบ้านต่างพากันแกะแม่พิมพ์ของตนมาเอง และมาช่วยกันแกะพิมพ์พระ ต่อมาเจ้าประคุณสมเด็จฯ ได้ให้นายเทดแกะแม่พิมพ์แบบสี่เหลี่ยมขึ้นก่อน และชาวบ้านก็แกะเป็นพิมพ์สี่เหลี่ยมขึ้นบ้าง ตอนนี้เข้าใจว่าเจ้าพระคุณคงจะได้แกะแม่พิมพ์แบบสี่เหลี่ยมเป็นตัวอย่างขึ้นมาก่อน คือได้แก่พิมพ์ทรงเศียรบาตรอกครุฑ นอกจากนั้นก็คือ สมเด็จฯ กรมพระบำราบปรปักษ์ อีกทั้งเจ้าวังหลังพระองค์หนึ่ง รับราชการในกรมช่างสิบหมู่ ก็ได้ทรงช่วยแบบพิมพ์สี่เหลี่ยมด้วย และในที่สุด หลวงวิจารณ์เจียรนัย ช่างทองหลวง ได้ดัดแปลงแก้ไขโดยออกแบบแม่พิมพ์ที่ทันสมัยขึ้น ถวายเจ้าพระคุณสมเด็จฯ และเจ้าพระคุณสมเด็จฯ ก็ได้ใช้สร้างพระสมเด็จฯ ตลอดมาและเลิกสร้างจากแม่พิมพ์เก่านั้นเสีย”

...

กล่าวโดยสรุป ในปัจจุบัน พระสมเด็จฯ ที่พอจะหาพยานหลักฐาน ไม่ว่าจะเป็นพยานวัตถุหรือเอกสารตำรา มาสนับสนุนว่าเป็นพระสมเด็จฯ ที่สร้างโดยท่านเจ้าประคุณฯ จะเป็นพระสมเด็จฯ แบบสี่เหลี่ยมเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นพระสมเด็จฯ แบบสี่เหลี่ยม รุ่นแรกๆ แบบพิมพ์ทรง 5 ชั้น 6 ชั้น และ 7 ชั้น (พระสมเด็จเกศไชโย) หรือพระสมเด็จฯ รุ่นที่สร้างหลังจากนั้น ที่เป็นแบบฐาน 3 ชั้น (พระสมเด็จวัดระฆังฯ, พระสมเด็จวัดบางขุนพรหม) ในส่วนของพระพิมพ์อื่นที่สร้างโดยท่านเจ้าประคุณฯ นั้น หลักฐานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ยังมีอยู่อย่างจำกัด การพิสูจน์ว่าเป็นพระที่สร้างโดยท่านเจ้าประคุณฯ หรือไม่นั้น ยังทำได้ค่อนข้างยาก

รายละเอียดเพิ่มเติมสามารถหาอ่านได้ที่ เพจเฟสบุ๊ค พระสมเด็จศาสตร์ ขอขอบคุณ ผู้ช่วยศาสตราจารย์รังสรรค์ ต่อสุวรรณ ที่กรุณาเอื้อเฟื้อรูป พระสมเด็จวัดระฆังฯ องค์ครู อีกองค์หนึ่ง เพื่อให้ความรู้ และขอขอบคุณท่านเจ้าของพระท่านปัจจุบัน พระองค์นี้เป็นพระสมเด็จวัดระฆังฯ พิมพ์ใหญ่ ที่งดงามมากอีกองค์หนึ่ง เป็นองค์ต้นแบบที่ดีเพื่อใช้ในการศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับพระสมเด็จวัดระฆังฯ

@@@@@@

ผู้เขียน พ.ต.ต.คมสัน สนองพงษ์ อดีตตำรวจพิสูจน์หลักฐาน
เพจเฟสบุ๊ค – พระสมเด็จศาสตร์