พระสมเด็จวัดระฆังฯ ของท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) วัดระฆังโฆสิตาราม พระเครื่องยอดนิยมอันดับหนึ่งของประเทศไทยนั้น ถือว่าเป็นพระเครื่องที่มีพุทธศิลป์พิมพ์ทรงและเนื้อหา งดงามโดดเด่นเป็นที่สุดองค์หนึ่ง เมื่อเทียบกับพระเครื่องอื่น ๆ ที่เคยมีมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน แม้จะผ่านกาลเวลามามากกว่า 150 ปีแล้ว ...
เมื่อพิจารณาโดยละเอียด ยังพบว่าในตำหนิพิมพ์ทรงนั้น ผู้แกะแม่พิมพ์มีการซ่อนลักษณะพิเศษบางอย่างที่เป็นปริศนา เหมือนกับรหัสลับดาวินชีเอาไว้เช่นกัน ...
แต่ก่อนที่จะนำท่านผู้อ่านไปร่วมไขปริศนาที่ถูกซ่อนเร้นเอาไว้มาเป็นระยะเวลายาวนาน “ศาสตร์แห่งพระสมเด็จ” จะขอกล่าวถึงองค์ความรู้ที่ครูอาจารย์ผู้ชำนาญการหลายท่านได้เคยอรรถาธิบายถึงลักษณะเฉพาะ ตำหนิพิมพ์ทรงของพระสมเด็จวัดระฆังฯ ให้ทราบเป็นเบื้องต้นเสียก่อน
“ตรียัมปวาย” ได้กล่าวไว้ในหนังสือ ปริอรรถาธิบายแห่งพระเครื่องฯ เล่มที่ 1 ไว้ว่า พระสมเด็จวัดระฆังฯ พิมพ์พระประธาน (พิมพ์ใหญ่) นั้น แบ่งออกได้เป็น 6 พิมพ์ทรง ประกอบด้วย พิมพ์เขื่อง พิมพ์โปร่ง พิมพ์ชะลูด พิมพ์ป้อม พิมพ์สันทัด และพิมพ์ย่อม โดยอธิบายตามแนวลักษณะ 6 ประการคือ พุทธลักษณะ แบบพระอาสนะ ซุ้มประภามณฑล ผนังคูหา ทรงกรอบ และชายกรอบ ... อาจารย์ประกิต หลิมสกุล หรือ “พลายชุมพล” แห่งหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ได้นำมาอธิบายขยายความให้ความรู้อยู่หลายครั้งในคอลัมน์ “ปาฏิหาริย์จากหิ้งพระ”
...
“นิรนาม” ผู้ชำนาญการพระสมเด็จ ได้แยกพระสมเด็จพิมพ์ใหญ่ออกเป็น 4 แบบ คือพิมพ์พระประธาน พิมพ์อกวี พิมพ์อกกระบอก และพิมพ์เกศทะลุซุ้ม และได้สรุปตำหนิสำคัญ 11 ประการ ไว้ในนิตยสารพรีเชียส สเปเชียล ของอาจารย์รังสรรค์ ต่อสุวรรณ พิมพ์เมื่อปี พ.ศ. 2539 สรุปโดยย่อได้ดังนี้
ตำหนิที่ 1 กรอบนอกองค์พระสี่ด้าน เป็นเส้นนูน เฉพาะเส้นกรอบด้านซ้ายองค์พระ แล่นลงมาถึงระหว่างข้อศอกองค์พระ แล้วจมหายไปกับเส้นซุ้ม
ตำหนิที่ 2 กรอบแม่พิมพ์ด้านขวา (องค์พระ) เป็นเส้นนูนแล่นลงมาตลอด ชิดกับเส้นซุ้มด้านล่างสุด
ตำหนิที่ 3 เส้นซุ้มเรือนแก้ว เป็นเส้นค่อนข้างใหญ่นูน คล้ายเส้นหวายผ่าซีก ด้านในเส้นซุ้มเป็นเส้นตั้งจากพื้น พื้นองค์พระนอกเส้นซุ้มจะเทลาดเอียงเล็กน้อย
ตำหนิที่ 4 พระพักตร์ เป็นเหมือนผลมะตูม
ตำหนิที่ 5 มีหูทั้งสองข้าง แต่บางองค์ติดไม่ชัด
ตำหนิที่ 6 ตรงส่วนโค้งลำแขนติดหัวไหล่ หัวไหล่ขวาจะมีเนื้อหนากว่าหัวไหล่ซ้าย
ตำหนิที่ 7 หัวเข่าซ้ายองค์พระ นูนสูงกว่าหัวฐานชั้นแรก
ตำหนิที่ 8 หัวเข่าขวาจะนูนต่ำกว่าหัวฐานชั้นแรก
ตำหนิที่ 9 องค์พระจะหันตะแคงไปทางด้านขวามือองค์พระเล็กน้อย และฐานชั้นที่ 1 2 3 จะหันไปทางซ้ายมือองค์พระ สลับกันกับการตะแคงขององค์พระ
ตำหนิที่ 10 พื้นผนังระหว่างฐานทั้งสามชั้น พื้นผนังระหว่างฐานชั้นที่ 1 กับฐานชั้นที่ 2 สูงเสมอกับพื้น ส่วนพื้นผนังระหว่างพระเพลากับฐานชั้นที่ 1 และพื้นผนังระหว่างฐานชั้นที่ 2 กับฐานชั้นที่ 3 จะสูงกว่าพื้นผนังองค์พระ
ตำหนิที่ 11 พื้นนอกซุ้มจะสูงกว่าพื้นในซุ้มเล็กน้อย จนดูแทบไม่เห็น ต้องตะแคงพระดูจึงพอเห็นเป็นเส้น
ตำหนิพิมพ์ทรงหลายๆ ประการ ที่ครูอาจารย์รุ่นก่อน ได้ชี้ให้เห็น ก่อให้เกิดคำถาม เป็นปริศนา กับผู้ที่สนใจว่า ทำไมต้องเป็นเช่นนั้น ในการที่จะไขปริศนาเหล่านี้นั้น จะต้องรู้ว่า ผู้แกะแม่พิมพ์เป็นใคร มีแรงจูงใจอะไรในการสรรค์สร้างงานศิลปกรรมเหล่านี้ ...
ตรียัมปวาย ได้อ้างถึงบันทึกการสัมภาษณ์ พระธรรมถาวร ศิษย์ใกล้ชิด ท่านเจ้าประคุณสมเด็จโต วัดระฆังฯ ของ นายกนก สัชชุกร ไว้ว่า “... หลวงวิจารณ์เจียรนัย ช่างทองหลวงในราชสำนักรัชกาลที่ 4 ได้มาเยี่ยมเจ้าประคุณสมเด็จฯ และได้ขอพิจารณาแม่พิมพ์ที่ใช้สร้างพระสมเด็จฯ มาแต่เดิม ... และว่า แม่พิมพ์เหล่านี้ยังไม่งดงาม ... เพราะขาดคุณค่าทางศิลปะเป็นอันมาก แล้วจึงได้แกะพิมพ์ขึ้นใหม่ถวายเจ้าประคุณสมเด็จฯ 2-3 แบบ ซึ่งงดงามกว่าเก่ามาก และเจ้าประคุณสมเด็จฯ ได้ใช้แม่พิมพ์ใหม่ๆ นี้ พิมพ์พระสมเด็จตลอดมา”

พระสมเด็จวัดระฆังฯ “องค์ครู” ที่ถือว่าเป็นองค์ต้นแบบนั้น มีความวิจิตรมาก ถ้าว่าตามตำราของ ตรียัมปวาย ก็เรียกว่าเป็นฝีมือระดับ “ช่างทองหลวง” ส่วนประเด็นที่ว่า หลวงวิจารณ์เจียรนัย จะมีตัวตนหรือไม่นั้น ไม่สำคัญเท่ากับว่า พระสมเด็จวัดระฆังฯ ที่เกิดจากฝีมือการแกะแม่พิมพ์ระดับช่างเทวดานั้นมีปรากฏให้เห็นอยู่จริง ...
...
รูปแบบของการสร้างพระสมเด็จวัดระฆังฯ ที่มีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยมชิ้นฟัก ส่วนหนึ่งน่าจะได้รับอิทธิพลมาจาก พระสมเด็จอรหัง ที่สร้างโดย สมเด็จพระสังฆราชญาณสังวร (สุก ไก่เถื่อน) พระอาจารย์ของท่านเจ้าประคุณฯ เอง
และต่อมาเมื่อช่างทองหลวงได้เข้ามาช่วยสร้างแม่พิมพ์ พบว่าได้นำเอาทฤษฎีศิลปะตะวันตกเข้ามาประยุกต์ใช้ในการแกะแม่พิมพ์ด้วย โดยใช้หลักของประติมากรรมนูนต่ำ ผสมผสานกับหลักทัศนียภาพ (การเขียนภาพให้ได้ส่วนสัด เช่นเดียวกับที่เห็นด้วยตาจริง หรือแบบ 3 มิติ)
ในช่วงสมัยรัชกาลที่ 4 ต่อเนื่องจนถึงสมัยรัชกาลที่ 5 นั้น งานศิลปกรรมของไทยได้รับอิทธิพลจากการที่ตะวันตกได้เข้ามายังประเทศไทย และยังส่งผลทำให้เกิดการส่งเสริมศิลปะรูปแบบใหม่ที่เกิดจากศิลปะตะวันตกผสานเข้ากับของเดิมของไทย ซึ่งส่วนหนึ่งน่าจะเกิดจากการปรับตัวของช่างสิบหมู่รวมถึงช่างทองหลวงในราชสำนักด้วยเช่นกัน นำไปสู่การแกะแม่พิมพ์พระสมเด็จกลุ่มองค์ครู ที่งดงามและมีความก้าวหน้าล้ำยุค อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนในงานศิลปกรรมพระเครื่องของไทยในยุคนั้น แม้กระทั่งจนถึงปัจจุบัน ...
เมื่อพิจารณาพระสมเด็จวัดระฆังฯ องค์ครูที่เป็นกลุ่มพิมพ์ใหญ่ จะพบว่ามีลักษณะพิเศษที่ต่างจากกลุ่มพิมพ์อื่นอีกสี่พิมพ์ ที่ประกอบด้วย พิมพ์ทรงเจดีย์ พิมพ์ฐานแซม พิมพ์เกศบัวตูม และพิมพ์ปรกโพธิ์ กล่าวคือพิมพ์อื่นยกเว้นพิมพ์ใหญ่เมื่อมองตรงๆ จากด้านหน้า จะมีลักษณะค่อนข้างสมมาตรทั้งในส่วนของเส้นซุ้มผ่าหวาย องค์พระ และฐานพระทั้งสามชั้น แต่พิมพ์ใหญ่เมื่อมองตรงๆ จากด้านหน้าจะมีลักษณะไม่สมมาตรโดยไล่ลงมาตั้งแต่การวางตัวของพระเกศ ลำพระองค์ ฐานทั้งสามชั้น เส้นซุ้มผ่าหวาย แม้กระทั่งเส้นกรอบกระจกที่ครอบรอบเส้นซุ้มผ่าหวาย
แต่เมื่อทดลองหมุนตะแคงองค์พระทวนเข็มนาฬิกา ไปประมาณ 30-45 องศา แล้วมองตรงๆ จากมุมเดิมจะพบว่า พระสมเด็จวัดระฆังฯ จะมีลักษณะเข้าสู่สมมาตร ทั้งในส่วนของกรอบกระจกหรือกรอบแม่พิมพ์ ... เส้นซุ้มผ่าหวาย (ที่เดิมบริเวณท่อนบนด้านขวามือองค์พระจะสอบเข้า) ... ตัวองค์พระ (ทั้งในส่วนของพระเกศที่เดิมจะค่อนไปทางซ้ายมือองค์พระ, พระพักตร์ที่เดิมเทลาดเหมือนผินพระพักตร์มาทางขวามือองค์พระ, หูซ้ายองค์พระที่ติดรำไรแต่หูขวามักไม่ติดเนื่องจากหูขวาจมลงไปในผนังจากการที่มีการผินพระพักตร์ไปทางขวา, ลำตัวพระที่เดิมเหมือนกับมีการบิดตัวไปในทิศทางเดียวกับการผินพระพักตร์, พระชานุ (เข่า) และพระชงฆ์ (หน้าแข้ง) ที่เดิมจะสูงเด่นขึ้นมาทางด้านซ้ายมือองค์พระ) ... และท้ายสุดคือฐานพระ ที่ปกติถ้ามองตรงๆ จากด้านหน้าจะไม่สมมาตรแต่เมื่อหมุนตะแคงแล้วจะมีความสมมาตรปรากฏให้เห็นทั้งสามชั้น …
...
การที่องค์พระเมื่อมองตรงๆ จากด้านหน้าแล้วไม่สมดุล แต่เมื่อหมุนตะแคงแล้วเกิดความสมดุลนั้นเกิดจากการที่ ช่างผู้ออกแบบได้จินตนาการว่าได้มององค์พระประธานจากการนั่งบนพื้นพระอุโบสถแล้วมองจากด้านหน้าค่อนไปทางซ้ายมือขององค์พระประธาน ซึ่งเป็นการมองตามหลักทัศนียภาพ นั่นเอง
กล่าวโดยสรุปแบบง่ายๆ หลักของทัศนียภาพ มีหลักสำคัญดังนี้คือ
1. วัตถุที่มีขนาดเท่ากันเมื่ออยู่ไกลตัวออกไปจะมีขนาดเล็กหรือสั้นลง
2. เส้นที่คู่ขนานกันเมื่อไกลออกไปจะพุ่งไปสู่จุดรวม
3. วัตถุต่างๆ เมื่ออยู่ไกลตัวออกไป จะมีรายละเอียดและความชัดเจนลดลงไปตามลำดับ
ที่น่าสนใจมากก็คือ ทฤษฎีนี้สามารถอธิบายได้ว่า ทำไมเส้นกรอบแม่พิมพ์ (หรือกรอบกระจก) ด้านซ้ายมือองค์พระแล่นลงมาถึงระหว่างข้อศอกองค์พระ แล้วจมหายไปกับเส้นซุ้ม (ตามที่ระบุไว้ในตำหนิที่ 1) ในทำนองเดียวกัน การที่เส้นซุ้มผ่าหวายในด้านขวามือองค์พระบริเวณท่อนบนสอบเข้าหาองค์พระนั้น ก็เป็นลักษณะของการมองแบบทัศนียภาพเช่นเดียวกัน ลักษณะของเส้นซุ้มที่สอบเข้าดังกล่าวนี้นับว่าเป็นลักษณะของตำหนิที่สำคัญของพระสมเด็จวัดระฆังพิมพ์ใหญ่อีกด้วย (ดูรูปภาพประกอบซุ้มประตูโรมัน)

...
มีข้อสังเกตว่าเส้นกรอบแม่พิมพ์ (หรือกรอบกระจก) ด้านบนจะเอียงลาดขึ้นเล็กน้อยไปทางซ้ายมือองค์พระ และเส้นกรอบแม่พิมพ์ด้านล่างจะเอียงลาดลง (ตรงกับทฤษฎีของเซียนใหญ่สำนักท่าพระจันทร์ ที่เป็นที่ยอมรับในวงการท่านหนึ่ง) โดยที่เส้นกรอบแม่พิมพ์ (หรือกรอบกระจก) เส้นกรอบบนและล่างจะเป็นเส้นคู่กันที่จะค่อยๆ ตีแคบเข้าหากัน และไปเจอกันที่จุดรวมสายตาสมมติ (ที่อยู่ห่างออกไปไกลๆ ด้านขวามือองค์พระ) ซึ่งสอดคล้องกับหลักการมองแบบทัศนียภาพเช่นเดียวกัน
มีตำหนิสำคัญอีกสองเรื่อง ที่ถึงแม้จะหมุนตะแคงองค์พระแล้วจะไม่เข้าสู่สมดุล เรื่องแรกคือการที่องค์พระเมื่อมองตรงๆ จากด้านหน้าแล้วจะเห็นว่าแทนที่จะตั้งตรงจากด้านล่างขึ้นไปด้านบน แต่กลับมีการเอียงโย้ไปทางซ้ายมือองค์พระเล็กน้อย เรื่องนี้อธิบายได้ว่าเกิดจากที่ในการสร้างองค์พระประธานนั้นช่างจะสร้างให้เอนหงายไปด้านหลังเล็กน้อย ดังนั้นเมื่อเรามองแบบทัศนียภาพดังที่กล่าวไว้ก่อนหน้านี้ จึงทำให้เห็นองค์พระเอียงโย้ไปทางขวาเล็กน้อยเช่นกัน ตำหนิสำคัญอีกเรื่องหนึ่งคือการที่ซอกแขนทางด้านซ้ายมือองค์พระจะสูงกว่าซอกแขนทางด้านขวามือองค์พระนั้นสามารถอธิบายได้ด้วยเหตุผลที่ว่า เมื่อมององค์พระจากทางด้านหน้าค่อนมาทางซ้ายมือองค์พระแล้ว ซอกแขนทางด้านขวามือองค์พระจะถูกสีข้างลำพระองค์บดบังทำให้เห็นว่ามีความสูงน้อยกว่าที่ควรจะเป็นนั่นเอง …
ยังมีตำหนิพิมพ์ทรงสำคัญอีกหลายจุด ที่สามารถอธิบายได้ด้วยทฤษฎีนี้ ผู้ที่สนใจสามารถเข้าไปอ่านเพิ่มเติมได้ที่ เพจเฟซบุ๊ก “พระสมเด็จศาสตร์”
“ศาสตร์แห่งพระสมเด็จ” เชื่อว่าการพิจารณาพระสมเด็จวัดระฆังฯ ด้วยหลักการนี้จะสามารถช่วยในการพิจารณาตำหนิพิมพ์ทรงพระสมเด็จวัดระฆังฯ ได้อย่างรวดเร็วและสามารถแยกแยะพระสมเด็จฯ กลุ่มพิมพ์ทรงนิยมออกจากกลุ่มอื่นได้อย่างไม่ยากนัก
สำหรับรูปพระสมเด็จวัดระฆังฯ องค์ครูในคอลัมน์ ขอขอบคุณ ผู้ช่วยศาสตราจารย์รังสรรค์ ต่อสุวรรณ ที่ได้กรุณาเอื้อเฟื้อ เพื่อใช้ในการให้ความรู้ และขอขอบคุณท่านเจ้าของพระท่านปัจจุบัน พระสมเด็จวัดระฆังฯ องค์ครู องค์นี้ถือว่าเป็นองค์ที่มีความงดงามและมีชื่อเสียงที่สุดองค์หนึ่งของวงการ เป็นองค์ต้นแบบที่ดีอีกองค์หนึ่งเพื่อการศึกษาพระสมเด็จวัดระฆังพิมพ์ใหญ่สำหรับท่านผู้สนใจ
ผู้เขียน พ.ต.ต.คมสัน สนองพงษ์ อดีตตำรวจพิสูจน์หลักฐาน
เพจเฟซบุ๊ก – พระสมเด็จศาสตร์