ทฤษฎี “นิรนาม” สำนักท่าพระจันทร์ พระสมเด็จวัดระฆัง พิมพ์ทรงเจดีย์ องค์ในคอลัมน์วันนี้ เป็นพิมพ์ที่ 3 สภาพองค์พระผ่านการใช้ สึกช้ำ เปิดให้เห็นเงาสว่างจากผิวในของเนื้อสีขาวอมเหลือง (สีนมข้น)
ตัดกับพื้นผนัง ที่ยังเหลือ“รักดำหนา” เส้นสายลายพิมพ์องค์พระจึงลอยเด่น มองเห็นทะลุถึงความ“หนึกนุ่มซึ้ง” ชัดเจนขึ้น
กรณีของ “ความหนึก” ครู“ ตรียัมปวาย” อธิบายว่า เป็นมูลฐานของเนื้อที่เข้าใจได้ค่อนข้างยาก เพราะโดยเนื้อแท้ของความหนึก ย่อมไม่ปรากฏรูปลักษณะโดยแน่ชัด
หากเป็นมูลลักษณะผสมผสานกันระหว่างความละเอียด ความนุ่ม ความแกร่ง และน้ำหนัก
ดังนั้น ความหนึกจึงปรากฏคล้ายกึ่งรูปธรรมกับนามธรรม อาจกล่าวได้ว่า ความหนึก คือลักษณะความเก่าของเนื้อแท้ คู่กับความซึ้ง ซึ่งมีความหมายมากที่สุดทางทรรศนีย์
การเข้าถึงความหนึก ย่อมหมายความว่า เป็นการเข้าถึงทรรศนีย์ความซึ้งได้กึ่งหนึ่ง
อีกครึ่งหลังเป็นเรื่องของความซึ้ง โดยทั่วไป เนื้อวัดระฆังเป็นความหนึกนุ่ม และเนื้อของวัดบางขุนพรหม เป็นความหนึกแกร่ง
ครูยังอธิบายลงลึกไปถึงการทดสอบความหนึก...เนื่องจากความหนึกไม่ปรากฏลักษณะของตัวเองเป็นเอกเทศ ฉะนั้น จึงไม่อาจทดสอบได้โดยตรง
แต่อาจใช้การเปรียบเทียบจากผลการทดสอบความนุ่ม และความแกร่ง ดังต่อไปนี้
1. จักษุสัมผัส คือการใช้สายตาประกอบกับแว่นขยายตามปกติ และกรรมวิธีความแห้งบริสุทธิ์
ถ้าเป็นประเภทเนื้อหนึกนุ่ม ก็จะสังเกตเห็นความหนั่นแน่นนุ่มนวล และฝ้าขาวนวลของแป้งโรยพิมพ์ หรือถ้าปรากฏการล่อนหลุดของรักเก่า แต่ไม่แตกลายงา หรือเป็นเนื้อที่มีความฉ่ำซึ้งจัด กอปรด้วยเงาสว่างสดใสกระจ่าง ที่มีสภาพมิติที่สามของเนื้อ
...
เหล่านี้แสดงถึงคุณลักษณะของเนื้อประเภทหนึกนุ่ม
สำหรับประเภทของเนื้อหนึกแกร่งจะปรากฏตรงข้าม คือผิวเนื้อมีลักษณะเป็นผิวปูนแกร่ง ปราศจากผิวแป้งโรยพิมพ์ หรือปรากฏเพียงบางๆตามซอกๆเท่านั้น
2.โผฏฐัพสัมผัสการใช้ปลายนิ้วที่สะอาดลูบสัมผัสเบาๆ ถ้าเป็นประเภทเนื้อหนึกนุ่ม จะสัมผัสความนุ่มของเนื้อได้จาก ความฝืดของผิวที่เกิดจากเงาสว่าง
แต่ถ้าเป็นประเภทเนื้อหนึกแกร่ง ผัสสะที่ได้รับจะไม่นุ่มนวล ถ้าใช้นิ้วมือบีบเบาๆ จะสัมผัสความแกร่ง อันเกิดจากพลังโยงยึดของเนื้อได้อย่างชัดเจน
3. โสตสัมผัส คือการฟังเสียงกระทบ ดังได้กล่าวแล้วแต่ข้างต้นว่า เนื้อประเภทหนึกนุ่มจะปรากฏเสียงเข้มหนักแน่น จังหวะของ “กริ๊ก” ห่างกว่าของเนื้อ นึกแกร่ง และความไหวพลิ้วก็น้อยกว่า
ส่วนประเภทเนื้อหนึกแกร่ง จะได้เสียงกระทบสดใสกังวานมาก และความไหวพลิ้วถี่มาก
อ่านคำอธิบายเรื่องความหนึกของครูแล้ว ก็คงพอเห็นได้ ทรงเจดีย์องค์ในคอลัมน์ เป็นองค์ครูของเนื้อประเภทหนึกนุ่ม
ส่วนด้านหลังองค์พระ สภาพของผิวพื้นยังปรากฏเนื้อรักที่หลุดลอกไม่หมดประปราย จึงกลบริ้วรอยธรรมชาติ เช่น หลุมร่อง รอยยุบรอยแยก ไปเสียมาก
แต่ถึงกระนั้น ก็ยังเห็นสภาพที่คนเป็นพระเรียก“หลังทื่อ” ยืนยันความเป็นหลังพระสมเด็จวัดระฆังพิมพ์ทรงเจดีย์แท้ส่วนใหญ่ได้อีกทางหนึ่ง.
พลายชุมพล
คลิกอ่านคอลัมน์ “ปาฏิหาริย์จากหิ้งพระ” เพิ่มเติม