“พระสมเด็จวัดระฆังฯ” ที่สร้างโดยท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) วัดระฆังโฆสิตาราม กรุงเทพฯนั้น ถือกันว่าเป็นจักรพรรดิแห่งพระเครื่อง เป็นหนึ่งในพระชุดเบญจภาคี (ประกอบด้วย พระสมเด็จฯ พระรอด พระนางพญา พระกำแพงซุ้มกอ พระผงสุพรรณ) เป็นที่สุดแห่งความปรารถนา ของบรรดานักสะสมพระเครื่องตั้งแต่ชาวบ้านร้านตลาด จนถึงระดับอภิมหาเศรษฐี มีมูลค่าที่เพิ่มขึ้นตามระยะเวลา

อาจารย์ประกิต หลิมสกุล คอลัมนิสต์อาวุโส หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ผู้เชี่ยวชาญพระเครื่องระดับประเทศ กรุณาอธิบายให้ฟังว่า พระสมเด็จฯนั้น มีรังสี (คุณวิเศษ) 5 คือด้านเมตตามหานิยม ด้านลาภผล ก้าวหน้าในการงาน แคล้วคลาดคงกระพันชาตรี...

ด้วยความฮิตติดลมบน ปัจจุบันมีพระสมเด็จฯ ปรากฏออกมาเป็นจำนวนมาก มีตั้งแต่ราคาหลักร้อยจนถึงหลักหลายๆ ล้าน ถามใครก็ต่างบอกว่าของตัวเองแท้ทั้งนั้น ... มีผู้พยายามนำหลักการทฤษฎีต่างๆ มาเพื่ออธิบาย ซึ่งจะเชื่อหรือไม่เชื่อก็แล้วแต่พื้นฐานมุมมองของแต่ละคน แต่ความจริงย่อมมีเพียงหนึ่งเดียว

“ศาสตร์แห่งพระสมเด็จ” ขอนำเสนอแนวทางพิจารณาพระสมเด็จวัดระฆังฯตามหลักการพิสูจน์หลักฐาน เพื่อเป็นอีกแนวทางหนึ่งให้ท่านได้นำไปพิจารณา ...

หลักสำคัญก็คือ “เมื่อต้องการจะพิสูจน์ของสิ่งใดว่าเป็นของแท้หรือของเก๊ จะต้องมีของแท้หรือต้นแบบ เพื่อใช้ในการเปรียบเทียบ” เช่นถ้าต้องการจะพิสูจน์ว่าธนบัตรของท่านเป็นของจริงหรือของปลอม ก็จำเป็นที่จะต้องมีธนบัตรของจริงหรือต้นแบบไว้อ้างอิง ... ในกรณีของพระสมเด็จวัดระฆังฯ ความยากก็คือ พระสมเด็จวัดระฆังฯ มีอายุการสร้างมามากกว่า 150 ปี (ท่านเจ้าประคุณฯ ละสังขารเมื่อปี พ.ศ. 2415) การหาพยานหลักฐานต่างๆมาเพื่อใช้ยืนยันพระสมเด็จต้นแบบ หรืออาจจะเรียกว่า “พระสมเด็จองค์ครู” นั้นทำได้ค่อนข้างยาก พยานหลักฐานที่มีเป็นพยานบอกเล่า ที่มาในรูปแบบของบันทึกเอกสารข้อมูลเป็นส่วนใหญ่ ที่น่าสนใจ มีอาทิเช่น

...

  • หนังสือ "ประวัติขรัวโต" ที่แต่งโดย พระยาทิพโกษา (สอน โลหนันทน์) เมื่อปี พ.ศ. 2473 เป็นบันทึกเกี่ยวกับประวัติท่านเจ้าประคุณฯ ชิ้นแรกๆ ที่มีปรากฏ
  • หนังสือตำราพิจารณาพระสมเด็จฯ ปริอรรถาธิบายแห่งพระเครื่องฯ เล่มที่ 1 ของตรียัมปวาย (พันเอกผจญ กิตติประวัติ) พิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2495 มีการรวบรวมบันทึกจากผู้ที่ได้เคยสอบถาม พระธรรมถาวร (ช่วง จันทโชติ) ศิษย์ผู้ใกล้ชิดของ ท่านเจ้าประคุณฯ หนังสือเล่มนี้เป็นที่นิยมอย่างกว้างขวางในปัจจุบัน
  • หนังสือประวัติสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) โดย พระมหาเฮง อิฏฐาจาโร แห่งวัดกัลยาณมิตร กล่าวถึงพระสมเด็จวัดระฆังฯ ไว้บ้างไม่มากนัก จะเน้นการถ่ายทอดชีวประวัติของ ท่านเจ้าประคุณฯ เป็นหลัก
  • หนังสือประวัติและเกียรติคุณของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) โดย ฉันทิชัย (ฉันทิชย์ กระแสสินธุ์) ตีพิมพ์เมื่อปี พ.ศ. 2495 ใช้แหล่งข้อมูลในการเขียนจากคำบอกเล่าของบุคคลต่างๆ มีเนื้อหาทั้งหมด 46 ตอน
  • หนังสือที่เกี่ยวกับพระสมเด็จในยุคต่อมาได้มีการทำออกมาอีกหลายเล่ม ที่น่าสนใจคือหนังสือ “อนุสรณ์ครบ 100 ปี สมเด็จพระพุฒาจารย์ โต พรหมรังสี” พ.ศ. 2515, หนังสือ “สามสมเด็จ” ของอาจารย์ประชุม กาญจนวัฒน์ พ.ศ. 2523, หนังสือ “พระยอดนิยม” ของอาจารย์ประจำ อู่อรุณ พ.ศ. 2523, นิตยสาร “Precious” ของผู้ช่วยศาสตราจารย์รังสรรค์ ต่อสุวรรณ พ.ศ. 2538 - พ.ศ. 2542, และหนังสือ “หิ้งพระพลายชุมพล” ของอาจารย์ประกิต หลิมสกุล พ.ศ. 2565

ในส่วนของหลักฐานที่เป็นพยานวัตถุนั้น ที่ค่อนข้างมีน้ำหนักก็คือการพบพระสมเด็จวัดระฆังฯที่ถูกบรรจุไว้ในองค์พระเจดีย์กรุวัดบางขุนพรหมหรือวัดใหม่อมตรส ที่เรียกว่าพระสมเด็จสองคลอง (หรือสองวัด) เมื่อคราวเปิดกรุในปี พ.ศ. 2500 โดยพบร่วมกับพระสมเด็จวัดบางขุนพรหม ... พระสมเด็จสองคลอง จะมีลักษณะเหมือนกับพระสมเด็จวัดระฆังฯทั้งพิมพ์ทรงและเนื้อหา ที่แตกต่างก็คือพระสมเด็จสองคลองจะมีคราบกรุ แต่พระสมเด็จวัดระฆังฯจะไม่มีคราบกรุ

ลายเซ็นพระสมเด็จ วัดระฆังฯ องค์ครู

พระสมเด็จวัดบางขุนพรหม มีประวัติชัดเจนว่าสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2413 โดยเสมียนตราด้วง ต้นตระกูลธนโกเศศ ได้อาราธนาท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) มาเป็นองค์ประธานเพื่อทำพิธีสร้างพระสมเด็จฯ จำนวน 84,000 องค์บรรจุไว้ในกรุองค์พระเจดีย์ใหญ่ โดยได้มีการนำพระสมเด็จวัดระฆังฯที่สร้างก่อนหน้านั้นจำนวนหนึ่งบรรจุลงไปพร้อมกันด้วย

ในทางพิสูจน์หลักฐาน พูดได้ว่า ... ช่างที่ทำการแกะแม่พิมพ์พระสมเด็จวัดระฆังฯ นั้นเป็นช่างชุดเดียวกับที่แกะแม่พิมพ์พระสมเด็จวัดบางขุนพรหม โดยพิจารณาจากพุทธศิลป์พิมพ์ทรง เชิงช่าง ที่มีความใกล้เคียงกัน หรือพูดได้ว่ามีลายเซ็นเดียวกัน ซึ่งมาจากหลักการที่ว่า

“ลายมือเขียนหรือลายมือชื่อของคนแต่ละคนนั้นเกิดจากการฝึกฝนจนเกิดความชำนาญ เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่จะไม่เหมือนกับของคนอื่นได้เลย และในแต่ละคนนั้น เมื่อมีการลงลายมือชื่อในแต่ละครั้งก็จะไม่เหมือนกันเลยอีกเช่นกัน แต่จะมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่เหมือนกันหรือมีความคล้ายกัน ทำให้รู้ว่าเป็นคนๆ เดียวกันที่ลงลายมือชื่อ”

...

อาจารย์ประจำ อู่อรุณ ผู้เชี่ยวชาญพระเครื่องอาวุโสพูดไว้ตรงกันว่า แม่พิมพ์พระสมเด็จวัดระฆังฯและแม่พิมพ์พระสมเด็จวัดบางขุนพรหม ทำที่วัดระฆังฯทั้งหมดโดยช่างชุดเดียวกัน เมื่อสร้างพระสมเด็จฯเสร็จแล้ว จึงนำองค์พระมาบรรจุที่กรุองค์พระเจดีย์ใหญ่ วัดบางขุนพรหม

แม่พิมพ์พระสมเด็จวัดระฆังฯ ละเอียดประณีตมากกว่าแม่พิมพ์พระสมเด็จวัดบางขุนพรหม ที่จะต้องรีบแกะเพื่อสร้างพระเป็นจำนวนมากในเวลาที่จำกัด แม่พิมพ์พระสมเด็จวัดระฆังฯ ประกอบด้วย 5 พิมพ์หลักคือ พิมพ์ใหญ่ พิมพ์ทรงเจดีย์ พิมพ์ฐานแซม พิมพ์เกศบัวตูม และพิมพ์ปรกโพธิ์ แม่พิมพ์พระสมเด็จวัดบางขุนพรหมมีพิมพ์เหมือนกันทั้ง 5 พิมพ์ และมีพิมพ์เพิ่มเติมเฉพาะของวัดบางขุนพรหมอีก 6 พิมพ์คือ พิมพ์เส้นด้าย พิมพ์สังฆาฏิ พิมพ์ฐานคู่ พิมพ์อกครุฑ พิมพ์ฐานสิงห์ และพิมพ์ไสยาสน์

เนื้อพระสมเด็จวัดระฆังฯมีลักษณะเฉพาะตัว มีความหนึกนุ่มหรือหนึกแกร่งแล้วแต่ส่วนผสมที่มีปูนเปลือกหอยเป็นส่วนผสมหลักผสมกับดินสอพอง มีน้ำมันตังอิ้วเป็นตัวประสาน มักจะสังเกตเห็นเม็ดมวลสารเช่นเม็ดพระธาตุ (เม็ดปูนขนาดเล็กมีสีขาวเป็นมัน) ก้อนสีเทา เศษอิฐแดง เศษชิ้นส่วนสีดำของก้านธูป (หรืออาจเป็นขี้เถ้าจากการเผาเปลือกหอย) เศษจีวร เศษไม้ เม็ดทรายเงิน เม็ดทรายทอง เป็นต้น ส่วนพระสมเด็จวัดบางขุนพรหม เนื้อพระจะมีความกระด้างเนื่องจากแก่ปูน พบเห็นเม็ดมวลสารน้อยมากหรือไม่พบเลย

เมื่อประมวลจากพยานหลักฐานเท่าที่มีทั้งในส่วนที่เป็นบันทึกเอกสารต่างๆรวมถึงพยานวัตถุที่เกี่ยวข้อง แล้ววิเคราะห์ตามแนวทางพิสูจน์หลักฐาน น่าเชื่อว่า พระสมเด็จวัดระฆังฯองค์ต้นแบบ หรือองค์ครู เหล่านี้ สร้างโดยท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) เป็นฝีมือเชิงช่างกลุ่มเดียวกัน หรือเรียกว่ามีลายเซ็นเดียวกันเมื่อพิจารณาถึงพุทธศิลป์พิมพ์ทรง มีลักษณะของเนื้อหามวลสารที่ใกล้เคียงกัน มีการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพที่แสดงถึงธรรมชาติความเก่าที่ถึงยุค เรียกว่าเป็นพิมพ์นิยม เนื้อนิยม ปัจจุบันพระสมเด็จวัดระฆังฯในกลุ่มนี้เล่นหากันด้วยมูลค่าที่สูงและมีจำนวนค่อนข้างจำกัด อย่างไรก็ตาม อาจารย์ประกิต หลิมสกุล หรือ “พลายชุมพล” แห่งหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ให้ข้อคิดว่า ไม่ควรที่จะด่วนสรุปว่า พระสมเด็จฯที่มีลักษณะแตกต่างจากกลุ่มนี้เป็นพระสมเด็จฯที่ไม่แท้ การเสาะแสวงหาพยานหลักฐานเพิ่มเติม ที่น่าเชื่อถือ มาช่วยอธิบายถึงพระสมเด็จฯในลักษณะที่แตกต่างกันออกไป จึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง

...

สำหรับรูปพระสมเด็จวัดระฆังฯพิมพ์ใหญ่ ของท่านเจ้าประคุณ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) ที่นำมาโชว์เพื่อให้ความรู้ ในคอลัมน์ ทั้ง 2 องค์นี้ ได้รับความกรุณาเอื้อเฟื้อจาก ผู้ช่วยศาสตราจารย์ รังสรรค์ ต่อสุวรรณ ถือว่าเป็นองค์ต้นแบบ หรือ “องค์ครู” ที่มีความงดงามยิ่ง มีพุทธศิลป์พิมพ์ทรงที่คล้ายกัน หรือเรียกว่ามีลายเซ็นเดียวกัน มีเนื้อหามวลสารที่เป็นลักษณะเฉพาะและมีธรรมชาติความเก่าที่ถึงยุค เป็นต้นแบบที่ดีในการศึกษาทำความเข้าใจพระสมเด็จวัดระฆังฯ สำหรับท่านผู้ที่สนใจ

ผู้เขียน พ.ต.ต.คมสัน สนองพงษ์ อดีตตำรวจพิสูจน์หลักฐาน
เพจเฟสบุ๊ค – พระสมเด็จศาสตร์

@@@@@@@

“ลายมือเขียนหรือลายมือชื่อของคนแต่ละคนนั้นเกิดจากการฝึกฝนจนเกิดความชำนาญ เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่จะไม่เหมือนกับของคนอื่นได้เลย ...

น่าเชื่อว่า พระสมเด็จวัดระฆังฯองค์ต้นแบบ หรือองค์ครู เหล่านี้ สร้างโดยท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) เป็นฝีมือเชิงช่างกลุ่มเดียวกัน หรือเรียกว่ามีลายเซ็นเดียวกัน...”