เดินเข้าตลาดพระช่วงนี้นึกว่าอยู่ตลาดหุ้น เพราะทั้งเซียนพระทีมเหย้าและลูกค้าทีมเยือน คุย (บ่น) แต่เรื่องหุ้นไทย ที่สาละวันเตี้ยลง แล้วก็โทษไปทั่ว ที่ไม่พ้นคือรัฐบาล อะไรก็โดน แต่คนเป็นกลางก็วิเคราะห์ว่า บ้านเรามีปัญหาเรื้อรังซังกะบ๊วยมานานถึง ๙ ปี จากการยึดอำนาจ ทำให้ประเทศไทยถูกชาวโลก ด้อยค่า เพราะยุคนี้ไม่มีใครยอมรับรัฐบาลทหาร แม้ ประชาธิปไตย จะแหว่งวิ่นบ้างก็ยังดีกว่าวุ้ย--ก็ดูปัญหาเพื่อนบ้าน เช่น พม่า ว่าเราอยากอยู่ในสภาพนั้น (อีก) หรือ ก็ต้องรับสภาพ ให้เวลาและให้กำลังใจ ว่าทุกฝ่ายกำลังแก้ไขปัญหาที่หมักหมมสะสมมา--เราๆท่านๆเป็นสายพระ ก็ใช้ธรรมะกันเถอะ แผ่เมตตา ให้โอกาส จิตใจจะได้สบาย เครียดไปก็บั่นทอนสุขภาพ
ไปดูพระกันต่อ องค์แรกคือ พระสมเด็จบางขุนพรหม พิมพ์ฐานคู่ วัดใหม่อมตรส กรุงเทพฯ สภาพสมบูรณ์ สวยแชมป์ เดิมๆ จากกรุ มีคราบกรุบางเบา ไม่บดบังพิมพ์องค์พระที่เด่นด้วย รักทองเก่า ฝีมือช่างชั้นครู เนื้อมวลสารเข้มข้นครบเครื่อง เข้าขั้น “พระเนื้อจัด” ด้านหลังไร้รอยปั๊มตราองค์พระเจดีย์ เป็น “พระกรุเก่า” พรีเมียม ที่ เสี่ยศุภชัย สายัณห์ เพิ่งได้มา และกำลังตื่นเต้นหนัก

...
ต่อไปเป็น เทวรูป เนื้อสำริด สนิมเขียว (หยก) ศิลป์สมัยนครวัด ขนาดคล้องคอ เทวรูปเขมร เป็นโบราณวัตถุ ที่คอลเลกเตอร์นิยม ส่วนใหญ่เป็นขนาดบูชา เป็นโบราณวัตถุที่มีรูปลักษณ์หลากหลายตามยุค ที่มีอัตลักษณ์ชัดเจน โดดเด่นด้วยเนื้อโลหะ “สำริด” ที่งดงามด้วย “สนิมเขียว” องค์นี้ของ เสี่ยฐิติพัฒน์ วัฒนสุข ที่พิเศษด้วยขนาดองค์ที่เล็ก อย่างพระเครื่องแบบพระร่วงยืน ซึ่งมีพบน้อย แต่ราคามาก เทียบได้กับเทวรูปขนาดใหญ่ นานๆ เจอเทวรูปเขมรเข้าสนามพระไทย ก็เล่ากันหน่อย ว่าแบ่งเป็นยุคสมัยเหมือนไทย ที่เราค่อนข้างคุ้นชื่อคือ ยุคบาแค็ง ยุคบันทายสรี ยุคบาปวน ยุคบายน แต่ที่นักสะสม นิยมสุดคือ ศิลปะยุคนครวัด ดินแดนแห่งอารยธรรมขอมโบราณ ในเมืองเสียมเรียบ ที่สร้างสมัย พระเจ้าสุริยวรมันที่ ๒ (พุทธศตวรรษที่ ๑๗ ประมาณ พ.ศ.๑๖๕๐-๑๖๙๓) เพื่อบูชาพระวิษณุ และเก็บพระ บรมศพของพระองค์--เป็นสิ่งก่อสร้างอะเมซิ่งจนยูเนสโกให้เป็น ๑ ใน ๗ สิ่งมหัศจรรย์ของโลกด้านวัฒนธรรม และมีคำกล่าวว่า See Angkor and Die ตามชื่อหนังกัมพูชา ที่กษัตริย์ นโรดม สีหนุ สร้าง เป็นคำพูดที่อมตะ คือ “อย่าเพิ่งตาย ถ้ายังไม่ได้เห็นนครวัด”

ไปเร็วๆตามมาด้วย รูปเหมือนหล่อโบราณ พิมพ์ฐานสูง พ.ศ.๒๔๗๐–๘๐ หลวงพ่อเดิม สร้างออกที่ วัดหนองหลวง จ.นครสวรรค์ เป็นรูปเหมือนลอยองค์ เนื้อโลหะ เทหล่อโบราณ ถ้านับอายุการสร้างในปี พ.ศ.๒๔๗๐-๘๐ ก่อนรูปเหมือนปั๊มเมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๒ แล้ว ถือได้เป็น รูปเหมือนรุ่นแรก แต่เพราะไปสร้างที่วัดหนองหลวง ตลาดจึงให้ เป็นรองรูปเหมือนปั๊ม วัดหนองโพ พ.ศ.๒๔๘๒ ซึ่งเล่นเป็น รุ่นแรก องค์นี้ของ เสี่ยพิทยา เอ็ม.บี. นครสวรรค์ เป็นพิมพ์ฐานสูง งามสมบูรณ์ระดับแชมป์ ฟอร์มมาตรฐาน พิมพ์คมชัด--ผิวเนื้อเพอร์เฟกต์ ไร้ริ้วรอยสัมผัสใช้แบบนี้ หลักแสนถึงหลักล้าน ได้

...
ตามมาด้วย เหรียญหล่อพระพุทธ พิมพ์สมาธิ ข้างอุ เนื้อชินตะกั่ว หลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า อ.วัดสิงห์ จ.ชัยนาท ๑ ในพิมพ์นิยม เนื้อนิยมมาตรฐาน ของ เสี่ยเทพ F๑๖ พระสวย สภาพสมบูรณ์ เดิมๆ ผิวมีคราบไขขาวจับแน่นจากในเนื้อ บอกอายุถึงยุค เด่นสุดที่ลายมือจารอักขระ “ยันต์ครู” ด้านหลัง ทำให้ดูดีมีพลังขลัง
อีกสำนักเป็น เหรียญรุ่นแรก พ.ศ.๒๔๖๕ (โมไม่มีไส้) พระสุวรรณมุนี (ฉุย) วัดคงคาราม เพชรบุรี ๑ ใน ๕ เหรียญเบญจภาคี พระเกจิฯ คือ 1.เหรียญรุ่นแรก พ.ศ.๒๔๖๙ หลวงพ่อกลั่น วัดพระญาติ อยุธยา 2.เหรียญยันต์ ๔ รุ่นแรก พ.ศ. ๒๔๖๗ หลวงปู่เอี่ยม วัดหนังฯ กรุงเทพฯ 3.เหรียญรุ่นแรก พ.ศ.๒๔๖๕ พระสุวรรณมุนี (ฉุย) วัดคงคาราม เพชรบุรี 4.เหรียญรุ่นแรก พ.ศ.๒๔๗๗ หลวงพ่อพุ่ม วัดบางโคล่ กรุงเทพฯ 5.เหรียญรุ่นแรก พ.ศ. ๒๔๘๔ หลวงพ่อคง วัดบางกะพ้อม สมุทรสงคราม องค์นี้ของ “โป๊ยเสี่ย” นายไชยทัศน์ เตชะไพบูลย์ เป็น เหรียญหลวงพ่อฉุย รุ่นแรก ที่เล่นเป็นพิมพ์ “โมมีไส้” กับ “โมไม่มีไส้” ที่มีจุดแตกต่างที่อักขระยันต์ตัว (โม) ด้านหลังเหรียญมีขีดขวาง--กับ ไม่มีเส้นขีด แบบเหรียญนี้ ที่ได้ชื่อเป็นเหรียญแชมป์แรกๆของวงการ

สุดท้ายเป็นเครื่องราง สิงห์สามขวัญ ตะปบเหยื่อ งาแกะ หลวงพ่อมุ่ย วัดดอนไร่ สุพรรณบุรี สิงห์สามขวัญ งาแกะ อันดับหนึ่ง ยกให้ หลวงพ่อเดิม วัดหนองโพ แต่ปัจจุบันแพงหลักล้าน คนจึงหันมาหาของ หลวงพ่อมุ่ย ใช้แทน เพราะราคาแค่หลักหมื่นกลางๆและไต่ขึ้นเรื่อยๆ--ตัวสมบูรณ์สวยเนี้ยบอย่างนี้ ของ เสี่ยเต๋อ ศิษย์สุพรรณ ขึ้นหลักแสนก็ยังมีคนสู้

ลากันด้วยเรื่องปิดท้าย ที่เกิดในแผงพระ ในตลาดสด ย่านชานกรุง ซึ่งมีนักนิยมพระแถวนั้นวนเวียนมาดูมาส่องแล้วก็ไป ไม่มีได้-เสีย จนบ่าย เจ้าของแผงเริ่มล้า ก็มีลูกค้าท่าทางมีภูมิเหมือนเซียนพระ มาหยุดหน้าแผง หยิบพระขึ้นส่องถามว่า ขายได้มั่งไหม ก็ตอบไปว่า ขายไม่ได้สักองค์ ลูกค้าก็แนะนำว่า น่าจะหาพระแท้ พระดี ดูง่ายๆ สักองค์สององค์มาลงแผง จะได้ให้คนมาดู ได้ตื่นเต้นบ้าง
...
เจ้าของแผงมองหน้าบอกว่า ก็ที่ผมมาเปิดแผง เพราะอยากได้พระแท้ดูง่าย ที่ลูกค้าเอามาขาย สักองค์สององค์นั่นแหละครับ--เปิดแผงเพราะหวังมาดักซื้อมากกว่ามาขาย แบบนี้ก็มีเจ้าค่ะ อามิตตพุทธ.
สีกาอ่าง
คลิกอ่านคอลัมน์ "สนามพระ" เพิ่มเติม