คนเป็นพระหากดูภาพพระผงสุพรรณ องค์ในคอลัมน์วันนี้ก็รู้ดีเป็นพิมพ์หน้าหนุ่ม แต่เมื่อดูหัวข้อเรื่อง “พิมพ์หน้านาง” ก็อย่าได้สงสัยอะไรให้มากไปเลย ชื่อเรียกผงสุพรรณพิมพ์นี้ ชาวสุพรรณรุ่นเก่า เรียกสองชื่อ “พิมพ์หน้าหนู” และชื่อ “พิมพ์หน้านาง”

ในหนังสือ พระเครื่องเมืองสุพรรณ (พิมพ์ครั้งที่ 2 พ.ศ.2524 มนัส โอภากุล) เริ่มต้นด้วยการเรียก “พิมพ์หน้านาง” และ “พิมพ์หน้าหนู” แล้วอธิบายพิมพ์นี้ ลักษณะพิมพ์เหมือนพิมพ์หน้าแก่ และพิมพ์หน้ากลางบ้าง บางลักษณะ

ข้อที่แตกต่างชัด พิมพ์หน้าแก่ หน้ากลาง ไม่มีลำพระศอ แต่พิมพ์หน้าหนุ่มลำพระศอลึก เชื่อมโยงกับลำพระองค์ที่ทั้งลึกและนูนเด่น พระรากขวัญ (ไหปลาร้า) โค้งมนกลืนไปกับพระศอ และพระอังสา (หัวไหล่)

มนัสนำภาพพระสีขาวดำลงให้ดูไม่กี่องค์ ส่วนรายละเอียดเส้นสายลายพิมพ์ มนัสเขียนเป็นภาพลายเส้นให้ดู คนอ่านมโนตามได้ยาก

สมัยนี้ เวลาผ่านมากว่าสี่สิบปี มีหนังสือภาพพระสี ทั้งยังมีการชี้ตำหนิในเส้นสายลายพิมพ์ พิมพ์หน้าแก่ มีตำหนิพิมพ์หลายแห่ง พิมพ์หน้ากลาง มีตำหนิสองสามแห่ง มาถึงพิมพ์หน้าหนุ่ม หาจุดเหมือนที่เป็นตำหนิพิมพ์ไม่ได้ 

คนรักพระจึงต้องใช้ทักษะดูพระแท้ ดูรอยเหนอะจากพื้นผนังให้คุ้นตา

จะว่ายาก ก็ยากกว่า ตรงที่ต้องดูธรรมชาติของ ผิว เนื้อ คราบ ฝ้า รารัก ให้เป็น แต่เมื่อเป็นแล้ว ก็กลายเป็นง่าย เพราะดูพระแท้ได้ โดยไม่ต้องไปหลงตำหนิพิมพ์ปลอมในพิมพ์หน้าแก่ หน้ากลาง ซึ่งยุคนี้ทำใกล้เคียงของจริง 

มนัสบอกว่า พระพักตร์พิมพ์หน้าหนุ่ม คล้ายคนหนุ่ม แต่ส่วนมากเลี่ยน องค์ที่พระพักตร์ชัดเจนมีน้อย ขนาดขององค์พระ และกรอบพิมพ์ค่อนข้างเล็กกว่าพิมพ์หน้าแก่ พิมพ์หน้ากลางเล็กน้อย

...

พระผงสุพรรณพิมพ์หน้าหนุ่ม องค์ในคอลัมน์ ด้านหน้าติดพิมพ์ลึก เห็นจมูกปากตา คิ้วคาง ชัด หูสองข้างยาวจรดบ่าเท่ากัน หูนี่คืออีกข้อที่แตกต่างจากพิมพ์หน้าแก่ หน้ากลาง ที่สองหูยาวไม่เท่ากัน

ด้านหลัง (ตั้งใจจำ นี่คืิอเคล็ดลับ) สัญลักษณ์สำคัญ หลังมีลายมือ 99.99 เปอร์เซ็นต์

“ที่ไม่เต็มร้อยเปอร์เซ็นต์นั้น เคยเห็นองค์หนึ่งไม่มีลายมือ” มนัสว่า

ลายมือที่กดประทับ เชื่อกันตามจารึกลานทองว่า เป็นของมหาเถรปิยทัสสี ศรีสารีบุตร แต่อาจมีลายมือผู้อื่นบ้าง คุณมนัสเคยเห็นลายมือ ทั้งก้นหอย และมัดหวาย แต่ 99 เปอร์เซ็นต์ เป็นก้นหอย

เส้นลายมือพระผงสุพรรณแท้ หยาบและหยักเป็นคลื่นน้อยๆ จากการหดตัวของมวลสาร ลายมือก้นหอยกึ่งกลางเกิดเนินเรียบเป็นส่วนมาก (นึกไม่ออก “เนินเรียบ” เป็นแบบไหน ดูหลังองค์ในคอลัมน์)

ของปลอมเส้นลายมือเล็ก ไม่เป็นคลื่น แต่ควรระวังของปลอมชั้นยอด กดจากแม่พิมพ์องค์จริง

คราบกรุพระผงสุพรรณ มนัสบอกว่ามี 3 สี สีดำ สีขาว และสีเหลือง สีดำคาดว่าเกิดจากเชื้อราดำที่จับอยู่บนผิวเนื้อพระ คล้ายจะล่อนออกมาเป็นสีดำหม่นไม่ใช่สีดำสนิทเหมือนขนกาน้ำ (ดูองค์ในคอลัมน์)

คราบกรุสีขาว คาดว่าเกิดจากเชื้อราสีขาวที่จับแน่นบนผิวเนื้อ ไม่สามารถเอาออกได้ง่ายๆ แต่แขวนคอใช้ชุ่มเหงื่อนานๆก็อาจหมดได้ มักจะมีกับพระสีดำ คราบกรุสีเหลือง พบกับพระผงสุพรรณเนื้อเขียว

สี...ตามลานทองจารึกว่า มี 2 สี ดำกับแดง แต่วงการรู้กันว่ามีเพิ่มอีก 2 สี สีเนื้อ หรือสีใบลานแห้งและสีเขียว จึงพอสรุปได้ว่า พระผงสุพรรณมี 4 สี

องค์ในคอลัมน์วันนี้ ดูจากภาพสีพอมองเห็นชัดเจน ท่อนบนบริเวณพระพักตร์เนื้อสีดำ ท่อนล่างช่วงพระเพลา เนื้อเป็นสีเนื้อคน เรียกสีขาวก็ได้

เนื้อผงสุพรรณที่ผสมผสานหลากสี คือข้อหนึ่งที่ชี้ชัด เป็นคุณสมบัติพระผงสุพรรณแท้ ที่พระปลอมยังทำตามไม่ทัน.

พลายชุมพล

คลิกอ่านคอลัมน์ “ปาฏิหาริย์จากหิ้งพระ” เพิ่มเติม