ในหนังสือพระเครื่องเมืองสุพรรณ มนัส โอภากุล เขียนถึงพระพิมพ์ดินเผาที่พบในกรุวัดบ้านกร่าง อำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี ที่เรียกรวมๆกันว่าพระขุนแผน เท่าที่รวบรวมได้ เริ่มที่ขุนแผนพิมพ์ห้าเหลี่ยมอกใหญ่ พิมพ์ห้าเหลี่ยมอกเล็ก พิมพ์ทรงพลใหญ่ ฯลฯ
แต่พอมาถึงพิมพ์พระประธาน ซึ่งมีสองแม่พิมพ์ พิมพ์พระประธานหน้าแก่ พิมพ์พระประธานหน้าหนุ่ม นักเลงพระรุ่นเก่า เรียกกันมาแต่ดั้งเดิมว่า “พลาย” ตามด้วย พลายพิมพ์ซุ้มประตู พลายพิมพ์ใบมะยม พลายพิมพ์ใบพุทรา...และอีกหลายๆพลาย ซึ่งเรียกชื่อรวมว่า “พลายเดี่ยว”
ที่เรียกพลายเดี่ยว เพราะมีองค์พระองค์เดียว เมื่อมีองค์พระสององค์คู่ด้วย จึงต้องเรียก “พลายคู่” เท่าที่คุณมนัสหาพระมาถ่ายภาพให้ดูได้ พิมพ์พลายคู่มี 14 พิมพ์
พระกรุบ้านกร่าง อยู่ไม่ไกลอนุสรณ์ดอนเจดีย์ พื้นที่ที่สองพระองค์ทำยุทธหัตถีชนะพม่า มีพิมพ์พลายคู่ จึงเป็นข้อพิจารณาโน้มน้าวให้เชื่อว่า พระชุดบ้านกร่าง สร้างในสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช...เพราะรัชกาลท่านมีพระอนุชาธิราช สมเด็จพระเอกาทศรถ เป็นพระมหากษัตริย์องค์ที่ 2 ชาวบ้านเรียกสองพระองค์ องค์ดำ องค์ขาว
แต่พระพลายคู่ คนโบราณเรียกตามตำนานขุนช้างขุนแผนว่า “พลายเพชรพลายบัว” คำว่าพลายนำหน้ามาจากชื่อเรียกนี้เอง
ย้อนมาพูดถึง พิมพ์พลายพิมพ์พระประธาน...ซึ่งวงการเห็นว่าเป็นพิมพ์พลายที่ถือว่าเส้นสายลายพิมพ์สง่างามกว่าพิมพ์พลายด้วยกัน จะเป็นด้วยเหตุผลด้านราคา...ต่อมาพลายพิมพ์พระประธานสองแม่พิมพ์ ถูกยกระดับใช้คำนำหน้าว่า “ขุนแผน”
ประเด็นคำเรียกนำหน้า ขุนแผน หรือพลาย ว่ากันด้วยเหตุผล ก็ไม่ลงตัวนัก...เพราะยังมีอีกหลายพิมพ์ที่มีเอกลักษณ์แตกต่าง เช่น พิมพ์ซุ้มเหลือบ พิมพ์ใบไม้ร่วง พิมพ์ซุ้มเถาวัลย์ ก็เรียกกันรื่นปาก “ขุนแผน”
...
เพราะเหตุนี้จะเรียกพลายพิมพ์พระประธานว่าขุนแผนบ้าง ก็คงไม่ผิดหลักเหตุผล คำเรียกขุนแผน หรือพลาย ไม่น่าจะไม่ทำให้ค่านิยมลดหลั่น...เพราะราคาพระนั้นขึ้นอยู่กับการตกลงใจของคนสองคน
เกริ่นนำให้มโนถึงพลายพิมพ์พระประธาน หน้าแก่ และหน้าหนุ่ม วันนี้ก็เพียงเพื่อให้ทำความเข้าใจกับพระพิมพ์คล้ายๆพลายพิมพ์พระประธานองค์ในคอลัมน์วันนี้
ดูจากไทยรัฐออนไลน์จะเห็นสีเนื้อพระดินเผา ตัดกับเนื้อรักสีดำที่ยังเหลือในองค์พระและพื้นผนัง...จากประสบการณ์ พระชุดบ้านกร่าง องค์ที่ลงรักปิดทอง มักเป็นพระที่ติดพิมพ์คมชัด
องค์ในคอลัมน์ ไม่เพียงเส้นสายลายพิมพ์คมลึก หน้าตาคิ้วคางจมูกปากยังคมชัด ขาดอยู่สักนิด ที่ท่านยังไม่ยิ้มให้ ดูเค้าแล้วไปทางพลายพิมพ์พระประธานหน้าหนุ่ม
แต่คนเป็นพระบ้านกร่างจริงๆจะรู้ทันทีว่า “ผิดพิมพ์”
หากมีพลายพิมพ์พระประธานหน้าหนุ่มเทียบ คงจะเป็นเส้นลายพิมพ์ที่แตกต่าง... แต่ถ้าได้จับต้ององค์จริงกับมือแล้วก็จะรู้ว่า ขนาดองค์นี้เขื่องกว่าพลายพิมพ์หน้าหนุ่มมาก
เล็กกว่าทรงพลใหญ่หน่อย ใหญ่กว่าพิมพ์ห้าเหลี่ยมอกใหญ่นิด รวมความถือว่าใหญ่ผิดตา
พิจารณาเนื้อหาคราบไคล หลุมแร่หลุดพอมีให้เห็น ความเก่าความนุ่มของเนื้อก็ถึง “บ้านกร่าง” ชนิดสนิทเนียนตา...แต่ปัญหาแม่พิมพ์ ก็คงต้องใช้เกณฑ์ครู คุณมนัส โอภากุล ท่านว่า ชุดบ้านกร่างเท่าที่พบมี 39 แม่พิมพ์ แต่เชื่อว่าจะมีพิมพ์มากกว่านี้
ใช้หลักนี้องค์นี้ก็ต้องจัดลำดับให้ท่านเป็นบ้านกร่างพิมพ์ที่ 40 จะเรียกท่าน ขุนแผนพิมพ์พระประธานพิมพ์ใหญ่ ก็คงได้ บ้านกร่างองค์นี้ไม่มีราคา เจ้าของหนึ่งในคนรักขุนแผน เลี่ยมแขวนคอเดี่ยว ยืดอกผึ่งผายอยู่คนเดียวมานานแล้ว.
พลายชุมพล
คลิกอ่านคอลัมน์ “ปาฏิหาริย์จากหิ้งพระ” เพิ่มเติม