ใน 5 พิมพ์ทรงมาตรฐานของพระสมเด็จวัดระฆัง พิมพ์ใหญ่ ทรงเจดีย์ ฐานแซม เกตุบัวตูม และพิมพ์ปรกโพธิ์นั้น...เป็นที่รู้กันพิมพ์ ปรกโพธิ์ เป็นพิมพ์ทรงที่พบน้อยที่สุด

“ตรียัมปวาย” บอกไว้ใน “ปริอรรถาธิบายแห่งพระเครื่อง” เล่มพระสมเด็จฯ นอกจากมีน้อยที่สุดแล้ว ยังมีลักษณะเฉพาะตัวแปลกไปจากพิมพ์ทรงใดๆ คือการบรรจุดอกดวงของช่อโพธิ์ ลงในส่วนของผนังคูหา ประมาณ 20 ช่อ

 นี่คือการเน้นความหมายของปางตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธญาณแห่งพระบรมศาสดา ณ ร่มควงไม้โพธิ์ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา พุทธคยาสถาน มัธยมประเทศ

ครูจำแนกแบบพิมพ์ไว้สองแบบ แบบพิมพ์ ปรกโพธิ์ฐานแซม และแบบพิมพ์ปรกโพธิ์สังฆาฏิ

 1.แบบพิมพ์ปรกโพธิ์ฐานแซม เป็นแบบลักษณะที่ได้เค้ามาจากพิมพ์ทรงฐานแซม ผสมด้วยบางลักษณะของพิมพ์ทรงฐานคู่ และเพิ่มด้วยช่อโพธิ์ และแขนงโพธิ์ เบื้องพระศิระ

 2.แบบพิมพ์ปรกโพธิ์สังฆาฏิ เป็นแบบพิมพ์ที่ได้เค้าผสมมาจากพิมพ์ทรงเกตุบัวตูม กับพิมพ์สังฆาฏิกอรปด้วยช่อโพธิ์และแขนงโพธิ์ ทำนองเดียวกับแบบพิมพ์ปรกโพธิ์ฐานแซม

หน้า 405 ในปริอรรถาธิบายแห่งพระเครื่อง เล่มพระสมเด็จฯ ครูมีภาพถ่ายขาวดำ ขนาดเท่าองค์พระ ให้ดูเป็นตัวอย่าง 5 องค์ ใครที่ได้อ่าน มักสะดุดใจ และจดจำองค์ที่ 1 ซึ่งเป็นแบบพิมพ์ปรกโพธิ์ฐานแซม

องค์นี้ “ลงทองร่องชาด” มีประวัติ เจ้าสัวสอน นำมาทารักแปะติดไว้กับแผ่นกระดานหน้าจั่วบ้าน เมื่อเจ้าสัวตายบ้านถูกรื้อไปถวายวัดจักรวรรดิ มีคนไปแกะออกมาใช้ แต่หลายองค์หัก

คนหัวดี จึงใช้เลื่อยตัดไม้รอบองค์พระ แล้วพยายามฝนเนื้อไม้ จนเหลือเนื้อไม้บางๆปิดคลุมด้านหลังองค์พระ

คนรักพระสมเด็จ คงได้เห็นภาพองค์นี้ เป็นภาพสีชัดแจ๋ว ในนิตยสารสนามพระ ฉบับพิเศษ ยุคแรก (ไม่บอกปี พ.ศ.ที่พิมพ์) มีคำบรรยายครูตรียัมปวาย ว่า เป็นพระเนื้อเกสรดอกไม้ ผิวเยื่อหอม วรรณะสีเมล็ดพิกุลแกมมะกอกสุก มีความหนึกนุ่มและซึ้งจัด แต่กระนั้น เมื่อพระเข้าวงการ มีข้อถกเถียงกันไม่น้อย

...

สุธน ศรีหิรัญ บก.ลานโพธิ์ เคยบอกผม พระองค์นี้ เป็นพระขององค์ชายใหญ่ (พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล)

นี่ขนาดเป็นพระสมเด็จวัดระฆังพิมพ์ปรกโพธิ์ องค์ดังในตำนาน...เมื่อเข้าตาเซียนก็ยังเห็นต่างกัน นับประสากับพระสมเด็จองค์อื่นๆ ที่ถึงวันนี้เริ่มมีเสียงหนาหูว่า พระแท้มีแต่พระที่เซียนขาย

ยิ่งเป็นพิมพ์ปรกโพธิ์ ซึ่งมีจำนวนน้อยมาก...ยิ่งแทบไม่ต้องพูดถึง หนังสือภาพพระสี ของประชุม กาญจนวัฒน์ เล่มแรก มีองค์เดียว ปรกโพธิ์สังฆาฏิ ของ นพ.สุประเกตุ จารุดล

หนังสือภาพพระ เล่ม ประจำ อู่อรุณ พิมพ์ปี 2522 มีภาพสมเด็จวัดระฆังทุกพิมพ์ที่ผ่านงานประกวดใหญ่ “พี่จำ” ยอมรับปรกโพธิ์มี แต่ออกตัว ขออภัยที่หาองค์เหมาะใจ มาตีพิมพ์ไม่ได้

เล่มของวรเทพ อุดมรัตนะศิลป์ ปี 2523 มีองค์เดียว ของนายทหารเรือ ยศนาวาเอก ช่วงนั้น เคยมีข่าวเข้าสนามพระท่าพระจันทร์ ถูกอ่านเป็นบางขุนพรหม แล้วก็หายเงียบไปหลายสิบปี โผล่ออกทีในหนังสือเล่มล่า ของเช็ง สุพรรณ ราคาลดหลั่นกว่าสมเด็จวัดระฆังองค์ดังๆแค่ 14 ล้านเท่านั้นเอง

พระสมเด็จองค์ในคอลัมน์วันนี้ เป็นพิมพ์ปรกโพธิ์ฐานแซม เนื้อเกสรดอกไม้ ขาวคล้ายนมสดเกลี้ยงเกลา ระดับความซึ้งปานกลาง ผิวพื้นปรากฏหลุมร่อง รอยยุบรอยแยกชัดเจน กลมกลืนไปกับธรรมชาติด้านหลัง ไม่มีจุดสะดุดตาตรงไหน

เจ้าของคงชื่นใจถ้าได้รู้ความหมายของ พิมพ์ปรกโพธิ์ฐานแซม เบื้องบน ร่มเย็นใต้ร่มโพธิ์ เบื้องล่างมีฐานแซม เข้มแข็งมั่นคง ถือเป็นมงคลค้ำจุนกันถึงสองชั้นนั่นเทียว.

พลายชุมพล

คลิกอ่านคอลัมน์ “ปาฏิหาริย์จากหิ้งพระ” เพิ่มเติม