ดูภาพพระสมเด็จวัดระฆังพิมพ์ใหญ่องค์ในคอลัมน์ แล้วค่อยๆหันไป ทำความเข้าใจ ควบคู่กับตัวหนังสือที่จะเขียนต่อๆไป นี่น่าจะเป็นการเรียนรู้ที่ดี อีกวิธีหนึ่ง

โดยปกติก็จะเขียนถึงพิมพ์ เนื้อ ธรรมชาติ... ในองค์พระทั้งองค์ วันนี้ขอมาแปลกกว่า...ขอคุยเรื่องเส้นซุ้มพระสมเด็จวัดระฆังพิมพ์ใหญ่ เรื่องเดียว

หัวข้อ สัญลักษณ์ซุ้มประภามณฑล “ตรียัมปวาย” เขียนไว้ในปริอรรถาธิบายแห่งพระเครื่อง เล่มพระสมเด็จ ว่า เป็นเส้นนูนเดี่ยวเกลี้ยงๆ ซึ่งเรียกว่า “ซุ้มเส้นลวด” ครอบองค์พระปฏิมาและพระอาสนะ

ลักษณะเส้นซุ้มค่อนข้างหนาเขื่อง มีสัณฐานกลมทรงหวายผ่าครึ่ง จึงเรียกอีกชื่อว่า“ซุ้มหวายผ่า” ขนาดประมาณก้านไม้ขีดไฟ หรือใหญ่ย่อมกว่าเล็กน้อย ซุ้มหวายผ่า ครูเน้นว่า โดยมากสำหรับของวัดระฆัง

ปกติลีลาเส้นซุ้มจะปรากฏริ้วรอยธรรมชาติ ของวัสดุปูนปั้น เนื่องจากการยุบตัวแห้งสนิทจากภาวะของเหลว ลักษณะเป็นริ้วรอยขยุกขยิก อันละเอียด

เฉพาะอย่างยิ่ง ตรงบริเวณฐานของเส้นซุ้มทาบอยู่กับพื้นผนังคูหา ทำให้เส้นซุ้มไม่ราบเรียบกลมกลึง เหมือนผิววัสดุที่ผ่านการขัดแต่งเกลี้ยงเกลา เช่นของปลอมบางชนิด

หรือพระที่สึกหรอมาก ทั้งยังได้รับการเซาะแต่งให้พิมพ์ลึก โดยเฉพาะพิมพ์ทรงพระประธาน จะหาเส้นซุ้มเรียบร้อยเกลี้ยงเกลาจริงๆได้ยาก

ครูเน้นตัวดำหนา จุดพิจารณาสำคัญ  ยอดซุ้ม เป็นส่วนที่โค้งกลม ส่วนมากจะแป้วเล็กน้อยทางด้านซ้าย

สัญลักษณ์สำคัญของยอดซุ้ม คือหัวโค้งเบื้องซ้ายค่อนขึ้นไปทางเบื้องบน มักคอดกิ่ว หรือรางเลือน หรือมิฉะนั้น ก็จะเป็นรอยเส้นซุ้มแตกออกเป็นสองส่วนซ้อนกัน

...

ซุ้มด้านข้าง ลีลาเส้นซุ้มทั้งสองด้าน โน้มสอบเข้าหากันเล็กน้อย อาจย้วยหรือแป้วทางด้านใดด้านหนึ่ง ไม่ตั้งเป็นแนวฉากตรงขึ้นไปเช่นของปลอมบางชนิด หรือของพระเกจิอาจารย์บางสำนัก

ด้านฐานซุ้ม เป็นเส้นแนวระดับขนานไปกับฐานชั้นล่างของพระอาสนะ และกรอบด้านล่างไม่เหยียดราบเป็นแนวบรรทัดทีเดียวนัก

เหล่านี้คือ ข้อพิจารณาเส้นซุ้มพระสมเด็จวัดระฆังพิมพ์ใหญ่ ในภาพรวม แต่เนื่องจากพิมพ์ใหญ่มีหลายพิมพ์ ซึ่งอาจมีรายละเอียดแตกต่างกันบ้างเล็กน้อย

เช่น พิมพ์ใหญ่แบบพิมพ์เขื่อง ครูเน้นสัญลักษณ์เส้นซุ้มทั่วไป คือ ลักษณะหวายผ่าค่อนข้างเขื่องเป็นส่วนมาก ลีลาของเส้นซุ้มมักจะย้วยน้อยๆ ไม่แข็งทื่อ

พิมพ์ใหญ่ แบบพิมพ์โปร่ง ลักษณะซุ้มประภามณฑล เป็นหวายผ่าไม่หนานัก ด้านข้าง ทั้งสองสอบเข้าหากันมาก และด้านซ้ายมักจะย้วยตอนกลางๆ พิมพ์ใหญ่ แบบพิมพ์ชะลูด เส้นซุ้มค่อนข้างเรียวลีบ ทรวดทรงโปร่งชะลูดมาก ยอดซุ้มบริเวณด้านซ้ายขวาค่อนข้างสอบ มีสัญลักษณ์การซ้อนของเส้นซุ้ม แตกชัดบริเวณยอดเบื้องซ้าย

พิมพ์ใหญ่ แบบพิมพ์ป้อม ซุ้มประภามณฑล มีลักษณะหวายผ่าค่อนข้างเขื่อง เป็นทิวเส้นอวบหนานูนงามมาก ลีลาของเส้นได้สัดส่วนของทรง “ซุ้มโค้ง”  หรือ “โดม” มากที่สุด ยิ่งกว่าแบบพิมพ์ใดๆ

พิมพ์ใหญ่ แบบพิมพ์สันทัด ซุ้มประภามณฑล เป็นแบบหวายผ่าส่วนมาก แต่ขนาดย่อมกว่าของแบบพิมพ์ป้อมเล็กน้อย จัดว่าเป็นแบบซุ้มที่งดงามมากแบบหนึ่ง พิมพ์ใหญ่ แบบพิมพ์ย่อม ซุ้มประภามณฑล สัณฐานงดงามได้สัดส่วน เส้นซุ้มลักษณะหวายผ่าค่อนข้างย่อมเล็กน้อย บริเวณยอดซุ้มเบื้องซ้าย ค่อนข้างคอดเรียวหรือซ้อนกัน 2 เส้น

เรียนรู้เส้นซุ้มพิมพ์ใหญ่แม่พิมพ์ต่างๆแล้ว หันมาพิจารณาองค์ในคอลัมน์ นี่คือแบบพิมพ์เขื่อง สัญลักษณ์เส้นซุ้มหวายผ่าเขื่อง กลมกลืนไปองค์พระที่ล่ำสัน ถือเป็นองค์ครูได้อีกองค์.

พลายชุมพล

คลิกอ่านคอลัมน์ “ปาฏิหาริย์จากหิ้งพระ” เพิ่มเติม