ดูภาพพระผงสุพรรณ องค์ในคอลัมน์ สร้างจินตนาการ...แท้ ไม่แท้ แม่พิมพ์ไหน หน้าแก่ หน้ากลาง หรือหน้าหนุ่ม ไปก่อน แล้วค่อยทำความรู้จักเรื่องราวของท่านตามตัวหนังสือ
วันนี้ ขอใช้วิชาผู้อาวุโสของวงการพระเครื่องเมืองไทย จากหนังสือปฏิมากรพระเครื่อง (พิมพ์จำหน่าย 25 มิ.ย.2523) พี่มอนต์ จันทนากร เริ่มต้นว่า
พระผงสุพรรณ พระกรุ ซึ่งมีพุทธคุณยอดเยี่ยม ค่านิยมสูงลิบลิ่ว เป็นหนึ่งในชุดเบญจภาคีที่หายากยิ่งนัก พุทธลักษณะองค์พระนั่งปางมารวิชัย ประทับบนฐานชั้นเดียว พระพักตร์แตกต่างออกไปตามแบบพิมพ์
ด้านหลังปรากฏลายนิ้วมือแบบ “มัดหวาย” ประทับไว้ทุกองค์
วรรณะ ออกสีแดง สีเหลือง สีเขียว สีดำ ศิลปะแบบอู่ทองบริสุทธิ์
พร้อมๆคำบรรยาย พี่มอนต์นำภาพพระผงสุพรรณทั้งสามพิมพ์ พิมพ์หน้าแก่ หน้ากลาง หน้าหนุ่ม ชนะที่ 1 งานประกวดพระเครื่อง ที่ลพบุรี 4 พ.ย.2522 ให้ดูเป็นตัวอย่าง
พระผงสุพรรณองค์ในคอลัมน์ เทียบเคียงทุกเส้นสายลายพิมพ์ทุกตำหนิแล้ว เป็นพิมพ์หน้าแก่ อกล่ำสัน ส่วนท้องและเอวแห้งคอดกิ่ว จึงส่งให้ส่วนอกเด่นชัดขึ้นมาก เรียกว่า “อกหัวช้าง”
แขนเป็นเส้นเรียวเล็กทั้งสองข้าง ด้านซ้ายตรงหักศอกพิมพ์ตื้นมาก บางองค์เส้นแขนขาดตอน “ไม่ติดพิมพ์” ก็มี
มือขวาที่วางพาดบนเข่ามีลักษณะคล้ายกำ มองไม่เห็นทั้งสี่นิ้ว นอกจากนิ้วหัวแม่มือเท่านั้นที่เด่นชัดมาก
พระพักตร์เหมือนคนแก่เคร่งขรึม ก้มง้ำเล็กน้อย แก้มตอบ จมูกโด่ง ตาเฉียงขึ้นคล้ายพระกริ่งทั่วๆไป พระศอเลือนหายไปในผนังองค์พระ (ไม่มีลำคอ) ใบหูด้านขวา (ด้านซ้ายของผู้อ่าน) ยาวกว่าใบหูด้านซ้าย
พี่มอนต์อธิบายเรื่องเนื้อพระผงสุพรรณไว้ย่อๆว่า ปรากฏความนุ่มหนึกเหมือนกันทุกองค์ เป็นพระเนื้อดินผสมว่าน และผงเกสรร้อยแปด ผิวตามซอกองค์พระจะเหี่ยวย่นเป็นริ้วๆ เนื่องจากการหดตัวของมวลสาร
...
ทบทวนวิชาพี่มอนต์เป็นพื้นฐาน รู้จักพิมพ์รู้จักเนื้อพระพอสมควรกันแล้ว คราวนี้ขอให้หันไปพิจารณาภาพพระผงสุพรรณหน้าแก่ เนื้อดำ องค์ในคอลัมน์ คุยกันแบบจำเพาะองค์อีกที
สภาพพิมพ์พระองค์หน้า สึกช้ำกำลังงาม เห็นสองพระเนตรชัดเจน คนรักพระรุ่นใหม่ถูกสอนให้รู้จักตำหนิหลักปลายหูขวา เม็ดกลมรีเล็กๆสองสามเม็ดริมอกซ้าย ไล่สายตาตาม จะเชื่อมแนวเส้นน้ำตก เส้นตรงลงตามพื้นผนัง ไปชนข้อมือซ้าย
ถ้าเข้าแว่นขยายสิบเท่า เพ่งสายตา เริ่มต้นจากบริเวณเส้นคอ จะเป็นเส้นตรงเล็กๆ เป็นริ้ว ติดแผ่วๆทอดลงผ่านเนินอก ลงไปสู่พื้นผนังทั้งซ้ายขวา
รู้กันแค่นี้ไว้ก่อน ถ้ารู้มากไปจะไขว้เขว ที่จริง ตำหนิหลักผงสุพรรณหน้าแก่มีอีกหลายจุด
แต่การดูตำหนิ ขอให้ใช้หลักติดลึกบ้าง แผ่วบ้าง หรือไม่ติดเลยก็ได้ ตามธรรมชาติ จะมีโอกาสได้พระแท้มากกว่า ตำหนิปลอมที่ตั้งใจทำไว้ชัดเจนเกินจริง
ด้านหลัง...รอยลายนิ้วมือองค์นี้ เป็น “มัดหวาย” วิชาของพี่มอนต์ เป็นลายมือตามธรรมชาติหลังพระผงสุพรรณแท้ ที่มีเนินเรียบและลาดต่ำ กลมกลืนกับก้อนเนื้อส่วนเกิน และคราบฝ้า รวมจงอยรอยมือจับตอนยกพระขึ้นจากพิมพ์
ขอแถมเรื่องเล่าเจ้าของเก่าเป็นหลาน หมื่นพูนศุภราช มีประวัติเป็นผู้คุมคนงานตอนขุดค้นพระปรางค์วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ คนงานอุ้มพระสังกัจจายน์สำริดหน้าตักราวห้านิ้วห่อผ้ามาให้ บอกว่าได้จากบริเวณยอดพระปรางค์
“ปู่หวงมาก ไม่ยอมให้ลูกหลานเข้าใกล้” เรื่องเล่าเข้มขึ้นอีก “จนเมื่อปู่ตาย วันเวลาที่ในหลวง ร.9 เสด็จสุพรรณ ลูกคนหนึ่งของปู่ จะนำพระสังกัจจายน์ ทูลเกล้าฯถวาย ขณะยกพระก้นพระก็หลุดออกมา เจอพระผงสุพรรณ 50 องค์”
พระผงสุพรรณจำนวนนั้น เปลี่ยนมือไปตามกลไกตลาดสมัยนั้นหมดแล้ว องค์ในคอลัมน์วันนี้ได้มาทีหลัง ฟังคลับคล้ายได้จากตลาดพระสวนจตุจักรยุคแรกๆ ก่อน พ.ศ.2530.
พลายชุมพล
คลิกอ่านคอลัมน์ “ปาฏิหาริย์จากหิ้งพระ” เพิ่มเติม