จุดเด่นสะดุดตาของพระสมเด็จวัดระฆังพิมพ์ใหญ่ องค์ในคอลัมน์วันนี้อยู่ที่แม้สภาพของพระจะผ่านการจับต้องจนสึกช้ำ เปิดให้เห็นเนื้อองค์พระและเส้นซุ้มนุ่มซึ้งตา แต่เนื่องจากการกดพิมพ์ลึก ยังเห็นแถบสังฆาฏิปื้นหนา และเส้นขอบ จีวรชัดเจน เป็นกรณีพิเศษเหนือพิมพ์ ใหญ่ทั่วไป

ไล่สายตาต่ำลงมา ถึงพระเพลา ยังเห็นปมนูนจากหัวเข่าซ้าย รักษาแนวเรียวบางไปถึงปลายพระบาท ลงไปถึงร่องกลางแบ่งฐานชั้นที่สาม...สามตำแหน่งนี้พิมพ์ใหญ่วัดระฆังแท้องค์ที่คมลึก ปรากฏทุกองค์

หรือจะทดสอบสายตา กับแนวเส้นซุ้มโค้งที่เรียก “หวายผ่า” คอดเว้าเข้าด้านใน นี่เป็นอีกสัญลักษณ์สมเด็จวัดระฆัง...ที่คนเป็นพระรู้จักกันดี

ผ่านประเด็นเส้นสายลายพิมพ์...มาถึง “เนื้อหา” องค์นี้เนื้อละเอียดปานกลาง โทนสีเหลืองอ่อน ตำราครูตรียัมปวาย เรียกเนื้อขนมตุ้บตั้บ

ชื่อขนม “ตุ้บตั้บ” มาจากเสียงค้อนไม้ใหญ่ทุบ เนื้อขนมทำจากถั่วลิสง ผสมน้ำตาลให้แตกจนละเอียดเนียนเป็นเนื้อเดียวกัน เด็กรุ่นก่อนสงคราม เจนตาขนมตุ้บตั้บจากขวดโหลร้านชำ ชิ้นละ 50 สตางค์

เด็กสมัยใหม่คงพอหาดูได้จากกูเกิล

ถ้ายัง “มโน” เนื้อขนมตุ้บตั้บไม่ได้... นึกถึงเนื้อกระยาสารท ที่เห็นส่วนผสมหยาบๆ มีถั่วเม็ดใหญ่ในเนื้อเอาไว้ โทนสีขนมตุ้บตั้บ ไปทำนองเดียวกัน เพียงแต่มวลเนื้อหยาบน้อยกว่า จะเรียกเนื้อละเอียดก็ยังไม่เต็มปาก

ใน “ปริอรรถาธิบายแห่งพระเครื่อง” เล่มพระสมเด็จ “ตรียัมปวาย” บอกว่า เนื้อขนมตุ้บตั้บ คือเนื้อที่มีมวลสารค่อนข้างหยาบ หรือเนื้อที่คลุกเคล้าสมัครสมานเข้ากันไม่สนิท

แต่มีลักษณะเด่น มีความแกร่งจัด ผิวค่อนข้างหนาเรียบ เสียงกระทบหนักแน่น สดใสและกังวาน ความพลิ้วไหวมีความถี่จัด ใกล้เคียงเนื้อปูนแกร่ง

...

ความซึ้งเกิดจากอนุภาควรรณะหม่นคล้ำของอิทธิวัสดุกับสารปูนขาวผสมเถ้าธูปวรรณะขาวขุ่น แกมเทาสวาดอ่อน คล้ายสีน้ำข้าวเจือเทาอ่อน รวมกันเป็นหย่อมๆ และลึกลงไปภายในเนื้อ

นอกจากนั้น ยังมีเมล็ดผงใบลานเผากระจายอยู่บางๆ

เนื้อขนมตุ้บตั้บเป็นเนื้อมีน้ำหนักเทียบปริมาณพระสมเด็จองค์เท่ากัน แล้วหนักค่อนข้างมาก มีความหนึกแกร่งอย่างจัด ผิวเนื้อมีลักษณะเป็นผิวปูนละลายตัว ค่อนข้างหนา

เนื่องจากเป็นผิวเนื้อแกร่งและราบเรียบ จึงเกิดเงาสว่างตามธรรมชาติจากการสัมผัสเสียดสี มีความฉ่ำที่สดใส จนเรียกได้ว่า เป็นมิติที่สาม

องค์ในคอลัมน์วันนี้ รักเก่าทองคร่ำลอกล่อนไปจนเหลือแต่ ฝ้ารักสีดำแกมน้ำตาล แนบแน่นกับผิวที่หนา

ผิวบางตำแหน่งเห็นได้ชัดว่าลอกล่อนจากเนื้อ กรณีผิวแบบนี้เกิดมีในจำนวนน้อยในพระสมเด็จวัดระฆังแท้บางองค์เท่านั้น

ทั้งหมดที่กล่าวมา เป็นคุณสมบัติเด่นของเนื้อขนมตุ้บตั้บ

“ตรียัมปวาย” อธิบายถึงคุณสมบัติรอง คือมีความละเอียดขั้นปานกลาง การแตกลายแบบสังคโลกมีบ้างแต่น้อย องค์ในคอลัมน์เห็นริ้วบางๆบ้างที่เส้นซุ้ม ทรายเงินทรายทองมีบ้างแต่บางตา

ระดับความนุ่ม ครูตรียัมปวาย ใช้คำว่า “เป็นความนุ่มแฝง” เพราะเนื้อแกร่งจัด ที่เกิดจากผลของเงาสว่าง เพราะความซึ้งบนผิวพื้นของเนื้อ

และสุดท้ายที่ควรทำความเข้าใจ มูลลักษณะไม่ปรากฏของเนื้อขนมตุ้บตั้บ คือแป้งโรยพิมพ์.

พลายชุมพล

คลิกอ่านคอลัมน์ “ปาฏิหาริย์จากหิ้งพระ” เพิ่มเติม