ขอต้อนรับเข้าสู่ สนามพระวิภาวดี ซึ่ง ออกพรรษา มา ๓ วันก่อน แต่ก็ยังมีฝนหลายพื้นที่ ทำให้นึกถึงที่มาของ เทศกาลเข้า พรรษา ที่เกิดจากการที่พระออกจาริกธุดงค์ บางทีต้องเดินตามคันนา และเหยียบย่ำข้าวในนาชาวบ้านเสียหาย จึงบัญญัติให้พระสงฆ์อยู่กับวัดในฤดูฝน ซึ่งคนไทยพุทธก็ยังยึดเทศกาลเข้าพรรษาสืบมา พระสงฆ์จึงจำวัดตลอดพรรษา แต่พระเครื่องไปไหนก็ได้ ไม่มีเข้าพรรษา ออกพรรษา อย่างองค์แรก พระสมเด็จ พิมพ์ใหญ่ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) วัดระฆังฯ กรุงเทพฯ ฉายา องค์กวนอู ที่ท่านผู้ชมขอ มาอยากดูพระสมเด็จองค์ครู ผ่าน สนามพระวิภาวดี

พระสมเด็จ พิมพ์ใหญ่ “องค์กวนอู” สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) วัดระฆังฯ.
พระสมเด็จ พิมพ์ใหญ่ “องค์กวนอู” สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) วัดระฆังฯ.

องค์กวนอู เดิมเป็นพระของ ท่านบุญยงค์ นิ่มสมบุญ นักสะสมรุ่นครูอาจารย์ยุคแรกๆ ได้ชื่อเป็น ๑ ใน ๕ พระสมเด็จวัดระฆังฯ องค์งามสมบูรณ์สูงสุด ราคาประเมินเป็นร้อยล้าน--จากนั้นเคยมีข่าวว่าถูกชาวต่างชาตินิมนต์ “โกอินเตอร์” แต่สิบปีก่อน ได้ยินว่ากลับมาอยู่กับนักนิยมพระเบอร์ต้นที่เก็บเงียบกริบ

...

วันนี้พอมีพื้นที่ตอบ คำถามสนามพระ ที่คนอยากไปทำบุญออกพรรษาที่วัดประจำรัชกาล ซึ่งเรียงลำดับตั้งแต่รัชกาลที่ ๑ ถึง ๙ คือ วัดพระเชตุพนฯ วัดอรุณฯ วัดราชโอรสาฯ วัดราชประดิษฐฯ วัดเบญ จมบพิตรฯ วัดบวรนิเวศฯ วัดราชบพิธฯ วัดสุทัศนฯ และ วัดพระแก้ว ส่วนวัดประจำ รัชกาลที่ ๑๐ คือ วัดวชิรธรรมสาธิตวรวิหาร--ทราบแล้วเปลี่ยน

พระกริ่งตั๊กแตน ทรงสังข์ ฐานบัวตุ่ม ๒ ชั้น ยุคต้น ของ เบียร์ นครปฐม.
พระกริ่งตั๊กแตน ทรงสังข์ ฐานบัวตุ่ม ๒ ชั้น ยุคต้น ของ เบียร์ นครปฐม.

ต่อไปคือ พระกริ่งตั๊กแตน ทรงสังข์ บัวตุ่ม ๒ ชั้น (ยุคต้น) พระกริ่งที่มีรูปลักษณ์ต่างจาก พระกริ่งจีน ในอดีตเชื่อว่าเป็น พระเขมร แต่ไม่มีหลักฐาน และไม่เคยพบพระนี้ในเขมรเลย จึงมีความเชื่อว่า สร้างขึ้นในไทยในภาคอีสานชายแดนติดประเทศเขมร เพราะพุทธศิลป์มีส่วนคล้าย พระบัวเข็ม พระอุปคุต ที่เป็นศิลป์ฝีมือช่างไทยเชื้อสายมอญ ที่มีอายุอยู่ในสมัยอยุธยาสืบต่อสมัยรัตนโกสินทร์ ลักษณะเป็นองค์พระนั่งปางสมาธิเพชร บนฐานบัวตุ่ม หรือบัวฟันปลา พระหัตถ์สองข้างอุ้มหม้อน้ำมนต์ วชิระ ดอกบัว และสังข์ เนื้อส่วนใหญ่เป็นสัมฤทธิ์เงิน เป็นพระที่ หลวงปู่เอี่ยม วัดหนังฯ ใช้ติดย่าม และใช้เป็นต้นแบบสร้างพระชัยวัฒน์ องค์นี้ของ เสี่ยเบียร์ นครปฐม เป็นพระ ยุคต้นที่มีพบน้อยมากๆ สภาพงามสมบูรณ์ เดิมๆแบบนี้ ราคาหลักแสนกลางถึงปลาย

เหรียญหล่อ รุ่นแรก หลวงพ่อเพชร วัดท่าหลวง ของร้านไทยศิลป์ พันธุ์ทิพย์ งามวงศ์วาน.
เหรียญหล่อ รุ่นแรก หลวงพ่อเพชร วัดท่าหลวง ของร้านไทยศิลป์ พันธุ์ทิพย์ งามวงศ์วาน.

ตามมาด้วย เหรียญหล่อ รุ่นแรก หลวงพ่อเพชร วัดท่าหลวง พิจิตร เหรียญหล่อพระพุทธยอดนิยมอันดับ ๑ ของเมืองพิจิตร จัดสร้างราวปี พ.ศ.๒๔๖๐-๖๑ โดยอาราธนาพระ พระเกจิอาจารย์แห่งยุคเข้าร่วมพิธี โดยมี หลวงพ่อเงิน เป็นประธาน เป็นเหรียญหล่อโบราณ เนื้อโลหะผสม ด้านหน้าเป็นองค์จำลองหลวงพ่อเพชร นั่งสมาธิเพชร ปางมารวิชัย รูปทรงจอบ หูในตัว แบบเหรียญจอบหลวงพ่อเงิน มี ๒ พิมพ์ จอบเล็กกับจอบใหญ่ อย่างองค์นี้ ของ ร้านไทยศิลป์ พันธุ์ทิพย์ งามวงศ์วาน ราคาอยู่ที่หลักแสนกลางๆ เพราะสวยแชมป์เดิมๆ

เหรียญหยดน้ำ เนื้อทองแดงกะไหล่ทอง หลวงพ่อจง วัดหน้าต่างนอก ของ ดร.มีชัย เถาเจริญ.
เหรียญหยดน้ำ เนื้อทองแดงกะไหล่ทอง หลวงพ่อจง วัดหน้าต่างนอก ของ ดร.มีชัย เถาเจริญ.

...

องค์ที่สี่ เป็น เหรียญหยดน้ำ เนื้อทองแดงกะไหล่ทอง รุ่น ๒ พ.ศ.๒๔๙๐ หลวงพ่อจง วัดหน้าต่างนอก อ.บางไทร อยุธยา ที่สร้างออกทันอายุหลวงพ่อ เป็นเหรียญปั๊ม หูเชื่อม รูปทรงหยดน้ำ เนื้อทองแดงกะไหล่ ทอง ด้านหน้าเป็นรูปจำลององค์ท่านห่มจีวรคลุม ด้านหลังเป็นรูปยันต์พุทธซ้อน (นะหน้าทอง) ที่พระเกจิฯ ยุคสงครามนิยมใช้ เพราะมีอานุภาพสูง ทั้งคุ้มครองป้องกัน และเมตตามหานิยม เป็นเหรียญที่สร้างประณีตงดงาม เส้นศิลป์คมชัด ปัจจุบันเหรียญสภาพสมบูรณ์สวยแชมป์กะไหล่ทองเต็มร้อย ทั้งหน้า-หลัง แบบเหรียญนี้ ของ ดร.มีชัย เถาเจริญ ขึ้นถึงหลักแสนมานานแล้ว

เหรียญจอบ รุ่นแรก เนื้อทองแดงกะไหล่ทอง หลวงพ่อมุ่ย วัดดอนไร่ ของปัญญา โพธิ์พุ่ม.
เหรียญจอบ รุ่นแรก เนื้อทองแดงกะไหล่ทอง หลวงพ่อมุ่ย วัดดอนไร่ ของปัญญา โพธิ์พุ่ม.

ตามมาด้วย เหรียญจอบ รุ่นแรก เนื้อทองแดงกะไหล่ทอง หลวงพ่อมุ่ย วัดดอนไร่ อ.สามชุก สุพรรณบุรี พระเกจิฯ ๕ แผ่นดิน (กำเนิดยุค ร.๕-มรณภาพยุค ร.๙) มีชื่อเสียงมาตั้งแต่หลังยุคสงคราม พระเครื่องของขลังได้รับความนิยมมาก อย่างเหรียญจอบรุ่นนี้ ที่สร้างไว้ราวปี พ.ศ.๒๔๘๒ เป็นเหรียญพระเกจิฯแถวหน้าของเมืองสุพรรณ โดยเฉพาะเหรียญสมบูรณ์สวยแชมป์ กะไหล่เดิมๆ แบบเหรียญนี้ ของ เสี่ยปัญญา โพธิ์พุ่ม ราคาอยู่ที่หลักแสน

...

ตามมาด้วย พระราหู กะลาแกะ ยุคแรก หลวงพ่อน้อย วัดศีรษะทอง นครปฐม องค์นี้เป็นศิลป์นิยมสุด (หน้าเทพ) ตามเรื่องราวในตำนาน ที่ยักษ์กับเทพร่วมกันทำพิธีเสกน้ำอมฤต แต่ยักษ์เล่นไม่ซื่อจึงปล่อยพิษออกมาให้ทุกคนอ่อนแรง แต่พระราหูที่รู้ล่วงหน้าจึงแปลงร่างเป็นเทพทำให้ได้ดื่มน้ำอมฤตด้วย แต่พระนารายณ์จับได้ จึงขว้างจักรบั่นคอขาด แต่เพราะพระราหูได้ดื่มน้ำอมฤตแล้ว จึงเป็นอมตะไม่ตาย และได้เอาเศียรยักษ์มาใช้แทน หลวงพ่อน้อย จึงเอาเคล็ดอมตะมาสร้างเป็น พระราหูกะลาแกะ (หน้าเทพ) ออกเป็นยุคแรกๆ ซึ่งได้รับความนิยมสูงสุดถึงปัจจุบัน องค์นี้ของ “โอม โนโลโก้” เสี่ยธนาคม ว่องไว เป็นองค์แชมป์ “องค์ดารา” ในตำรามาตรฐาน ราคาจึงสูงถึงหลักล้าน

มาถึงเรื่องปิดท้าย ของ นายราเชน เจ้าของร้านอาหารทะเลย่านพุทธมณฑล ซึ่งจัดปาร์ตี้ฉลองวันเกิด กินดื่มกับพรรคพวกแบบสุดฤทธิ์สุดเดช พอเมาได้ที่ก็ออกอาการ เสี่ยใหญ่ใจดี ใครขออะไร ถอดให้หมด ทั้งสร้อย แหวน นาฬิกา เงิน พอตื่นเช้ามาสร่างเมาก็ทำหน้าสลด เพราะเมียบ่นว่าเมาแล้วหมดเนื้อหมดตัว ไม่เสียดายมั่งไง นายราเชน ตอบว่า เสียดายอย่างเดียว คือพระที่คล้องคออยู่ เพราะเป็นพระแท้ เดี๋ยวจะไปตามเอาคืน--ส่วน สร้อยทอง แหวนทอง นาฬิกาแบรนด์เนม ไม่เสียดายเลย เพราะตั้งใจเอาไปแจก และทั้งหมดเป็นของปลอม เจ้าค่ะ อามิตตพุทธ.

สีกาอ่าง

คลิกอ่านคอลัมน์ "สนามพระ" เพิ่มเติม