ดูผิวเผินจากภาพนี่คือ พระสมเด็จวัดระฆังพิมพ์ใหญ่ แม่พิมพ์เดียวกับองค์ ขุนศรี แตกต่างบ้างตรงที่เป็นองค์ที่รัก (สีดำ) หรือชาด (สีแดง) และปิดทอง ส่วนที่ปิดองค์พระลอกล่อน เห็นเส้นสายลายพิมพ์องค์พระนูนหนากว่า
สำหรับคนเป็นพระ “ไม่ยาก” เกินไป เป็นพระสมเด็จวัดระฆังแท้ ดูง่ายอีกองค์
ก็เมื่อปักหมุดหมาย เป็นพระแท้ พิมพ์ถูก เนื้อใช่ แล้ว วันนี้ขอตั้งโจทย์เสวนาลงลึกกันด้วยหัวข้อ การลงรักปิดทอง และการลงทองร่องชาด ซึ่งเป็นประเด็นปัญหาคลุมเครือ กันมาเนิ่นนาน
การลงรักปิดทอง ไม่ว่าจะรักน้ำดำ ที่เนื้อหนา ดำสนิท หรือรักน้ำเกลี้ยงที่เนื้อบาง สีน้ำดำแกมน้ำตาล สภาพพระที่ผ่านกาลเวลา 160 ปี เป็นอย่างไร...คงพอเข้าใจกันบ้างแล้ว
ส่วนการ “ลงทองร่องชาด” นั้น ต้องย้ำคำว่า “ร่อง” สะกด ร.เรือ คำเดียวกับร่องรอย ใช้กับงานแกะสลักลวดลายไม้...ส่วนที่เป็นเนื้อลายนูนหนาขึ้นมา “ปิดทอง” และส่วนที่เป็นร่องนั้น ทาชาดสีแดงไว้ เพื่อขับเน้นลวดลายให้นูนเด่น
ดูตามฝีมือช่าง พระสมเด็จลงรักปิดทอง มีทั่วไป เหตุเพราะองค์พระนูนต่ำ พื้นผนังก็ตื้นไม่ถึงชั้นเป็นหลุมร่อง จนต้องเป็นงาน “ลงทองร่องชาด”
กรณี “ชาด” ในพระสมเด็จ ตรียัมปวาย เขียนไว้ในปริอรรถาธิบายแห่งพระเครื่อง เล่มพระสมเด็จ...ไว้ว่า มีในพระสมเด็จวัดระฆังพิมพ์ปรกโพธิ์ (ฐานแซม) วงการนับเป็นองค์ครูอยู่องค์เดียว
ตรียัมปวาย เล่าว่า เจ๊สัวสอน บ้านอยู่ใกล้วัดจักรวรรดิ ศรัทธาในสมเด็จพุฒาจารย์โต วัดระฆัง นำพระติดแผ่นกระดาน ใช้ที่หน้าจั่วบ้าน เจ๊สัวสอนตาย ลูกหลานรื้อบ้านถวายวัด
ชาวบ้านเจอก็งัดพระออก พระก็แตกหัก คนหัวดีใช้วิธีเลื่อยไม้ออกตามขอบองค์พระ และใช้วิธีฝนเนื้อไม้ด้านหลังออก จากเนื้อไม้จดหลังพระ
...
สภาพพระที่ปรากฏ...ตรียัมปวาย สันนิษฐาน เป็นพระสมเด็จทาชาด...แล้วใช้รักทาแปะติดไม้
คะเนจากช่วงเวลาที่ “ตรียัมปวาย” รวบรวมพระสมเด็จ แต่งปริอรรถาธิบายฯ หลัง พ.ศ.2500 ถึงเล่มล่า พิมพ์ครั้งที่ 6 พ.ศ.2520 ท่านเขียนไว้อย่างมั่นใจว่า พระสมเด็จทาชาด มีเพียงพิมพ์ปรกโพธิ์พิมพ์เดียว
สมเด็จวัดระฆังพิมพ์อื่น พิมพ์ใหญ่ ทรงเจดีย์ ฐานแซม เกศบัวตูม กระทั่งปรกโพธิ์ พิมพ์อื่นที่ไม่ใช่ปรกโพธิ์แบบฐานแซม...ครูท่านย้ำว่า ร้อยละ 99 ที่ทาชาด เป็นพระปลอม
หมุดหมายความเชื่อนี้ ปักมั่นในใจ คนรักพระสมเด็จ...มานานแสนนาน
จนเมื่อราวสามสี่ปีที่แล้ว ปรากฏพระสมเด็จวัดระฆัง พิมพ์ใหญ่...สภาพพระลอกรักทอง ทั้งด้านหน้าด้านหลังออกแล้ว แต่เหลือส่วนขอบพระสี่ด้าน เห็นเป็นสีชาดแดงสดใส
เนื่องจากเป็นพิมพ์ใหญ่องค์ดัง...สภาพสมบูรณ์งดงาม เปลี่ยนมือกันด้วยราคาสั่นวงการ จากบางแค ไปกำนัน (บางบอน) 28 ล้าน เข้าพันธุ์ทิพย์ 40 ล้าน ไม่นาน ก็เข้าคอนักการเมืองพรรคตำนาน 60 ล้าน
เกิดข้อพิจารณา วิเคราะห์วิจารณ์กันใหม่...เนื้อรักสีดำ ชิ้นทองที่เหลือด้านหน้าหลัง ก็ยังชัดเจน ส่วนขอบที่ติดสีแดงเหมือนชาดบางๆนั้น แท้จริง เป็นชั้นในสุดของเนื้อรักพระสมเด็จวัดระฆัง มากกว่า
ยึดองค์กำนันเป็นหลัก หันไปไล่เลียง พระสมเด็จวัดระฆังที่ลงรักปิดทอง องค์อื่นๆ เจอหย่อม “สีชาด” ในพื้นผนังด้านซ้ายองค์ “เล่าปี่” และค่อยๆไล่เลียงไปอีกหลายองค์ เจอหย่อมชาดแดง ยืนยันสมมติฐานใหม่...
องค์ในคอลัมน์วันนี้ เป็นอีกองค์ พื้นผนังในกรอบซุ้ม เจอเนื้อสีชาด สลับเนื้อรักดำ...คละเคล้า แยกไม่ได้ว่าเป็นคนละเนื้อ เมื่อรวมอยู่ในองค์พระที่มีองค์ประกอบสมเด็จวัดระฆังแท้มาตรฐาน ไม่ว่าด้านหน้า ด้านหลัง
เจ้าของพระ ก็ต้องถอนหายใจเฮือกใหญ่ สมเด็จวัดระฆังท่านเมตตา มาโปรดตรงหน้า อีกองค์
พลายชุมพล
คลิกอ่านคอลัมน์ “ปาฏิหาริย์จากหิ้งพระ” เพิ่มเติม