วันนี้แฟนคอลัมน์ สนามพระวิภาวดี ก็ยังโล่งใจอยู่ เพราะ กทม.ยืนยันว่าน้ำจะไม่ท่วมแบบปี ๒๕๕๔ ซึ่งแปลได้ว่าท่วม แต่ไม่มากเหมือนปี ๕๔ หรือว่าไม่ท่วมเลย ท่านผู้ชมก็รอดูกัน--และ สนามพระวิภาวดี ขออาราธนาพุทธคุณของพระเครื่องในวันนี้ โปรดแผ่อำนาจบารมีหนุนนำให้ผู้ที่กำลังตกทุกข์ได้ยากทางเหนือ ผ่านพ้นความลำบากไปได้
องค์แรกคือ พระสมเด็จ พิมพ์ใหญ่ วัดระฆังฯ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) วัดระฆังฯกรุงเทพฯ ที่ใครเห็นก็ตื่นเต้นกับความงามสมบูรณ์ระดับท็อปเทน พอสายตรงเห็นก็บอกว่ามีเซียนใหญ่นำเข้าวงการ ที่ศูนย์พระ รร.มณเฑียร ๓๐ ปีก่อน พร้อมกับพระสมเด็จองค์ตำนาน “เล่าปี่” ที่เจ้าของเปิดราคาหลัก ๑๐ ล้าน ใกล้เคียงกัน จึงสร้างความฮือฮามากส์ เซียนเดินกันให้ควั่กไปชมพระ สุดท้ายองค์ “เล่าปี่” ที่มีชาดรักทองเก่าออกตัวไปก่อน ในราคา ๑๕ ล้าน ซึ่งเป็นราคาพระสมเด็จวัดระฆังฯ สูงสุดตอนนั้น--จากนั้นพระก็หายเงียบ จนถูกเรียกเป็น “องค์นินจา” ไป ถึงวันนี้พบว่า เสี่ยกบ kerry– ฐิการ ศุภวิรัชบัญชา เป็นผู้ครอบครองใหม่ไปแล้ว จึงต้องเรียกว่า องค์ kerry
...
ต่อด้วย พระบาง เนื้อเขียวหินครก กรุวัดดอนแก้ว ลำพูน งามแชมป์ สีเนื้อนิยมหายากสุดๆ--ลงภาพไปครั้งก่อน แต่ใส่ชื่อว่าของ เสี่ยโจ๊ก ลำพูน ก็ขออภัย เพราะเจ้าของตัวจริงคือ เสี่ยธนา พอใจ (แบ็งค์ นครปฐม) ตะหาก
องค์ต่อไปคือ พระปิดตา พิมพ์ชะลูดใหญ่ เนื้อผงคลุกรัก หลวงปู่ยิ้ม วัดหนองบัว กาญจนบุรี ๑ ใน ๕ เบญจภาคีพระปิดตาเนื้อผงพุทธคุณที่พบน้อยมากๆ โดยเฉพาะเนื้อ “คลุกรัก” แบบองค์นี้ ของ เสี่ยสัญชัย เสถียรุจิกานนท์ (พีท เมืองกาญจน์) และยังสวยสมบูรณ์ กดพิมพ์ติดลึกชัดสวยแชมป์เดิมๆ สมราคาหลักล้าน
องค์ที่ ๔ ก็ พระปิดตา พิมพ์ใหญ่ ที่ หลวงพ่อเนียม วัดน้อย สุพรรณบุรี สร้างด้วย เนื้อตะกั่ว ของ เสี่ยสวรรค์ บางปลาม้า เป็นพระปิดตาพิมพ์ใหญ่ที่หายากมาก พระแท้ ดูง่าย พิมพ์ชัด เนื้อใช่ สภาพสวยสมบูรณ์ ผิวเนื้ออุดมด้วยคราบปรอทไขตะกั่ว บอกอายุความเก่าธรรมชาติแบบนี้ ราคาว่ากันถึงหลักแสนกลาง
...
องค์ที่ ๕ ก็ พระปิดตา เป็นรุ่น จัมโบ้ ๒ เนื้อผงใบลาน (ลายเสือ) หลวงปู่โต๊ะ วัดประดู่ฉิมพลี กรุงเทพฯ พระปิดตายอดนิยมอันดับ ๒ ในสกุลพระปิดตาหลวงปู่โต๊ะ ที่ท่านสร้าง และจัดพิธีปลุกเสก ๓ ไตรมาส ระหว่างปี พ.ศ.๒๕๒๑-๒๓--มีเนื้อผงเกสร ๓,๐๕๖ องค์ เนื้อผงใบลาน ๓๔,๙๗๔ เนื้อผงธูปกรรมฐาน ๒,๗๐๐ ในครั้งนั้น สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรม ราชินีนาถ ในรัชกาลที่ ๙ ได้พระราชทานพระรุ่นนี้ แก่ทหารตำรวจชายแดน และพบประสบการณ์แคล้วคลาดเป็นที่เลื่องลือ พระจึงได้รับความนิยมรวดเร็ว องค์นี้ของ คุณพี่เบญจวรรณ ไกรสวัสดิ์ เป็น เนื้อผงใบลาน ที่มีสีเนื้อพิเศษคล้ายลายเสือ สภาพสวยแชมป์เดิมๆ (แกะกล่อง) พิมพ์คมจัดชัดลึก ยันต์หลังติดเต็มชัด สมบูรณ์สุดๆ แบบนี้หาองค์สู้ยาก ราคาจึงอยู่ที่ความพอใจ
...
อีกรายการคือ เหรียญโล่ พระพรหมสี่หน้า เนื้อเงินหน้านาก อ.เฮง ไพรวัลย์ ฆราวาสขมังเวทยุคสงคราม ซึ่งอาศัยในเรือ ขึ้นล่องอยู่ในแม่น้ำเจ้าพระยา แวะพักอยู่ตาม ท่าน้ำระหว่างอยุธยา ที่ท่าน้ำวัดสะแก ถึงท่าน้ำในกรุงเทพฯ--ลูกศิษย์ก็จะไปรอเรือท่านเทียบท่า ขอสักยันต์ เครื่องรางของขลัง ที่มีชื่อเสียงมาก เช่น แหวนปลอกมีด ตะกรุดจักรพรรดิ ผ้ายันต์พรหมสี่หน้า เหรียญสี่เหลี่ยมปั๊มพระพรหมสี่หน้า และ เหรียญโล่ พระพรหมสี่หน้า ที่ใช้แผ่นโลหะมีค่า เช่น ทองคำ นาก เงิน เป็นพื้น แปะยกหน้าด้วยรูปปั๊มองค์พระพรหมสี่หน้า สลับเนื้อตัดชิด ติดยึดด้วยหมุด ลงจารอักขระลายมือหน้าหลัง นำเข้าพิธีปลุกเสกในพรรษาโดย หลวงปู่สี วัดสะแก ซึ่งท่านจะล่องเรือไปจอดที่ท่าน้ำวัดสะแกทุกพรรษา แต่ละชิ้นจะทำด้วยโลหะมีค่า ฝีมือประณีตงดงาม อย่างเหรียญนี้ของ ร้านไทยศิลป์ พันธุ์ทิพย์ งามวงศ์วาน เป็น เหรียญเนื้อเงิน ยกหน้าพระพรหม เป็นเนื้อนาก งามสมบูรณ์ที่สุดในวงการ อยู่ในตำราเครื่องรางของขลังมาแต่อดีต--ปัจจุบันฟังว่าราคาถึงหลัก
สิบล้าน โอ้ แม่เจ้า
มาถึงเรื่องปิดท้าย ของ อาจารย์สมชาติ ครูเกษียณ ซึ่งศรัทธา หลวง พ่อเนื่อง วัดจุฬามณี มาก สมัยท่านมีชีวิต “จารย์สมชาติ” จะไปกราบนมัสการที่วัดเสมอ และทำบุญบูชาพระเครื่องของขลัง โดยรับจากมือหลวงพ่อมาสะสมไว้มาก--ที่ใช้ติดตัวเป็น ตะกรุดลูกอม ไหม ๕ สีโลกธาตุ ที่ใส่สร้อยคล้องคอ วันหนึ่งทำสร้อยขาด ตะกรุดร่วงหายหาไม่เจอ “จารย์” กลุ้มใจมาก ลูกก็บอกว่า ไปวัดเช่ามาใหม่ น่าจะมี พ่อก็ว่าอาจมี แต่ไม่เหมือน เพราะไม่ได้รับกับมือ หลวงพ่อมรณภาพไปนานแล้ว แล้วนึกได้ว่าเคยอ่านเจอว่า ถ้าตะกรุดท่านหายให้จุดธูปตั้งจิตอธิษฐานขอท่าน จะได้คืนมาที่หัวนอนอย่างปาฏิหาริย์ ก็รีบทำตามนั้น--ตื่นเช้ามาก็คลำหัวนอนทุกวัน แต่ไม่มีวี่แวว ผ่านไปเป็นเดือน วันหนึ่ง “จารย์สมชาติ” ก็บอกลูกอย่างดีใจว่า ได้ตะกรุดคืนตามอธิษฐานแล้ว เพียงแต่ไม่ได้คืนที่หัวนอน แต่ไปได้คืนที่ร้านพระเครื่อง แต่ตะกรุดจะไปถึงนั่นยังไง “จารย์” ขี้เกียจสืบ เพราะถือเป็นปาฏิหาริย์เหมือนกัน เพราะเป็นดอกเดิม ที่ทำตำหนิไว้ชัดเจน เจ้าค่ะ อามิตตพุทธ.
...
สีกาอ่าง
คลิกอ่านคอลัมน์ "สนามพระ" เพิ่มเติม