ว่ากันเฉพาะเรื่องสถานที่พบ ก็เป็นที่สรุปได้ชัด พระพิมพ์สามเหลี่ยมดินเผา ขุดพบกันใต้ลานดินบริเวณวัดนางพญา ริมแม่น้ำน่าน จังหวัดพิษณุโลก เมื่อปี พ.ศ.2444
ปีนั้นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จฯไปทอดพระเนตร พระพุทธชินราชองค์จำลอง ที่ทรงโปรดเกล้าฯให้หล่อขึ้นเพื่ออัญเชิญไปเป็นพระประธาน พระอุโบสถวัดเบญจมบพิตร ในกรุงเทพฯ
ทางการสั่งปรับแต่งพื้นที่ลานวัดนางพญา...ซึ่งอยู่ติดกับพระอุโบสถวัดพระพุทธชินราช สร้างพลับพลาถวายเป็นที่ประทับ ชาวบ้านขุดดินก็พบพระพิมพ์มากมาย เมื่อ ร.5 เสด็จถึง ชาวบ้านก็เอาใส่พานถวาย ทรงแจกจ่ายข้าราชบริพารที่ติดตาม
พระพิมพ์สามเหลี่ยม ซึ่งมีหลายแม่พิมพ์นั้น จึงถูกเรียกตามชื่อวัดว่า พระนางพญา มานับแต่นั้น
“ตรียัมปวาย” (พลตรีผจญ กิตติประวัติ) ขณะรับราชการทหารยศร้อยเอกอยู่พิษณุโลก บันทึกไว้ในหนังสือ ปริอรรถาธิบายแห่งพระเครื่อง เล่มพระนางพญา ว่า ปี 2487 ต้นมะพร้าวลานวัดต้นหนึ่งโค่น พบพระนางพญา ชาวบ้านแตกตื่นมาแย่งกันขุดกันเป็นโกลาหล นับเป็นการขุดพบพระนางพญาครั้งที่ 2
ปีต่อมา พบอีกบริเวณสวนบ้าน “ตาปาน” ริมแม่น้ำน่านฝั่งตรงข้าม ตรียัมปวาย ได้พระนางพญาพิมพ์เล็กๆจากตาปาน ไว้ราว 60 องค์ แต่ก็ให้คนชอบพอ รวม ร.ต.อ.ยอดยิ่ง สุวรรณาคร (พิมพ์สังฆาฏิ เนื้อเขียว) ด้วย ไปจนหมด
พระพิมพ์ที่พบฝั่งแม่น้ำบ้านตาปาน นักเลงพระรุ่นเก่าเรียกกรุเหนือ ส่วนพระพิมพ์ที่พบลานวัดนางพญา เรียกกรุใต้...
ต่อมา มีการพบพระนางพญาหลายวัดในกรุงเทพฯ วัดราชบูรณะ วัดสังข์กระจาย โบสถ์วังหน้า และที่วัดอินทรวิหาร
พระนางพญา เริ่มมีชื่อเสียง จากกรณี ตาควาย คนแจวเรือข้ามฟาก ท่าช้างวังหน้า เมาอาละวาด ว่ากันว่าตาปานหนังเหนียว ยิงไม่เข้า พอถูกกระสุนปืน แกร้องโอ๊ย! เอามือขยี้ แล้วก็สู้ตำรวจต่อ เรื่องบานปลายถึงขนาดตำรวจสามโรงพักถูกเกณฑ์ไปช่วยกันจับ
...
ร.ต.อ.ยอดยิ่ง สมัยเป็น ร.ต.ต.หนึ่งในตำรวจที่ถูกเกณฑ์ ตัดสินใจกระโดดเข้าจับตาควายใช้ขวานฟัน ต้องผละหนีลงน้ำ คดีตาควายจบด้วยฝีมือภารโรงโรงพัก ใช้ท่อนไม้ทุบหัวตาควายสลบ
พระนางพญาเนื้อสีเขียวพิมพ์สังฆาฏิ (คล้ายองค์เสธ.ผจญให้ ร.ต.อ.ยอดยิ่ง) หายจาก ตัวตาควายตอนถูกจับ “ตรียัมปวาย” เล่าว่า เป็นญาติกับ ร.ต.อ.ยอดยิ่ง เมื่อถูกออกปากขอ แขวนคออยู่ก็ตัดใจให้
ปี พ.ศ.ที่ให้ ได้ฟรีจากตาปานก็มาก ทั้งพระนางพญา ยังไม่มีราคาค่างวด
พลตรีผจญ หรือตรียัมปวายนี่เอง เป็นผู้จัดพระนางพญา เป็นองค์ที่สองในชุดเบญจภาคี
ในตำราพระนางพญา ท่านจำแนกไว้ พิมพ์ใหญ่เข่าโค้ง พิมพ์ใหญ่เข่าตรง พิมพ์สังฆาฏิ พิมพ์เทวดา พิมพ์อกนูนเล็ก และแยกพิมพ์พิเศษไว้หลายพิมพ์ พิมพ์พิเศษอกนูนใหญ่ (ตอนหลังวงการจัดเป็นพิมพ์ใหญ่พิมพ์ที่สาม) พิมพ์พิเศษ แขนอ่อนอยุธยา (ตอนหลังเรียก พิมพ์เข่าบ่วง) พิมพ์พิเศษแขนอ่อนสุโขทัย
เฉพาะพิมพ์ใหญ่เข่าตรง ตรียัมปวายไม่ได้แยก พิมพ์ใหญ่เข่าตรงมือตกเข่า เอาไว้ ต่อมาวงการแยกออกเป็นอีกพิมพ์ นอกจากส่วนปลายมือที่ปิดเข่าเลยลงไป แตกต่างจากพิมพ์ใหญ่เข่าตรงแล้ว ทรวดทรงองค์พระและเส้นสายลายพิมพ์อื่นๆ ใกล้เคียงกันมาก น้องใหม่ที่ไม่สันทัด อาจจะแยกไม่ออก
องค์ในคอลัมน์วันนี้ เป็นพิมพ์ใหญ่เข่าตรง มือตกเข่า สภาพค่อนสวย ติดจมูกปากตา ข้อสังเกตที่แยกจากพิมพ์ใหญ่เข่าตรงที่มีเส้นสังฆาฏิเส้นเรียวบางอ่อนช้อยชนรักแร้ ก็คือ เส้นสังฆาฏิที่แข็งทื่อไม่ชนรักแร้
เท่าที่ติดตามวงการ พิมพ์ใหญ่เข่าตรงมือตกเข่า จำนวนน้อยกว่า นานๆจะเจอเข้าตาสักองค์.
พลายชุมพล
คลิกอ่านคอลัมน์ “ปาฏิหาริย์จากหิ้งพระ” เพิ่มเติม