สำหรับคนรักพระน้องใหม่ หากพระสมเด็จองค์ในมือ ถูกตัดสินจากผู้รู้หลายๆท่าน รวมทั้งตัวเองก็เชื่อว่า พิมพ์ใช่ เนื้อใช่ แล้วก็ถือได้พระแท้...จบอยู่แค่นั้น หาตลับแขวนคอได้ ไม่ต้องพะวงสงกาอะไรต่อไปอีก
แต่หากรักจะเรียนรู้ให้ลุ่มลึกต่อไป...ก็ควรจะเรียนรู้ที่ว่า พิมพ์ใช่! นั้น พิมพ์อะไร?
เอาแค่พิมพ์ใช่! พิมพ์ที่ถือเป็นมาตรฐานวงการ ประการเดียว ก็ต้องคุยกันยืดยาว พิมพ์ใช่ที่ว่า ใช้ทฤษฎีใคร? ถ้าใช้ทฤษฎี “ตรียัมปวาย” ว่ากันเฉพาะพิมพ์ใหญ่ วัดระฆังครูท่านจำแนกไว้ 6 แม่พิมพ์
พิมพ์เขื่อง พิมพ์โปร่ง พิมพ์ชะลูด พิมพ์ป้อม พิมพ์สันทัด พิมพ์ย่อม เพิ่มพิมพ์ใหญ่บางขุนพรหม อีก 2 แม่พิมพ์ พิมพ์เขื่องเส้นด้าย และพิมพ์ทรงเลือน
แต่หากจะใช้ทฤษฎี “นิรนาม” เผยแพร่ใน “พรีเชียส” ของอาจารย์รังสรรค์ ต่อสุวรรณ มีเพียง 4 พิมพ์
แม้จะต่างแม่พิมพ์ แต่ “นิรนาม” ชี้ให้เห็นว่า ทั้งเส้นสายลายพิมพ์ และจุดตำหนิที่ควรสังเกตไว้...ตรงกันถึง 11 ตำแหน่ง ทฤษฎีนี้ ฟงน้ำเสียงเซียนใหญ่ ใช้กันเป็นมาตรฐานวงการ
เท่าที่ฟังเซียนใหญ่ ขยายวิทยายุทธเรื่องพระสมเด็จออกมา ทั้งสื่อกระดาษ และสื่อโซเชียลฯ ผมยังไม่เคยได้ยินใคร กล้าเอาสองทฤษฎีครูมาพิจารณาร่วมกัน
แต่ที่ใช้กันมากกว่า เพราะง่ายกว่า คือ ยกพระสมเด็จองค์ดังๆเป็นองค์ครู เช่น องค์ลุงพุฒ องค์ขุนศรี องค์เล่าปี่ ฯลฯ เป็นเกณฑ์ เทียบเคียง
การเรียนรู้เรื่องพระสมเด็จวัดระฆัง...จะคุยกันแบบให้ความรู้ แล้วมโนกันไปถึงองค์ไหนต่อองค์ไหน ไม่มีผลสัมฤทธิ์เท่ากับมี “องค์ตัวอย่าง” เช่น พิมพ์ใหญ่ องค์ในคอลัมน์ วันนี้ สักหนึ่งองค์
แล้วก็ค่อยๆไล่เลียงพิจารณา น่าจะใกล้เคียงพิมพ์ไหน?
ใครมีหนังสือพระเครื่องดังใกล้มือ หรือถนัดเปิดโทรศัพท์มือถือ...ดูองค์ในคอลัมน์วันนี้ แล้วเปิดหา องค์ลุงพุฒให้เจอ แล้วเอามาเทียบเคียงกัน
...
องค์ลุงพุฒนั้น ต้องยอมรับนับถือ คนรักพระรุ่นใหญ่...ที่คัดสรรกันมาให้ดูเป็นแบบอย่าง หากจะพูดถึงความคมชัดลึกของเส้นสาย และรอยกาบหมากด้านหลังที่คมชัดน้ำหนักเดียวกับแม่พิมพ์ด้านหน้า...
จนถึงวันนี้ ยังหาองค์ที่สอง ที่คมจริง สวยจริง มาเทียบเคียงไม่ได้
องค์ในคอลัมน์วันนี้ เส้นสายลายพิมพ์ด้านหน้า ติดตื้นกว่า เสน่ห์อยู่ที่ฝ้ารักน้ำเกลี้ยงในพื้นผนัง...ส่วนด้านหลัง ริ้วรอยธรรมชาติแบบรอยย่นตะไคร่น้ำ ช่วยตัดสินได้เปนหลังสมเด็จวัดระฆังแท้อีกแบบหนึ่ง
ส่วนที่เทียบเคียงเหมือนองค์ลุงพุฒ...ไม่สังเกตไม่รู้ อยู่ที่ระดับหัวไหล่ซ้าย...ตํ่ากว่าระดับหัวไหล่ขวา
แต่จะใช้จุดสังเกตนี้ไปพิจารณาพิมพ์ใหญ่ องค์อื่นที่คล้ายๆก็ไม่ได้ องค์ขุนศรี ผมเชื่อว่ากดจากแม่พิมพ์เดียวกัน แต่การตัดกรอบสี่ด้าน ทำให้ระดับไหล่พลิกผัน ทำให้หัวไหล่ซ้ายสูงกว่าหัวไหล่ขวา
ความยักเยื้องของพิมพ์พระสมเด็จ ที่ออกจากแม่พิมพ์เดียวกัน เกิดขึ้นได้จากการกดแม่พิมพ์หนักเบาไม่เท่ากัน การดึงพระออกจากแม่พิมพ์ต่างกัน บางองค์ยกมุมซ้าย บางองค์ยกมุมขวา ฯลฯ
ภาพสมเด็จองค์ลุงพุฒ...ในหนังสือพระหลายเล่ม ไม่ได้ถูกใช้เป็นองค์ครูดูตำหนิ จึงคงได้แต่เดากันเอาเอง
สำหรับผม...เชื่อว่า ถ้าองค์เสี่ยดมเป็นพิมพ์ใหญ่ พิมพ์ที่ 1 ตรียัมปวาย เรียกพิมพ์เขื่อง องค์ลุงพุฒ ทฤษฎีตรียัมปวาย ควรจัดท่านไว้ในพิมพ์โปร่ง... ครูท่านว่า ขนาดพิมพ์โปร่ง ใหญ่กว่าพิมพ์เขื่องนิดหน่อย
ประเด็นขนาดของแต่ละแม่พิมพ์...อย่าคิดว่าไม่สำคัญ....เช่นขนาดของพิมพ์ชะลูด พิมพ์ป้อม ถ้าจำขนาดของแท้ได้...เจอองค์เนื้อหาดี เส้นสายลายพิมพ์ก็ดี...ก็ตัดสินได้ง่าย...สองพิมพ์นี้ของปลอมมี...แต่น้อย เจอเข้าตาเมื่อไหร่ มักได้สมเด็จวัดระฆังแท้ขึ้นคอ.
พลายชุมพล
คลิกอ่านคอลัมน์ “ปาฏิหาริย์จากหิ้งพระ” เพิ่มเติม