“การเริ่มต้นทะเลาะแล้วลงเอยเป็นความบาดหมางคือการเพิ่มสีดำลงบนพื้นกรรม...เพิ่มความร้อนให้จิตและเพิ่มอันตรายบนเส้นทางเกิดตาย เพราะคู่ทะเลาะจะผูกใจในฐานะศัตรู

การเริ่มต้นทะเลาะแล้วลงเอยเป็นความเข้าใจคือการเพิ่มสีขาวลงบนพื้นกรรม... เพิ่มความเย็นให้จิตและเพิ่มความปลอดภัยบนเส้นทางเกิดตาย เพราะคู่ทะเลาะจะผูกพันในฐานะมิตร”

พ่อแม่ พี่น้อง คนรัก เพื่อนร่วมงาน เพื่อนบ้าน หรือกระทั่งเพื่อนร่วมชาติ อาจปรากฏในใจเราในฐานะมิตรหรือศัตรูสลับไปสลับมา...ไม่มีใครเป็นมิตรแท้หรือศัตรูถาวร ขึ้นอยู่กับว่าใครจะใช้ข้อขัดแย้งเป็นบทฝึกทะเลาะ หรือสะสมนิสัยทำความเข้าใจกัน... กระแสในตัวนักทะเลาะจะดึงดูดศัตรูและการลงเอยร้าย

ส่วนกระแสในตัวนักทำความเข้าใจ จะดึงดูดมิตรและการลงเอยดี

“กระแสในตัวแต่ละคนนั่นเอง จะบันดาลความเป็นไปของทั้งภพนี้และภพหน้าให้ปรากฏเฉพาะตน!” Cr. “Dungtrin”

“ตะกรุด” ถือเป็นเครื่องรางที่อยู่คู่กับสังคมไทย ผศ.ดร.กังวล คัชชิมา อาจารย์ประจำภาควิชาภาษาตะวันออก คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร และผู้เชี่ยวชาญด้านปรัชญา พุทธศาสนา ภาษาศาสตร์ (ภาษาเขมร) และการจัดการองค์การศาสนา เล่าให้ฟังเป็นความรู้ว่า...นับแต่อดีตจนถึงปัจจุบันนี้คำว่า “ตะกรุด” ก็ยังไม่แน่ชัดว่ามาจากคำว่าอะไร...แต่ก็มีข้อสันนิษฐานหลายๆอย่างให้ชวนคิด

...

ในภาษาเขมรเรียกตะกรุดว่า “กถา” ส่วนภาษาอีสานเรียกว่า “กตุด” (กะตุด)

นี่...อาจจะเป็นคำร่วมที่ใช้เรียกกัน แต่ก็ยังไม่มีหลักฐานที่แน่ชัด

ความจริง “ตะกรุด”...ก็เปรียบเสมือนผ้ายันต์ จะแตกต่างตรงที่การใช้งาน เช่น หากสักยันต์ที่ตัวก็อาจจะมีข้อห้ามบางอย่างที่ต้องยึดถือไว้ตลอด หรือถ้าเป็นเสื้อยันต์ผ้ายันต์ก็อาจจะเปื่อยยุ่ยเสียหายได้ง่าย...จึงเขียนยันต์บนแผ่นโลหะแล้วม้วนๆห้อยติดตัว จะห้อยคอหรือทำเป็นเชือกคาดเอวเป็นเข็มขัดก็ทำได้

ในยันต์หรือตะกรุดส่วนใหญ่จะเขียนว่า “นะโมพุทธายะ” ซึ่งเป็นคาถาพระพุทธเจ้าห้าพระองค์ ซึ่งหากจะแปลตรงตัวก็คือ “ขอความนอบน้อมจงมีแด่พระพุทธเจ้า” ซึ่งจะมีที่มาคล้ายกับศาสนาพราหมณ์หรือฮินดูคือ โอม นมัส ศิวายะ ก็คือนอบน้อมพระศิวะ

ความเชื่อเรื่อง...เครื่องรางของขลังนี้

สืบทอดต่อกันมานับพันปีแล้ว สาเหตุเพราะในใจมนุษย์ยังคงมีความกลัว ความกลัวของคนโบราณกับคนในยุคปัจจุบันไม่แตกต่างกัน แต่เปลี่ยนรูปแบบเท่านั้น

ลึกๆแล้ว “คน” จึงแสวงหาเครื่องรางหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์มาไว้ในครอบครองเพื่อเป็นกำลังใจ แต่เราสามารถศึกษาได้ว่าสิ่งที่ซ่อนอยู่หรือสิ่งที่ครูบาอาจารย์ส่งต่อมาคืออะไร

คือ...“การมีสติ ตั้งมั่นในคุณงามความดี ไม่ใช่มองแต่เรื่องไร้สาระ...”

“ตะกรุด”...ผู้นิยมศรัทธามีความเชื่อในเรื่องเครื่องรางป้องกัน ในอดีตโบราณนานมาอาจกล่าวได้ว่า...ไม่ค่อยมีใครโชว์เครื่องรางของขลังให้คนอื่นรู้สักเท่าไหร่นัก เพราะกลัวว่าคู่อริจะเห็นถึงจุดอ่อนด้านพุทธคุณที่เกี่ยวกับเครื่องรางที่ใช้อยู่ เพราะด้านวิทยาคม “เครื่องราง” ทุกชนิดมีจุดอ่อนในแต่ละแขนง

ตัวอย่างเช่น ถ้ารู้ว่าเราห้อยพระสายมหาอุด คู่ต่อสู้จะไม่สังหารด้วยอาวุธปืน แต่จะจับตัวแล้วใช้ไม้ทุบให้ถึงตาย ถ้าเป็นสายคงกระพันชาตรีก็จะเอาผ้าถุงจากราวตากผ้ามาคลุมหัวเพื่อให้ของเสื่อม

“วิทยาคมคงกระพันชาตรี” ศาสตร์วิชาเหล่านี้ครูบาอาจารย์เล่าเรียนสืบทอดต่อๆกันมาจากรุ่นสู่รุ่น เอาเป็นว่า...การแขวนพระเครื่องหรือตะกรุดให้พุทธคุณปกป้อง ต้องทำตามข้อกำหนดตามที่ครูได้กำหนดมา เช่นว่า...สายวิชาคงกระพัน ห้ามกินผักทอดยอด น้ำเต้า ห้ามลอดไม้ค้ำกล้วย

เหล่านี้เชื่อไม่เชื่อก็อย่าลบหลู่ เพราะเป็นศาสตร์ความรู้ที่บอกกล่าวกันมาแต่โบร่ำโบราณ

คนในแวดวงนักเลงผู้ศรัทธาพุทธคุณข้างต้นเหล่านี้เคยกล่าวไว้ว่า...“เครื่องรางของขลังที่ไม่ศักดิ์สิทธิ์ เพราะคนถือไม่ได้ทำตามข้อห้ามปฏิบัติ ทำให้พุทธคุณของครูอาจารย์เสื่อมถอยลง”

...

สุดท้ายแล้วอยากเตือนไว้ว่า คนที่มีความเชื่อมีทั้งคนที่ศรัทธาจนงมงาย มองเครื่องรางเป็นสิ่งสำคัญในชีวิตเลยละทิ้งทุกสิ่งอย่างและบูชาสิ่งนั้นเพราะนึกว่าเป็นสิ่งสูงสุด...จนนำไปสู่ความเชื่อผิด หรือถูกหลอกได้ง่าย ส่วนคนอีกประเภท...เชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่ง ซึ่งจะทำให้มีเหตุมีผลที่จะเชื่อมากกว่า

ดังนั้น...การเชื่อสิ่งใดก็ควรใช้วิจารณญาณตนเองในการไตร่ตรอง เพื่อไม่สร้างความเดือดร้อนให้กับตนเอง

ย้ำว่า...การคิดสร้างเครื่องรางของขลัง เกิดขึ้นด้วยเหตุผลหลายประการ ป้องกันตัวเอง สร้างเสริมหรืออำนวยประโยชน์ในอาชีพการงาน ศรัทธาความเชื่อในอดีตโบราณนานมา... ผู้ออกรบจะพกพาพระเครื่องและสวมเสื้อยันต์เพื่อป้องกันอันตราย ผู้ทำอาชีพเกษตรกรรม ทำนา จะหาวัวธนู ควายธนู...

เพื่อป้องกันอาเพศไม่ให้มาสู่ไร่นาพืชผลของตนเอง อีกทั้ง...นักแสดงก็จะสรรหาสาลิกาลิ้นทองมาพกขณะทำงาน เพื่อให้ผู้คนรักใคร่เมตตาปรานี เครื่องรางของขลังเหล่านี้ ถูกส่งต่อให้คนในสังคมเดียวกัน ครู...อาจารย์... มอบให้ศิษย์ พ่อแม่...มอบให้ลูกหลาน

...

อีกทั้งผู้ใดมีความรู้ความสามารถ สร้างเครื่องรางของขลัง ก็จักต้องเป็นผู้มีความสำคัญ มีวัตรปฏิบัติดีงาม เป็นที่ยอมรับในสังคม

“ศรัทธา”...นำมาซึ่งปาฏิหาริย์? เชื่อไม่เชื่อโปรดอย่าได้...“ลบหลู่”.

รัก-ยม

คลิกอ่านคอลัมน์ “เหนือฟ้าใต้บาดาล” เพิ่มเติม