จะขอสารภาพกว่าจะตัดสินพระสมเด็จวัดระฆัง องค์ในคอลัมน์วันนี้ เป็นพิมพ์เกศบัวตูม ก็ต้องเปิดตำราเทียบเคียงและใคร่ครวญอยู่เป็นนาน

ด้วยข้อสะดุดใจ ฐานคมขวานฐานสิงห์ ชั้นกลาง กว้างกว่าฐานชั้นที่ 1

แต่ขนาดความกว้าง...ก็น้อยกว่า เกศบัวตูมพิมพ์ฐานสิงห์กว้าง จะผลักท่านเข้าพิมพ์ฐานสิงห์แคบ ก็เห็นๆกับตา ไม่แคบเหมือนพิมพ์ฐานสิงห์แคบ ที่โดยทั่วๆไป ระดับความกว้างเท่ากับฐานชั้นที่ 1

หากกระนั้น จะนิมนต์ท่าน เป็นพิมพ์ทรงเจดีย์ สักแม่พิมพ์? ก็น่าจะได้

องค์นี้ติดฐานแซมใต้พระเพลาเส้นเดียว เกศบัวตูมส่วนใหญ่ ติดฐานแซมที่สอง (หลักครูช่าง เส้นบัวลูกแก้ว) จึงคล้ายไปทางทรงเจดีย์ส่วนใหญ่ ดูจากองค์จริง ขนาดพระสมเด็จองค์นี้ “ย่อม” กว่าหลายพิมพ์

เทียบทรงเจดีย์แม่พิมพ์ที่ย่อมหรือเล็กกว่า แล้วเส้นสายลายพิมพ์ก็ไม่ใช่

ลองย้อนกลับมาความคุ้นตาเดิมๆ ถ้าจะเป็นพิมพ์เกศบัวตูม จะไปกันได้กับแม่พิมพ์ไหน?

กรอบความนิยมของวงการ มีสองพิมพ์ พิมพ์ฐานสิงห์แคบ พิมพ์ฐานสิงห์กว้าง แต่ภาพพระพิมพ์เกศบัวตูมแท้ ที่เปลี่ยนมือซื้อขายในวงการ คนเป็นพระรู้กัน มีแม่พิมพ์มากกว่า

ครู “ตรียัมปวาย” ท่านจำแนกพิมพ์เกศบัวตูมไว้ 5 พิมพ์ พิมพ์เขื่อง พิมพ์โปร่ง พิมพ์สันทัด พิมพ์ย่อม และพิมพ์เกศบัวเรียว

ในสมัยที่ท่านรวบรวมพระแท้มาเป็นองค์ครูในหนังสือ ปริอรรถาธิบายแห่งพระเครื่อง เล่มพระสมเด็จ (เล่มที่ผมถือในมือ พิมพ์ครั้งที่ 6 พ.ศ.2522) ครูท่านคัดสรรองค์ครูให้พวกเราดูได้แค่ 9 องค์

พิมพ์เขื่อง องค์เดียว ทั้งยังเป็นกรุบางขุนพรหม มีคราบกรุเกรอะกรัง พิมพ์โปร่ง ก็กรุบางขุนพรหม แต่เป็นกรุเก่าคราบบาง ความสับสนระหว่างการเข้าหน้าหนังสือ ครูเอาไปปนกับพิมพ์สันทัด

พิมพ์ที่มีมากถึง 5 ในจำนวน 9 องค์ เป็นพิมพ์ย่อม แม้เป็นภาพขนาดเล็กเท่าองค์พระ สีขาวดำ พยายามเอาองค์ในคอลัมน์นี้ ไปเทียบเคียงเส้นสาย...เน้นความกึ่งกว้างของฐานชั้นกลาง บางองค์ก็เข้าเค้าไปกันได้

...

จึงน่าจะหาข้อยุติเรื่องแม่พิมพ์ได้ องค์นี้เป็นเกศบัวตูมพิมพ์ย่อม

แต่ที่จริงแล้วคนเป็นพระสมเด็จด้วยกัน องค์นี้จุดเด่นอยู่ที่ผิวพรรณและเนื้อ พระมีสภาพถูกใช้มาก จนเห็นความสึกช้ำ แต่ไม่เห็นความฉ่ำซึ้ง เพราะถูกเก็บไว้นาน...ยืนยันความเป็นพระแท้ได้ แทบจะคุยว่า ด้วยตาเปล่า

พระสมเด็จที่ผิวพรรณวรรณะเปิด จะปรากฏหลุมร่อง รอยยุบ รอยแยก ชดเชย องค์นี้มีรอยหักแต่ยังไม่ได้ซ่อมที่มุมล่างซ้าย กลมกลืนไปกับสภาพพระที่ถูกใช้สมบุกสมบัน

โดยทางจิตวิทยา รอยหักรอยซ่อมเป็นตัวช่วย เพิ่มคะแนนศรัทธา “แท้เลย!”

พลิกด้านหลัง ระดับความสึกช้ำใกล้เคียงด้านหน้า มีทั้งหลุมร่อง เนินราบ เนินสูงสลับ ผิวส่วนที่ดูดซับฝ้ารัก ตัดกับพื้นผิวที่ขาวอมเหลือง รวมขอบสี่ด้านที่สึกมน บอกที่มาว่าเป็นพระองค์เดียวกัน

ทุกส่วนจึงกลมกลืนเข้าชุดสภาพแวดล้อมเดียวกัน

ว่ากันด้วยธรรมชาติ และเนื้อหาพระสมเด็จวัดระฆังองค์นี้ ดูแท้ได้ทันทีโดยไม่ต้องดูพิมพ์

และหากแม่พิมพ์เริ่มต้นด้วยเส้นสายลายพิมพ์ เป็นฝีมือช่างทองราชสำนัก ช่างมือชั้นครู ที่เชื่อกันว่า หลวงวิจารเจียระไน...แม้ยังหาองค์พิมพ์เดียวกัน เป็นเพื่อนให้อุ่นใจไม่เจอ

แต่กับคนเข้าใจพระสมเด็จขั้นบรรลุ ถือเป็นองค์ประกอบพิเศษ ที่เห็นแล้วยิ้มได้

ตามหลักเหตุผล บวกประสบการณ์ยาวนาน ยังไม่เคยเจอแม่พิมพ์นั้นเลย ของแท้ไม่เจอ ของปลอมก็จึงไม่มี พระสมเด็จที่แม่พิมพ์อย่างนี้ เนื้อหาดูง่ายๆ อย่างนี้ จึงเป็นพระสมเด็จแท้ได้โดยสถานเดียว.


พลายชุมพล

คลิกอ่านคอลัมน์ “ปาฏิหาริย์จากหิ้งพระ” เพิ่มเติม