เหรียญหล่อพระสมเด็จ พิมพ์ปรกโพธิ์ หลวงพ่อโบ้ย วัดมะนาว ของบอมเบย์ สุพรรณ.

ตอนนี้เมืองไทยกำลังอยู่ในบรรยากาศของการเฉลิมฉลองวันสำคัญ ในโอกาสมหามงคลที่ พระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนม พรรษา ๗๒ พรรษา วันที่ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๖๗ ไปไหนก็เห็นซุ้มเฉลิมพระเกียรติทั่วเมือง บอกให้รู้ว่าคนไทยยึดมั่นกับ สถาบันพระมหากษัตริย์อย่างแน่นแฟ้น ซึ่งทำให้ความเป็นชาติดำรงคงอยู่มาได้จนทุกวันนี้ เพราะเป็นสถาบันที่เป็นศูนย์รวมใจที่สำคัญยิ่ง

ยิ่งเห็นบางสถาบันที่มีอำนาจหน้าที่ปกครองประเทศมีปัญหา แตกแยก ชิงอำนาจ ก็ยิ่งทำให้ตระหนักถึงความสำคัญของ สถาบันพระมหากษัตริย์ ที่ทำให้หลายเรื่อง หลายปัญหา จบได้ด้วยดี

อีกสถาบันที่อยู่คู่กับสังคมไทยคือ สถาบันศาสนา ซึ่งพุทธศาสนาในไทยก็ยังแข็งแกร่งมาจนทุกวันนี้ ถึงจะมีสาวกสงฆ์นอกคอกบ้าง แต่ส่วนใหญ่ก็ยังมั่นอยู่ในวัตร ก็เหมือนวงการอื่นที่มีทั้งคนดี และคนระยำทำเสื่อม

และพระพุทธสาวกที่ดีงามก็สืบทอดพระศาสนา ด้วยการจัดสร้าง รูปเคารพจำลอง ให้บูชาระลึกถึงพระพุทธเจ้า เป็นธรรมเนียมมาตั้งแต่โบราณ

พระสมเด็จบางขุนพรหม พิมพ์สังฆาฏิ วัดใหม่อมตรส ของ พรรค คูวิบูลย์ศิลป์.
พระสมเด็จบางขุนพรหม พิมพ์สังฆาฏิ วัดใหม่อมตรส ของ พรรค คูวิบูลย์ศิลป์.

...

  • อย่าง พระสมเด็จบางขุนพรหม พิมพ์สังฆาฏิ วัดใหม่อมตรส แขวงบางขุนพรหม เขตพระนคร องค์นี้ของ เสี่ยพรรค คูวิบูลย์ศิลป์ จัดสร้างเมื่อร้อยปีก่อน แต่ยังมีสภาพงาม สมบูรณ์ ดูง่าย ฟอร์มทรงมาตรฐาน พิมพ์พระที่ถูกต้อง เนื้อมวลสารครบสูตร คราบกรุที่เป็นเอกลักษณ์ บอกอายุถึงยุคอย่างเป็นธรรมชาติ
  • เป็นพระสภาพเดิมๆ ที่ (ขโมย) ออกจากกรุก่อนพิธีเปิดเป็นทางการเมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๐ นิยมเรียก “พระกรุเก่า” พระยังคงสภาพเดิมๆ ออริจินอลเต็มร้อย ไม่มีริ้วรอยชำระล้างแต่งเติม เรียกได้เป็นพระสภาพนำออกจากกรุอย่างไรก็คงสภาพอย่างนั้น จึงมีคุณค่า หายากในการอนุรักษ์ คู่ควรกับการเก็บรักษาเป็น “พระองค์ครู” เพื่อการพิสูจน์ทราบศึกษาของวงการ มีพิมพ์แยกเล่นเป็นหมวดใหญ่ ๒ พิมพ์ คือ ๑.มีหูกับไม่มีหู อย่างองค์นี้ที่เป็นพระสภาพเดิมๆเต็มร้อย ที่ทรงค่าทรงคุณ ซึ่งยากจะหาพบเห็นได้ในปัจจุบัน ราคาว่ากันหลักล้านมานานแร้ว
พระสมเด็จเกศไชโย พิมพ์ ๖ ชั้น อกตัน วัดไชโยวรวิหาร ของโจ๊ก ลำพูน.
พระสมเด็จเกศไชโย พิมพ์ ๖ ชั้น อกตัน วัดไชโยวรวิหาร ของโจ๊ก ลำพูน.
  • องค์ที่สอง พระสมเด็จเกศไชโย พิมพ์ ๖ ชั้น อกตัน วัด ไชโยวรวิหาร อ.ไชโย จ.อ่างทอง ที่ค้นพบบรรจุไว้ในองค์พระ ประธาน ที่ เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) สร้างไว้กลางลานวัดไชโย เมื่อราวปี พ.ศ. ๒๔๐๗
  • ราวปี พ.ศ.๒๔๓๐ มีการบูรณะวัดเกิดแรงกระทบกระเทือนถึงองค์พระที่สร้างด้วยฝีมือชาวบ้านโครสร้างไม่แข็งแรงนักจึงทลายลงมา ทำให้พบ พระพิมพ์เนื้อผงรูปทรงสี่เหลี่ยมชิ้นฟัก เนื้อผงสีขาว ออกมากระจายรอบซากหลวงพ่อ
  • ด้านหน้าเป็นพิมพ์องค์พระนั่งปางสมาธิ พุทธศิลป์สมัยรัตนโกสินทร์ (อกร่องหูบายศรี) อยู่เหนือฐาน มี ๕-๖-๗ ชั้น กรอบองค์ตัดซ้อน เป็นเอกลักษณ์แบบกรอบกระจก ด้านหลังปาดเรียบ ชาวบ้านจึงนำออกจากวัดไปจำหน่าย จ่ายแจก ได้รับความนิยมเรียกเป็น พระสมเด็จเกศไชโย พิมพ์พระมีรายละเอียดแตกต่าง แยกได้นับ ๑๐ พิมพ์ บางพิมพ์มีเหลือพบจำนวนน้อยไม่พอจัดเป็นหมวดหมู่ ที่จำนวนมากจัดกลุ่มเป็นพิมพ์มาตรฐานได้ ๓ พิมพ์ คือ ๑.พิมพ์นิยมฐาน ๗ ชั้น ๒.พิมพ์ ๖ ชั้น อกตัน ๓.พิมพ์ ๖ ชั้น อกตลอด
  • องค์นี้ของ เสี่ยโจ๊ก ลำพูน เป็นพระพิมพ์ ๖ ชั้น อกตัน สภาพงามสมบูรณ์เดิมๆ มีอานุภาพเลื่องลือทางบันดาลอำนาจวาสนาเกียรติยศ เป็นที่นิยมของข้าราชการ ราคาอยู่ที่หลักล้าน มากน้อยอยู่ที่การเจรจาต้าอ่วย
พระนางพญา พิมพ์สังฆาฏิ วัดนางพญา ของ แม็ก ช้างเผือก.
พระนางพญา พิมพ์สังฆาฏิ วัดนางพญา ของ แม็ก ช้างเผือก.

...

  • องค์ที่สามคือ พระนางพญา พิมพ์สังฆาฏิ วัดนางพญา อ.เมือง จ.พิษณุโลก พระกรุพระเก่าเนื้อดินเผา มีชื่อเสียง ความนิยมสูง เป็นต้นสกุล พระนางพญา เรียกชื่อตามฐานะตำแหน่งองค์ผู้สร้างคือ พระวิสุทธิกษัตรีย์ สตรีระดับนางพญา เพราะเป็น พระมเหสี ของ สมเด็จพระมหาธรรมราชา (ลิไท) ทรงจัดสร้างเมื่อราวปี พ.ศ.๑๙๐๐ และมาพบแตกกรุจากองค์พระเจดีย์ วัดนางพญา ตอนหลวงเคลียร์พื้นที่สร้างถนน เตรียมงานรับเสด็จ ร.๕ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๖ พบพระพิมพ์เนื้อดินเผารูปทรง ๓ เหลี่ยม มากแบบหลายขนาด ไหลออกจากองค์พระเจดีย์ลงมากองรวมอยู่รอบฐานจำนวนมาก
  • นำมาคัดแยกได้เป็นพิมพ์ใหญ่ เข่าโค้ง, เข่าตรง, อกนูนใหญ่ พิมพ์กลาง สังฆาฏิ พิมพ์เล็ก เทวดากับอกนูนเล็ก ได้รับเลือกเป็น ๑ ใน ๕ พระเครื่องของแผ่นดินชุดเบญจภาคี ด้วยพุทธศิลป์สมัยอยุธยา และอานุภาพศักดิ์สิทธิ์ที่ด้านเมตตา ค้าขาย แคล้วคลาด คงกระพัน ได้ชื่อเป็นพระเครื่องของสตรี ราคาตามพิมพ์ ตามสภาพอย่างองค์นี้ ของ เสี่ยแม็ก ช้างเผือก เป็นพิมพ์สังฆาฏิ สภาพสมบูรณ์สวยเดิมๆแบบนี้ อยู่ที่หลักแสนกลางถึงปลายใกล้ล้าน
พระวัดพลับ พิมพ์สมาธิเข่ากว้าง สมเด็จพระญาณสังวร (สุก ไก่เถื่อน) วัดราชสิทธาราม ของก้อง พระสมเด็จ.
พระวัดพลับ พิมพ์สมาธิเข่ากว้าง สมเด็จพระญาณสังวร (สุก ไก่เถื่อน) วัดราชสิทธาราม ของก้อง พระสมเด็จ.

...

  • ต่อไปเป็น พระวัดพลับ พิมพ์สมาธิ (เข่ากว้าง) สมเด็จพระญาณสังวร (สุก ไก่เถื่อน) วัดราชสิทธาราม เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพฯ พระพิมพ์เนื้อผงพุทธคุณ ๕ ประการ ต้นตำรับ “พระสมเด็จ” พระถูกค้นพบตอนชาวบ้านตามจับกระรอกเผือก ที่หนีเข้าไปในโพรงพระเจดีย์ พอใช้ไม้กระทุ้งไล่กระรอกออกมาก็มี พระพิมพ์เนื้อผงขาว ทรงกลมหลังอูม ไหลออกมาจำนวนมาก
  • แยกพิมพ์และขนาดได้เป็น ๑.พิมพ์ยืนปางวันทาเสมา ๒.พิมพ์สมาธิใหญ่ กลาง เล็ก ๓.พิมพ์พุงป่องใหญ่-เล็ก ๔.พิมพ์สมาธิเข่ากว้าง ๕.พระพิมพ์ตุ๊กตาใหญ่-เล็ก ๖.พิมพ์พระปิดตา
  • องค์นี้ของ เสี่ยก้อง พระสมเด็จ เป็น พระพิมพ์สมาธิเข่ากว้าง ที่ได้รับความนิยมสูงเป็นเบอร์ต้นๆ สภาพสวยสมบูรณ์เดิมๆ แบบนี้ราคาหลายแสน
พระนางพญา เนื้อดิน พิมพ์ตัดปลาย กรุวัดบ่อสวก ของ น.ท.กัณฑภณ ศุกระรงคะ รน.
พระนางพญา เนื้อดิน พิมพ์ตัดปลาย กรุวัดบ่อสวก ของ น.ท.กัณฑภณ ศุกระรงคะ รน.

...

  • อีกองค์เป็น พระนางพญา เนื้อดิน (พิมพ์ยอดตัด) กรุวัดบ่อสวก จ.น่าน พระพิมพ์เนื้อดินเผา รูปทรงสามเหลี่ยม พุทธศิลป์สมัยสุโขทัย นิยมเรียกเป็น “พระนางพญาล้านนา” ค้นพบโดยชาวบ้าน จากที่รกร้างใกล้วัดบ่อสวก เมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๘ มีไม่มากนัก แยกพิมพ์ได้เป็นพิมพ์ใหญ่ พิมพ์เล็ก และพิมพ์ลีลา
  • องค์นี้ของ “ผู้พันกัณ” น.ท.กัณฑภณ ศุกระรงคะ รน. เป็นพระพิมพ์สามเหลี่ยมยอดตัด สภาพสมบูรณ์สวยเดิมๆ ด้านหลังมีผิวเนื้อกะเทาะเล็กน้อย ราคาว่ากันที่หลักแสนต้นๆ เพราะใครมีก็หวง เพราะหายากมาก
พระรูปเหมือน พิมพ์ขี้ตา หลวงพ่อเงิน วัดบางคลาน ของฐิการ ศุภวิรัชบัญชา.
พระรูปเหมือน พิมพ์ขี้ตา หลวงพ่อเงิน วัดบางคลาน ของฐิการ ศุภวิรัชบัญชา.
  • รายการถัดไปเป็น พระรูปเหมือน หล่อโบราณ พิมพ์ขี้ตา ๕ ชาย หลวงพ่อเงิน พุทธโชติ วัดบางคลาน อ.โพทะเล จ.พิจิตร สร้างที่วัดเป็นรุ่นแรก พร้อมเหรียญหล่อจอบเล็ก ด้วยวิธีเทหล่อโบราณ ฝีมือช่างชาวบ้าน แต่องค์นี้เป็นพระสภาพสมบูรณ์สวยแชมป์ ที่มีภาพเป็นองค์ดาราในหนังสือตำราพระเครื่องเล่มมาตรฐานมาแต่อดีต เพราะเป็นองค์ที่ เทหล่อได้องค์พระงามสมบูรณ์ รายละเอียดติดเต็มพิมพ์ เส้นศิลป์คมจัดชัดลึกมาแต่เดิมแบบไร้รอยตกแต่ง
  • เชื่อกันว่าเป็นองค์ที่เทหล่อจากหุ่นต้นแบบ เป็นองค์ต้นๆ ซึ่งผิวเนื้อจะดูมีความอวบอิ่ม เส้นศิลป์จะดูงามตากว่าองค์อื่นๆ แบบที่เรียกว่า “พระนำฤกษ์” องค์นี้ของ เสี่ยฐิการ ศุภวิรัชบัญชา นักนิยมฯแถวหน้า ตาถึง ใจถึง รสนิยมถึง เงินถึง
เหรียญรุ่นแรก พ.ศ. ๒๔๖๓ หลวงพ่อพระลอย วัดโคกเข็ม ของอิทธิ ชวลิตธำรง.
เหรียญรุ่นแรก พ.ศ. ๒๔๖๓ หลวงพ่อพระลอย วัดโคกเข็ม ของอิทธิ ชวลิตธำรง.
  • อีกองค์คือ เหรียญรุ่นแรก พ.ศ.๒๔๖๓ หลวงพ่อพระลอย วัดโคกเข็ม อ.สรรพยา จ.ชัยนาท เหรียญปั๊มจำลององค์หลวงพ่อพระลอย ที่มีประวัติเป็นพระพุทธรูปยืนปางห้ามญาติ ที่ลอยน้ำมาพร้อมกับองค์หลวงพ่อธรรมจักร วัดเขาธรรมามูล ลอยมาติดที่ท่านํ้าหน้าวัดโคกเข็ม ครั้ง สมเด็จพระพุฒาจารย์ (นวม) เป็นเจ้าอาวาส
  • ชาวบ้านจึงทำพิธีอาราธนานำขึ้นมาประดิษฐานเป็น องค์พระ ประธานของวัดโคกเข็ม และได้สร้างเหรียญรูปจำลองออกเป็น เหรียญที่ระลึกรุ่นแรก เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๓ ประกอบพิธีปลุกเสกโดย พระครูวิมลคุณากร (หลวงปู่ศุข เกสโร) พร้อมพระปรกใบมะขาม
  • ลักษณะเป็น เหรียญปั๊มทรงสูง กลมรี หูเชื่อม ด้านหน้าเป็นรูปจำลองยืนเต็มองค์ มี เนื้อทองแดงกะไหล่ทอง กับ เนื้อทองแดง ได้รับความนิยมเป็น เหรียญพระพุทธยอดนิยม แถวหน้าของเมืองชัยนาท ราคาหลักแสน ไล่เรียงเคียงคู่มากับ เหรียญหลวงพ่อธรรมจักร วัดเขาธรรมามูล--เหรียญนี้ของ เสี่ยอิทธิ ชวลิตธำรง เป็นเหรียญเนื้อทองแดงสภาพสมบูรณ์สวยแชมป์ ที่ยังไม่มีองค์สู้
เหรียญหล่อพระสมเด็จ พิมพ์ปรกโพธิ์ หลวงพ่อโบ้ย วัดมะนาว ของบอมเบย์ สุพรรณ.
เหรียญหล่อพระสมเด็จ พิมพ์ปรกโพธิ์ หลวงพ่อโบ้ย วัดมะนาว ของบอมเบย์ สุพรรณ.
  • อีกสำนักเป็น เหรียญหล่อพระสมเด็จปรกโพธิ์ พิมพ์ใหญ่นิยม A เนื้อโลหะผสม หลวงพ่อโบ้ย วัดมะนาว จ.สุพรรณบุรี พระเกจิฯเลื่องชื่อด้านวิชาพุทธาคม สร้างพระ เครื่องของขลัง มีอานุภาพความศักดิ์สิทธิ์ปรากฏเป็นประสบการณ์ครบครอบรอบด้าน สร้างพระเครื่องเนื้อโลหะผสมหลายแบบพิมพ์ด้วยวิธีเทหล่อแบบโบราณไว้ ได้รับความนิยมสูง
  • อย่าง องค์นี้เป็น พระพิมพ์สมเด็จปรกโพธิ์ใหญ่ ๑ ใน ๕ พระพิมพ์นิยมสูงสุดในสกุล “พระหลวงพ่อโบ้ย” ที่สร้างในยุคแรกๆ เมื่อราวปี พ.ศ. ๒๔๗๓-๗๙ มีพิมพ์มเหศวร, ทรงครุฑ, งบน้ำอ้อย, จักรนารายณ์
  • ราคา สภาพงามสมบูรณ์สวยแชมป์แบบองค์นี้ ของ เสี่ยบอมเบย์ สุพรรณ มืออาชีพสายตรงตัวจริงแห่งยุค บอกมาเสียงดังฟังชัดว่าอยู่ที่หลักแสนกลาง

สุดท้ายเป็นข่าวพระใหม่ จาก เฮียอั๊ง เมืองชล (สมภพ ไทยธีระเสถียร) ซึ่งเป็นพ่องานจัดสร้างวัตถุมงคล หลวงพ่อสำเร็จศักดิ์สิทธิ์ รุ่น สมปรารถนา ประจำกองบัญชาการตำรวจสันติบาล

สร้างเสร็จแล้วก็จัดพิธีมหาพุทธาภิเษก ไปเมื่อวันที่ ๒ ก.ค.๖๗ ซึ่งเป็นที่เกรียวกราว เพราะไปจัดพิธีพุทธาภิเษก ในวาระพิเศษ ณ วัดพระธาตุหมื่นหิน จ.กาฬสินธุ์ โดยสุดยอดพระเกจิฯ ที่ตอนนี้มีชื่อเสียงบารมีสุดๆแห่งยุค หลวงปู่มหาศิลา สิริจันโท เป็นองค์ประธาน พร้อมพระเกจิอาจารย์ภาคอีสานนั่งปรก เมื่อพิธีได้เสร็จสิ้นลง หลวงปู่มหาศิลา ยังเมตตาตั้งจิตอธิษฐานดับเทียนชัยในพิธี เพื่อให้คงไว้ด้วยมหาอิทธิฤทธิ์ บารมี มหัศจรรย์แห่งความสำเร็จ

และเมื่อวันที่ ๔ ก.ค. เฮียอั๊ง ก็ได้จัดพิธีมหาพุทธาภิเษก วาระที่ ๒ ณ วิหารหลวงพ่อสำเร็จศักดิ์สิทธิ์ มีพระเกจิอาจารย์นั่งปรก ๖๙ รูป จึงเป็นรุ่นที่จัดสร้างตามพิธีกรรมเข้มขลัง ที่บอกกันว่า “ต้องมี” ไว้

บอกลากับเรื่องปิดท้าย ในวันนัดพบของเพื่อนซี้ ๓ คน ที่คบกันมาแต่สมัยเรียนมัธยมถึงปัจจุบัน ซึ่งต่างคนเป็นนักธุรกิจ ฐานะดี มีกิจการ .

พอมีเวลาก็นัดพบปะสังสรรค์ครอบครัว โดยครั้งนี้ เสี่ยอาทิตย์ เป็นเจ้ามือ เปิดบ้านให้เพื่อนมากินข้าวคุยกัน อิ่มแล้วฝ่ายชายก็แยกวงไปคุยกันเรื่องการบ้านการเมือง ธุรกิจทั่วๆไป

สุดท้ายมาถึงเรื่องลูก ที่มีลูกชายวัยซนอายุใกล้ๆกัน เสี่ยอาทิตย์ ถามเพื่อนว่า ลูกพวกลื้อเป็นยังไง เลี้ยงยากไหม เสี่ยวิรัตน์ เจ้าของธุรกิจรถสปอร์ต มองลูกชายที่วิ่งเล่นอยู่ในสนามตอบว่า ก็เลี้ยงไม่ยาก นี่ก็พยายามปลูกฝังให้มีความรู้เรื่องรถ โดยซื้อรถโมเดลให้เล่น จะได้ให้สืบทอดธุรกิจ แต่ก็ต้องลงทุนมากเพราะรถโมเดลคันเป็นหมื่น บางรุ่นเป็นแสน ปวดหัวเหมือนกัน

เสี่ยสุรชัย เจ้าของธุรกิจเรียลเอสเตท บอกว่าเราก็เหมือนกัน ต้องลงทุนซื้อโมเดลแบบบ้านทั่วโลกมาให้ลูกเล่น หวังให้มันมีแนวคิดใหม่ๆมาสืบทอดอาชีพสร้างบ้านขาย ใช้ทุนมากเหมือนกัน

เสี่ยอาทิตย์ ฟังเพื่อนสองคนพูดเหมือนปรับทุกข์ก็บอกว่าลื้อสองคนยังดี อั๊วสิหนักกว่า เพราะอั๊วค้าขายพระเครื่อง ถ้าจะสอนลูกให้สืบทอดอาชีพต้องลงทุนมหาศาลนี่ก็ว่าจะให้ลูกทำอาชีพอื่น

เพื่อนฟังแล้วร้องอ้าวว่า พระเครื่องเวลานี้กำลังรุ่งไม่ใช่หรือ ทำไมจะให้ลูกเปลี่ยน เสี่ยอาทิตย์ บอกก็อาชีพค้าพระเครื่องไม่มี “โมเดล” ให้เรียนรู้เหมือนพวกลื้ออะดิ มีแต่พระเก๊กับพระแท้ และต้องเรียนรู้จากพระแท้เท่านั้น ซึ่งแต่ละองค์เป็นหมื่นเป็นแสนเป็นล้าน

กว่าจะเรียนรู้ได้หมดต้องใช้เงินเป็นร้อยๆล้าน ขืนเอามาให้ลูกเล่นเพื่อเรียนรู้เกิดพลาดทำหายหรือแตกหัก ใครจะรับไหวเจ้าค่ะ อามิตตพุทธ.

สีกาอ่าง

คลิกอ่านคอลัมน์ “สนามพระ” เพิ่มเติม