พระสมเด็จบางขุนพรหม พิมพ์เส้นด้าย วัดใหม่อมตรส ของ Mr. Rooney Lee.

เข้า สนามพระวิภาวดี หลังวันหวยออกทีไร ก็จะได้ยินคนมีโชคคุยเฮฮาคนที่ชนะเจ้ามือก็เสียงดังหน่อย เล่าที่มาของเลขเด็ด เต็ง โต๊ด ซึ่งส่วนใหญ่ก็ได้จากวัดที่ร่ำลือว่าแม่น ซึ่งบางทีพระท่านก็ไม่ได้บอกตรงๆ แต่จับคำใบ้เอาไปตีเลขเอง

สำหรับพระเครื่ององค์แรก เป็น พระสมเด็จบางขุนพรหม พิมพ์เส้นด้าย วัดใหม่อมตรส กรุงเทพฯ เป็นพระดีมีคุณภาพ แท้ ดูง่าย ในทุกจุดพิจารณา ทั้งฟอร์มทรง ที่มีอัตลักษณ์เฉพาะพิมพ์ แบบเห็นรู้ได้ใช่เลย

พิมพ์พระคมจัดชัด แจ่มทุกเส้นศิลป์ เนื้อมวลสารชั้นในแก่ปูน ผิวนอกอุดมด้วยคราบฝ้ารากรุขึ้นทับซ้อนเป็นชั้น มีไขดำ คราบน้ำตาล ตุ่มหางกระเบน ที่ให้ส่องในซอกมุมทั่วองค์

ด้านหลังยิ่งบอกชัดความเป็นพระกรุบางขุนพรหม ตามตำราที่ตอกย้ำด้วย รอยปั๊มองค์พระเจดีย์ “หมึกม่วง” ยืนยันความเป็นพระแท้ ที่ถูกนำขึ้นจากกรุในคราววัดทำพิธีเปิดกรุอย่างเป็นทางการเมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๐

รวมความว่า พระองค์นี้ ของ Mr.Rooney Lee เป็นพระดี ห้าดาว มีมาตรฐานอย่างทรงค่าครบถ้วน คู่ควรเป็น “พระองค์ครู” ซึ่งป้องกันความเบี่ยงเบนของการเล่นพระนอกตำรา ที่เริ่มจะมีมากขึ้น จนอาจสร้างปัญหาในอนาคต แต่ถ้ายึด “พระองค์ครู” เป็นหลักก็จบข่าว ยุติปัญหาได้

ตรงนี้มี คำถามสนามพระ อยากรู้ว่า สมเด็จโต สร้างพระสมเด็จวัดบางขุนพรหม ห่างจากการสร้าง สมเด็จวัดระฆัง กี่ปี และท่านสร้างพระสมเด็จฯที่มีเป็น พระรูป ร.๕ จริงไหม

ถ้าตามประวัติที่บันทึกบอกเล่าไว้ ท่านสร้างสมเด็จวัดระฆังเมื่อ พ.ศ.๒๔๐๙ โดยสร้างไปแจกไปเรื่อยๆ ไม่ได้บรรจุกรุไว้ พระฝั่งนี้จึงสร้างอยู่ราว ๖ ปีจนถึง พ.ศ.๒๔๑๕ ที่มรณภาพ

ส่วน เสมียนตรา (ด้วง) นิมนต์ท่านมาสร้างพระที่วัดใหม่อมตรส เมื่อ พ.ศ.๒๔๑๓ ก็คือห่างกันแค่ ๔ ปี ก่อนท่านมรณภาพ ๒ ปี พระจึงอยู่ในกรุมา ๘๗ ปี ถึงออกมา แต่ระหว่าง ๘๗ ปีนี้ ก็มีการขโมยตกกรุกันหลายครั้ง

...

ส่วนเรื่อง สมเด็จหลัง ร.๕ ที่ก็ยังเห็นตามแผงพระริมทาง ตลาดพระบางแห่งนั้น และส่งมาให้ สีกาอ่าง เยอะ (แต่ไม่เคยลง) ก็ขอให้ท่านผู้ชมพิจารณาว่า รัชกาลที่ ๕ ประสูติ พ.ศ.๒๓๙๖ ซึ่งตอนนั้น สมเด็จโต ที่เกิด พ.ศ.๒๓๓๑ ก็อายุ ๖๕ ปี แต่ รัชกาลที่ ๕ ยังทรงเป็น “พระเบบี๋” อยู่เลย

พอพระองค์ครองราชย์ ก็เป็น พ.ศ.๒๔๑๑ ซึ่งมีพระชนมายุ ๑๕ พรรษา และ สมเด็จโต ก็อายุ ๘๐ ปีแร้ว ถ้ามีการสร้าง สมเด็จวัดระฆัง หรือ บางขุนพรหม หลัง ร.๕ จริงๆ ก็ต้องในช่วงที่ สมเด็จโตอายุ ๘๐–๘๔

ซึ่ง ๔ ปีนี้ ถ้าท่านสร้าง พระบรมรูป ร.๕ หลังพระ ก็ควรจะเป็นพระรูปตอนทรงพระเยาว์ วัยรุ่น ถึงจะพอเชื่อได้ว่าท่าน สร้างไว้จริง--แต่ที่เห็นเล่นกันบางกลุ่มเป็นตอนที่ ร.๕ ทรงมีอาวุโสแล้ว และมีพระมัสสุ (หนวด) ตอบแบบนี้น่าจะชัดว่ามีหรือไม่เจ้าค่ะ

อีกทั้งว่าไปแล้ว สมเด็จโต จะมีความใกล้ชิดกับรัชกาลที่ ๒ มากกว่า เพราะท่านเกิดในสมัย ร.๑ และได้รับอุปถัมภ์จาก ร.๒ ซึ่งมีความคุ้นเคยกันตั้งแต่ ร.๒ ยังไม่ขึ้นครองราชย์ จนร่ำลือว่า สมเด็จโต อาจจะเป็นลูกนอกสมรสของ ร.๑ สมัยออกสงคราม ตอนเป็นเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก และพบรักกับหญิงชาวบ้าน จนมีลูกชายด้วยกัน ซึ่งเมื่อสถาปนาเป็นรัชกาลที่ ๑ แล้ว จึงทรงรับเด็กชายมาในพระอุปการะ ซึ่งต่อมาคือ สมเด็จโต และต่อมา ร.๒ ก็ทรงชุบเลี้ยงอย่างดีเหมือนน้องชาย--จึงว่าถ้าท่านจะสร้างพระก็น่าจะมีพระรูป ร.๒ หรือ ร.๓ มากกว่าจะเป็น ร.๕

พระสมเด็จเกศไชโย พิมพ์ ๖ ชั้น อกตลอด วัดไชโยวรวิหาร ของกำนันมานะ คงวุฒิปัญญา.
พระสมเด็จเกศไชโย พิมพ์ ๖ ชั้น อกตลอด วัดไชโยวรวิหาร ของกำนันมานะ คงวุฒิปัญญา.

ไปกันต่อ อีกองค์คือ พระสมเด็จเกศไชโย พิมพ์ ๖ ชั้น อกตลอด วัดไชโยวรวิหาร อ.ไชโย จ.อ่างทอง ของสมเด็จเจ้าประคุณโต พรหมรังสี ซึ่งนักนิยมพระยอมรับ ๓ พิมพ์มาตรฐาน คือ ๑.พิมพ์ใหญ่ฐาน ๗ ชั้น ๒.พิมพ์กลางฐาน ๖ ชั้นอกตัน

๓.พิมพ์เล็กฐาน ๖ ชั้น อกตลอด อย่างองค์นี้ของ กำนันมานะ คงวุฒิปัญญา ที่เป็นพระสภาพงามสมบูรณ์ เพอร์ เฟกต์ ทั้งฟอร์ม ทรง พิมพ์พระ ผิวนอก เนื้อใน เข้าขั้นพระแชมป์ของพิมพ์ ซึ่งปัจจุบันราคาสภาพนี้ อยู่ที่หลักล้านนานแล้ว

พระวัดพลับ พิมพ์ตุ๊กตาใหญ่ สมเด็จพระญาณสังวร (สุก ไก่เถื่อน) วัดราชสิทธาราม ของก้อง พระสมเด็จ.
พระวัดพลับ พิมพ์ตุ๊กตาใหญ่ สมเด็จพระญาณสังวร (สุก ไก่เถื่อน) วัดราชสิทธาราม ของก้อง พระสมเด็จ.

องค์ที่สามเป็น พระวัดพลับ พิมพ์ตุ๊กตาใหญ่ สมเด็จพระญาณสังวร (สุก ไก่เถื่อน) วัด ราชสิทธาราม กรุงเทพฯ สร้างไว้ครั้งรับอาราธนา พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมาครองตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดพลับ ในสมณศักดิ์ “พระญาณสังวร” ครองตำแหน่งเจ้าอาวาสวัด ราชสิทธาราม ที่ทรงสร้างขึ้นควบรวมเป็นหนึ่งเดียวกับวัดพลับ

...

ถึงราวปี พ.ศ.๒๔๗๐ มีการพบพระนี้โดยบังเอิญ จากเหตุชาวบ้านไล่ตามจับกระรอกเผือก ชาวบ้านจึงนำไปใช้บูชา ปรากฏมีอานุภาพความศักดิ์สิทธิ์เป็นอัศจรรย์ด้านแคล้วคลาดคงกระพันป้องกันเขี้ยวงา (หมากัดไม่เข้า) เป็นที่เลื่องลือ ผู้นำพระออกจากวัด จึงนำพระมาขายโดยตวงใส่กระป๋องนม ถือเป็นพระพิมพ์เนื้อผง ยุคแรกๆของวงการพระ

แยกพิมพ์มาตรฐานได้ คือ ๑.พิมพ์สมาธิ ใหญ่ เล็ก ๒.พิมพ์สมาธิเข่ากว้าง ๓.พิมพ์ตุ๊กตาใหญ่ เล็ก ๔.พิมพ์พุงป่อง ใหญ่ เล็ก และพิมพ์พิเศษมีพบจำนวนน้อย พิมพ์ทรงแตกต่างเป็นพิมพ์ยืนวันทาเสมากับพิมพ์พระปิดตา--องค์นี้ ของ เสี่ยก้อง พระสมเด็จ เป็นพระพิมพ์ตุ๊กตาใหญ่ สภาพสมบูรณ์ สวยแชมป์ องค์จริง

พระปิดตามหายันต์ พิมพ์ตุ๊กตา (เศียรโต) เนื้อสัมฤทธิ์เงิน หลวงปู่ทับ วัดทอง ของสถิต ราชบุรี.
พระปิดตามหายันต์ พิมพ์ตุ๊กตา (เศียรโต) เนื้อสัมฤทธิ์เงิน หลวงปู่ทับ วัดทอง ของสถิต ราชบุรี.

...

องค์ที่สี่ เป็น พระปิดตามหายันต์ พิมพ์ตุ๊กตา (เศียรโต) เนื้อสัมฤทธิ์เงิน หลวงปู่ทับ วัดทอง เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ จาก เสี่ยสถิต ราชบุรี สายตรงพระกรุ พระเก่า ยอดนิยมลึกๆ

ส่งภาพมาแต่ละองค์ดูมัน ดูง่าย อย่างวันนี้เป็น พระปิดตามหายันต์ วัดทอง พิมพ์นิยมมาตรฐาน เนื้อนิยมแบบสากล ที่มีพบน้อยหายาก โดยเฉพาะองค์สภาพงามสมบูรณ์ สวยเดิม แบบไร้ตำหนิ ริ้วรอยสัมผัสใช้ องค์นี้บอกได้ว่างามเลิศสุดๆ

เหรียญหล่อพระพุทธ พิมพ์ข้างอุใหญ่ เนื้อชินตะกั่ว หลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า ของจตุโชค สัยยะนิฐี.
เหรียญหล่อพระพุทธ พิมพ์ข้างอุใหญ่ เนื้อชินตะกั่ว หลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า ของจตุโชค สัยยะนิฐี.

ตามมาด้วย เหรียญหล่อพระพุทธ พิมพ์ข้างอุใหญ่ พระครูวิมลคุณากร (หลวงปู่ศุข) วัดปากคลองมะขามเฒ่า อ.วัดสิงห์ จ.ชัยนาท

...

จัดเป็น พิมพ์นิยม ที่มีพบน้อย หาเจอยากมากๆ ซึ่งมีจุดพิจารณาทางลึก ต่างจากพิมพ์กลาง พิมพ์เล็ก ที่ ตัวอุ จะมีเส้นใหญ่หนา องค์พระจะดูล่ำสันกว่า พระเกศจะติดเป็นแท่ง ไม่แบนราบ

อย่างที่เห็นได้ในองค์นี้ ของ เสี่ยจตุโชค สัยยะนิฐี ที่มีลายมือจารอักขระตัวพุทธกำกับไว้ให้พิจารณา ใช้บูชาพึ่งพาอานุภาพได้อย่างมั่นใจ ส่วนราคาว่ากันหลักล้าน

พระพิมพ์แจกแม่ครัวใหญ่ เนื้อผงคลุกรัก หลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า ของไทรัฐ คำปาน.
พระพิมพ์แจกแม่ครัวใหญ่ เนื้อผงคลุกรัก หลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า ของไทรัฐ คำปาน.

อีกองค์ก็สำนักเดียวกัน เป็น พระพิมพ์แจกแม่ครัว (ใหญ่) เนื้อผงคลุกรัก ที่ หลวงปู่ศุข สร้างด้วย เนื้อผงว่านผสมผงพุทธคุณคลุกรัก กดเป็นพิมพ์องค์พระนั่งปางสมาธิประทับเหนือฐานบัว--กล่าวกันว่า หลวงปู่ศุข ท่านเจตนาสร้างให้สตรีที่มาช่วยเป็น “แม่ครัว ” ในงานวัด

มีแยกพิมพ์ได้ตามขนาดเป็นพิมพ์เล็ก พิมพ์ใหญ่ อย่างองค์นี้ ของ เสี่ยไทรัฐ คำปาน ที่มีสภาพงามสมบูรณ์ สวยเดิม--บอกได้ว่าเป็นองค์งามสุดที่เคยมีภาพส่งมาในสนามนี้ ก็ขอยกตำแหน่ง พระแชมป์องค์จริงให้เลย จนกว่าจะมีแชมป์กว่ามาชิง

เหรียญรุ่นแรก พ.ศ.๒๔๘๐ พิมพ์นิยม สระโอยาว เนื้อเงิน หลวงพ่อพูล วัดตาลล้อม ของ ดร.มีชัย เถาเจริญ.
เหรียญรุ่นแรก พ.ศ.๒๔๘๐ พิมพ์นิยม สระโอยาว เนื้อเงิน หลวงพ่อพูล วัดตาลล้อม ของ ดร.มีชัย เถาเจริญ.

องค์ต่อไป เป็น เหรียญรุ่นแรก พ.ศ.๒๔๘๐ เนื้อเงิน บล็อกนิยม สระโอยาว หลวงพ่อพูล วัดตาลล้อม อ.เมือง จ.ชลบุรี ๑ ในพระเกจิอาจารย์ ผู้มีชื่อเสียงสูงด้านวิชาพุทธาคมของเมืองชล ในยุคสงคราม

ท่านสร้างพระเครื่องของขลัง มีชื่อเสียงได้รับความนิยมแพร่หลาย โดยเฉพาะ เหรียญรุ่นแรก หลังยันต์กระบองไขว้นี้ ได้รับความนิยมเป็นเหรียญพระเกจิฯแถวหน้าราคาหลักแสนของเมืองชลบุรี

ลักษณะเป็นเหรียญปั๊ม ทรงกลม รูปไข่ ด้านหน้าเป็นองค์จำลองท่านครึ่งองค์ ล้อมด้วยอักษรบอกพระคาถา เสกกำกับด้านหลัง เป็นยันต์กระบองไขว้ เอกลักษณ์ รูปยันต์กำเนิดของอมตะพระเกจิอาจารย์ของเมืองชลบุรี ที่มีนักนิยมพระแสวงหากันมาก มีพบเป็น เนื้อทองแดง กับ เนื้อเงิน อย่างเหรียญนี้ ของ ดร.มีชัย เถาเจริญ ที่มีสภาพงามเยี่ยม หาพบยากสุดๆ

ปลัดขิกงาแกะ(หัวกระจ่าจารอุ) หลวงพ่อเหลือวัดสาวชะโงกของ พิเชษฐ์ ศิริชัย.
ปลัดขิกงาแกะ(หัวกระจ่าจารอุ) หลวงพ่อเหลือวัดสาวชะโงกของ พิเชษฐ์ ศิริชัย.

วันนี้ มีเครื่องรางฯมาดู คือ ปลัดขิก งาแกะ (หัวกระจ่า) พระครูนันทธีราจารย์ (หลวงพ่อเหลือ นันทสาโร) วัดสาวชะโงก อ.บางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา

ท่าน เป็น ๑ ในพระเกจิฯเมืองแปดริ้ว ที่มีวิชาอาคมเข้มขลัง ในยุคสงครามอินโดจีน จึงได้รับอาราธนานิมนต์ให้ลงอักขระปลุกเสก “ผ้ายันต์แดง” แจกทหารเข้าร่วมรบในสงครามอินโดจีน

ท่านเป็นชาว อ.บางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา เกิด พ.ศ.๒๔๐๕ อายุครบอุปสมบท เมื่อปี พ.ศ.๒๔๒๘ ที่วัดสาวชะโงก กับพระอาจารย์คง วัดใหม่ บางคล้า เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอธิการขิก วัดสาวชะโงก เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระ อ.โต วัดสาวชะโงก เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้ฉายา “นันทสาโร”

ท่านได้เรียนวิชาอาคม อักษรขอม-บาลี วิปัสสนากรรมฐาน วิชาอาคมกับ พระอธิการขิกสำเร็จแล้วไปเป็นศิษย์ หลวงพ่อดำ วัดกุฎี จ.ปราจีนบุรี และออกธุดงค์ข้ามทิศไปเป็นศิษย์ หลวงปู่ยิ้ม วัดหนองบัว จ.กาญจนบุรี ร่วมคณะธุดงค์กับ หลวงพ่อปาน วัดคลองด่าน มีความสนิทคุ้นเคยเป็นสหมิกธรรม แลกเปลี่ยนวิชากับ หลวงพ่อนก วัดสังกะสี

พอกลับมาจำพรรษา รับตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดสาวชะโงก ก็สร้าง ปลัดขิก ทั้งที่เป็นเนื้อไม้แกะจากไม้คูนตายพราย ไม้พุด ไม้รัก เนื้องาช้างแกะ และเนื้อเขาควายเผือก ที่มีน้อยหายาก

รูปทรงยาวตรงๆ ขนาด ๑ นิ้วถึง ๖ นิ้ว หัวเป็นทรงกลม เรียวยอดแหลม คล้ายหัวจิ้งจกหรือหัวกระจ่า ลงลายมือจารอักขระกันหะเนหะ ล้อมด้วยอิติกะริ อิติกะตา อุมะอุมิ หัวลงอุณาโลม ๑-๙ ตัว แล้วเสกกำกับ ออกให้ทำบุญบูชาหารายได้พัฒนาวัด

ผู้ได้ปลัดขิกไปบูชานิยมเรียก “ตะกรุดไม้” ก็พบประสบการณ์ อานุภาพ อัศจรรย์ ทั้งด้านคุ้มครองป้องกัน แคล้วคลาดภัย เมตตา ค้าขาย มหาเสน่ห์ มหาโชค มหาลาภ ป้องกันคุณไสยเสนียดจัญไรเป็นที่เลื่องลือ

ถือเป็นเครื่องรางแถวหน้า ดังคำกลอนที่ว่า “ปลัดหลวงพ่อเหลือ เสือหลวงพ่อปาน หนุมานหลวงพ่อสุ่น”

เคียงคู่มากับปลัดขิก หลวงพ่ออี๋ วัดสัตหีบ ที่สร้างขึ้นในยุคเดียวกัน ด้วยเนื้อไม้กัลปังหาดำ แดง ขาว รูปทรงเป็นแท่งตรง หัวแบบปลาหลดหรือหมวกเยอรมัน ต่างจากตัวนี้ ของ เสี่ยพิเชษฐ์ ศิริชัย ที่เป็นเนื้องาแกะ แบบหัวกระจ่ายุคแรก ที่ หลวงพ่อเหลือ ลงลายมือจารด้วยองค์ท่านเอง--ถามราคาฟังว่าอยู่ที่หลักแสน

มาถึงเรื่อง ปิดท้าย ที่ขาดไม่ได้ ซึ่งมีควันหลงเรื่องหวยๆ ว่า เจ๊ส้ม แม่ค้าออนไลน์ขายสารพัด เป็นคนชอบเล่นหวย และแปลกแต่จริง ที่ถูกแทบทุกงวด และติดๆกัน

งวดก่อนที่ถูกมากหน่อยได้เงินมาเกือบแสน ทำให้เพื่อนที่ไม่เคยสนใจชักอยากรวยลาภลอย จึงขอเป็นสาวก เจ๊ส้มก็ยอมรับเป็นลูกศิษย์ โดยบอกว่าจะส่งไลน์เลขเด็ดให้ ชอบตัวไหนก็บอกมา จะส่งให้เจ้ามือ แต่ต้องบอกไม่เกินเที่ยง หลังนั้นปิดรับ

พอถึงวันหวยออก เพื่อนก็ได้รับเลขเด็ดทางไลน์ แต่ไม่ส่งกลับ จนใกล้เที่ยง เจ๊ส้ม จึงโทร.เร่งให้รีบส่ง แต่เพื่อนบอกไม่ซื้อแล้ว

เพราะรู้แล้วว่าที่ เจ๊ส้มถูกบ่อยจัง เพราะซื้อทีเป็นร้อยๆตัว ก็เลยถูกบ่อยเป็นที่ฮือฮา--แต่ที่ถูกเจ้ามือกิน เสียไปเท่าไหร่ไม่บอกเจ้าค่ะ อามิตตพุทธ.

สีกาอ่าง

คลิกอ่านคอลัมน์ “สนามพระ” เพิ่มเติม