เรื่องของริ้วรอยธรรมชาติด้านหลังพระสมเด็จวัดระฆัง...ดูจะไม่ค่อยมีเซียนน้อยเซียนใหญ่...พูดถึงหรืออธิบาย เหตุว่า ด้านหลังแต่ละองค์ไม่เหมือนกันเลย...จะเอาหลังองค์หนึ่ง ไปเป็นหลักให้อีกองค์ก็ไม่ได้

ย้อนไปอ่านตำราครูกันอีกสักที “ตรียัมปวาย”อธิบายไว้ในปริอรรถาธิบายแห่งพระเครื่อง เล่มพระสมเด็จฯ เล่มพิมพ์ครั้งที่ 6 พ.ศ.2522 หน้า 372 ว่า

พื้นที่ด้านหลัง อันค่อนข้างราบเรียบและกว้างภายในกรอบสี่เหลี่ยม ปราศจากองค์ประกอบใดๆของมูลสูตรสัญลักษณ์ทางพิมพ์ทรงนั้น มักปรากฏริ้วรอยธรรมชาติ อย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างรวมกัน ซึ่งเกิดจากการยุบตัวของวัสดุปูนปั้น ที่แปรสภาพจากของเหลวเป็นของแข็ง กอปรด้วยภาวะแวดล้อมบางประการ

และริ้วรอยธรรมชาติเหล่านี้ ไม่อาจกำหนดสัณฐานให้แน่ชัด แต่จัดเป็นเครื่องช่วยการพิจารณาได้เป็นอันมาก

หรืออาจกล่าวได้ว่า การพิจารณาริ้วรอยธรรมชาติด้านหลังนี้ จะช่วยให้การตัดสินข้อเท็จจริง ได้มากกว่าการพิจารณาทางด้านหน้าด้วยซ้ำ

ทั้งนี้เพราะความราบเรียบอันปราศจากรายการใดๆทางพิมพ์ทรง พวกมิจฉาชีพทั้งหลาย ไม่สามารถจะทำปลอมขึ้นมาให้เหมือนได้...นับเป็นกรณีที่น่าพิศวง

ก็เมื่อครูบอกหลักการดูหลังพระสมเด็จ วัดระฆังไว้อย่างนี้ ก็ต้องฟังความรู้จากครูต่อ ครูบอกว่า มีการจำแนกด้านหลังพระสมเด็จวัดระฆังไว้ 8 ประการ

หลังรูพรุนปลายเข็ม หลังรอยปูไต่ หลังรอยหนอนด้น หลังรอยย่นตะไคร่น้ำหรือฟองเต้าหู้ หลังรอยกาบหมาก หลังรอยสังขยา หลังรอยนิ้วมือและหลังริ้วระแหง

แต่ละแบบหลังฟังแค่ชื่อแล้วมโนตาม ยังไม่พอ ต้องพยายามติดตามดูจากองค์จริง ดูมากๆ ให้คุ้นตา ดูหลังพระแท้แล้ว สมัยนี้ก็ต้องคอยตามดูหลังพระปลอม ซึ่งทำให้ใกล้เคียงขึ้นทุกที

แล้วก็อย่าลืมหลักครู บางหลังมีหลายแบบผสมกัน...แล้วก็รู้อีกว่า หลังเรียบๆ เกือบไม่มีริ้วรอยธรรมชาติใดๆก็มี...เพียงแต่ต้องค่อยๆพิจารณา ให้เห็นว่า เป็นความเรียบ...ที่แฝงมากับริ้วรอยอื่นที่อาจเลือนลาง

...

ที่กล่าวมานี้เป็นชุดความรู้ระดับพื้นฐาน... ความรู้จริงจะเกิดตามมา จากการพิจารณาหลังพระแท้เท่านั้น

หลังพระสมเด็จวัดระฆังพิมพ์ใหญ่ องค์ในคอลัมน์วันนี้...ดูจะไม่มีใน 8 หลังตามหลักครู แต่เป็นอีกริ้วรอยที่คล้ายหรือรวมอยู่ในด้านหลัง แบบหลังรอยกาบหมาก ซึ่งโดยทั่วไป เป็นริ้วทางคดเคี้ยวตามธรรมชาติ หนักบ้าง เบาบ้าง ริ้วเล็ก ริ้วกลาง และริ้วขนาดใหญ่

หลายๆริ้วเล็กกลาง รวมกันเป็นริ้วใหญ่...สลับด้วยรอยบั้ง...องค์นี้มีสี่บั้ง แบ่งให้เห็นเป็นเหมือนแผ่นกระดานสามแผ่น สังเกตดูในแต่ละแผ่น มีริ้วรอยเป็นทางเล็กใหญ่บางๆ

โดยภาพรวม สัญลักษณ์หลังพระสมเด็จวัดระฆังองค์นี้ จึงมีชื่อเรียกใหม่ในวงการว่า “หลังกระดาน”

สังเกตจุดที่สูง ริมขอบองค์พระสี่ด้าน ริมแถบบั้งกระดาน ถูกจับต้องด้วยมือ เห็นเนื้อละเอียดสีขาวขุ่น เหมือนสีนมข้น...ผิวเนื้อส่วนที่ลด ลาดระดับต่ำลง ยังคงเหลือเห็นฝ้ารัก...ที่ลอกล่อนออกไปแล้ว สีแดงอมเหลืองหรือน้ำตาล

ดูจากภาพถ่ายที่ขยาย...ในหลุมร่องหลายสัณฐาน ยังติดฝ้ารักหนา หรือชิ้นรักเอาไว้ มองภาพรวมเป็นสีสันสลับลวดลาย รวมเป็นความซึ้ง...อีกแบบหนึ่ง

หลังกระดานแบบนี้ เป็นอีกหลัง...ที่บางเซียนเผลอคุยว่า ดูหลังไม่ต้องดูหน้า ก็ตัดสินได้ว่าเป็นพระแท้...

วันนี้ คุยถึงพิมพ์ทรงด้านหน้ากันสั้นๆพิมพ์ใหญ่มาตรฐานคุ้นตา ธรรมชาติ สัญลักษณ์เข้าสูตรครบ เนื้อหาแตกสังคโลกอ่อนๆ ปรากฏมวลสาร กากดำ เม็ดแดง ก้อนขาว...ครบถ้วน

ถือเป็นพระสมเด็จวัดระฆังพิมพ์ใหญ่สภาพงาม ดูง่าย ใช้เป็นองค์ครูได้อีกองค์.

พลายชุมพล

คลิกอ่านคอลัมน์ “ปาฏิหาริย์จากหิ้งพระ” เพิ่มเติม