พระพิมพ์ปิดตาเนื้อผงคลุกรัก หรือจุ่มรัก ของหลวงพ่อแก้ว ไม่ว่าจะเป็นพิมพ์ปั้น วัดปากทะเล เพชรบุรี หรือพิมพ์หลังแบบ วัดเครือวัลย์ ชลบุรี มีหลายพิมพ์หลายขนาด ทั้งยังมีความแตกต่างด้านหลัง หลังแบบ หลังยันต์ หลังเรียบ หลังอูม
องค์ในคอลัมน์ จึงต้องเรียกให้ถูกถ้วนว่า หลวงพ่อแก้ว วัดเครือวัลย์ พิมพ์กลางหลังแบบ
ข้อคลางแคลงเรื่องแม่พิมพ์ พิมพ์ใหญ่ และพิมพ์กลางนั้น เส้นสายลายพิมพ์ การวางมือ วางเท้าที่ซ้อนกัน คล้ายกันมาก พิมพ์ใหญ่ก็ไม่แน่ว่าจะมีพิมพ์เดียว เทียบเคียงจากหนังสือพระปิดตาหลายองค์เล่มที่อั๊ง เมืองชล ทำ
จะยึดหลักที่ขนาดใหญ่ หรือกลาง ก็ไม่แน่นักว่าใหญ่แค่ไหน เพราะโอกาสที่จะได้จับพระแท้เทียบเคียงน้อย
ข้อสังเกตหลวมๆพอเป็นเค้า พิมพ์ส่วนใหญ่ขาท่อนบน วกโค้งขึ้นตรงกลางแล้ววาดต่ำ พิมพ์กลาง ท่อนขาบนเป็นเส้นตรง ก็ไม่ได้เสียทีเดียว เพราะมีพิมพ์ใหญ่หลายองค์ ขาท่อนบนเป็นเส้นตรง
แม้จะจับหลักเป๊ะๆไม่ได้ องค์ในคอลัมน์ ขาท่อนบนเป็นเส้นตรง ซึ่งเป็นคุณสมบัติของพิมพ์กลางส่วนใหญ่ ดูช่วงของข้อมือสองข้างที่เรียวบางคอดขึ้นไปเป็นฝ่ามือปิดหน้า ลีลาวงแขนวงข้อมือแตกต่างจากพิมพ์ใหญ่เล็กน้อย
หากได้จับพระกับมือ รู้ขนาดแน่นอน ขนาดองค์นี้ย่อมจากพิมพ์ใหญ่ลงมาชัดเจน สรุปว่า ปิดตาหลวงพ่อแก้วองค์นี้ เป็นพิมพ์กลางหลังแบบสถานเดียว
ผมแกล้งทำตัวเป็นคุณพ่อรู้ดี ถกข้อสงสัยพิมพ์ใหญ่พิมพ์กลางไปอย่างนั้น... ข้อชี้ขาดพระปิดตาหลวงพ่อแก้ว วัดเครือวัลย์ องค์นี้ อยู่ที่เนื้อหา บริเวณหน้าที่รักหลุดล่อน เห็นเนื้อสีน้ำตาลอมแดง แยกออกจากส่วนที่มีเนื้อรักปิด
นี่คือลักษณะของเนื้อจุ่มรัก
ถ้าเป็นเนื้อคลุกรัก จะเห็นมวลเนื้อกลืนกับรักค่อนไปทางดำสนิท
ผ่านเรื่องเนื้อ ดูรัก เป็นรักน้ำเกลี้ยง ที่ผู้รู้บอกว่าเป็นรักที่สั่งมาจากเมืองจีน เมื่อร้อยกว่าปีที่แล้ว และทอง เก่าถึงอายุกลมกลืนไปด้วยกัน
...
พลิกด้านหลังที่เป็นหลังแบบ แผ่นทองลอกหาย เหลือรักคร่ำคร่ากลืนกับเนื้อเกือบเป็นสีเดียวกัน ทั้งเส้นสาย ทั้งเนื้อหา ไม่มีจุดไหนสะดุดตา
คนเป็นพระหลวงพ่อแก้ว ดูได้ว่าแท้โดยแทบไม่ต้องเข้าแว่น
วันนี้ขอยืมวิชา... “จ่าเปี๊ยก” (ปรีชา เอี่ยมธรรม) เขียนไว้ในหนังสือ อาณาจักร
พระปิดตามหาอุตต์ (อาจารย์นิพัทธ์ จิตรประสงค์ จัดพิมพ์ พ.ศ.2539) มาให้เป็นความรู้พื้นฐานพระปิดตาเมืองชลยุคแรกๆ (หลวงพ่อแก้ว หลวงพ่อเจียม หลวงพ่อภู่ หลวงพ่อครีพ หลวงพ่อโต) นั้น เป็นพระเนื้อขาวอมเหลือง จุ่มรัก
น้ำรักในยุคต้นๆ เป็นรักจากเมืองจีนสีแดงเลือดหมู ด้วยอายุกว่าร้อยปี ทำให้รักแห้งและล่อนออกจนเกือบหมด เหลือเนื้อในที่เป็นผงรวมตัวกัน
ถ้าได้สัมผัสกับผิวหนังหรือเหงื่อไคล สีของเนื้อที่เป็นผงขาวอมเหลือง จะดูเข้มยิ่งขึ้นจนเป็นสีน้ำตาลแก่ ที่เรียกกันว่า “เนื้อกะลา” และจะเกิดรอยรานเป็นเส้นเล็กอยู่ในเนื้อ
หลักในการพิจารณารัก จ่าเปี๊ยกบอกว่า พระปิดตาในยุคประมาณครึ่งศตวรรษล่วงไป รักสีเลือดหมูจากเมืองจีนหมดไปแล้ว จึงจำเป็นต้องใช้น้ำรักในประเทศ สีของน้ำรักในพระปิดตายุคหลังๆจึงเป็นสีดำ
พระปิดตายุคต้น (หลวงพ่อแก้ว) และพระปิดตายุคหลัง จึงอาจจะแยกแยะได้ ด้วยประการฉะนี้.
พลายชุมพล