ผมเจตนาตั้งชื่อ พระรอดกรุเก่าเรียกความสนใจ พระสมเด็จที่บรรจุในเจดีย์ใหญ่ วัดใหม่อมตรส มีกรุเก่า และกรุใหม่...แต่พระรอด วัดมหาวัน ลำพูน องค์สวยๆที่เปลี่ยน มือซื้อขายในวงการ ภาพที่ตีพิมพ์ในหนังสือ ...เกือบทั้งหมดเป็นพระที่สวยคมสมบูรณ์ แบบกรุใหม่ แทบจะไม่มีเค้ากรุเก่า...อยู่เลย

ดูภาพ พระรอดกรุมหาวัน พิมพ์ใหญ่องค์ในคอลัมน์ ด้านหน้า องค์พระส่วนที่นูนสูง พระพักตร์ พระอุระ พระเพลา และฐาน ผ่านการจับต้อง แต่ยังเหลือความคมชัด ของทุกเส้นสายเอาไว้

ส่วนที่ลึกลงไปในพื้นผนัง มีรักเก่า ทองเก่า ลักษณะเดียวกับรักทองสมเด็จวัดระฆัง...

นี่ล่ะ พระรอดมหาวัน กรุเก่า ที่มีบันทึกหลักฐานชัดเจน ได้จากวัดมหาวัน เมื่อกว่าร้อยปีที่แล้ว

อาจจะเป็นความรู้ใหม่ สำหรับคนรักพระที่เข้าวงการรุ่นหลังๆ แต่สำหรับคนรักพระรุ่นเก่า เขารู้จักกันดี ค่อยๆตั้งสติเรียนรู้ไป ทำความเข้าใจกันไป

“ตรียัมปวาย” เขียนเรื่องพระรอด ไว้ในหนังสือ พระรอด พระเครื่องสกุลลำพูน เล่มแรก (พิมพ์ พ.ศ.2503)ว่า มีทั้งที่พบในกรุ (เจดีย์) และขุดหาในบริเวณวัด หลายต่อหลายครั้ง

สมัยเจ้าหลวงเหมพินธุไพจิตร ระหว่างพ.ศ.2435-2445 เนื่องจากเจดีย์เก่าชำรุดทรุดโทรมพังทลายเป็นส่วนมาก เจ้าหลวงดำริให้ปฏิสังขรณ์องค์เจดีย์ขึ้นใหม่ โดยใช้วิธีสวมครอบองค์เก่า

ระหว่างการปฏิสังขรณ์ พบพระรอดจำนวนมาก ในเศษซากปรักหักพังที่กองทับถม จัดการให้โกยเอาไปถมหนองน้ำ พระรวดส่วนหนึ่งถูกนำบรรจุในองค์เจดีย์ใหม่ บางส่วนมีผู้นำไปสักการบูชา

และบางส่วนปนอยู่กับซากเศษอิฐดินทรายที่ถมในบ่อน้ำ

พ.ศ.2451 สมัยเจ้าหลวงอินทิยงยศ ส่วนฐานเจดีย์ มีรากต้นโพธิ์ชอนไชเข้าไปทำให้องค์เจดีย์ร้าว จึงมีการรื้อส่วนฐานซ่อมขึ้นใหม่ พบพระรอดหนึ่งกระซ้าบาตรที่บรรจุไว้ครั้งก่อน เจ้าหลวงสั่งให้นำออกมาแจกจ่าย และสั่งให้พิมพ์พระรอดใหม่ จำนวนเท่ากันใส่เข้าไปในองค์เจดีย์แทน

...

ต่อมามีการขุดหาพระรอดในลานวัดมหาวันกันในฤดูแล้ง หลังการทำนา เมื่อมีความต้องการเพิ่มขึ้น การขุดหาก็เริ่มจริงจัง จนทั้งวัดเต็มไปด้วยหลุมบ่อ ครั้งสุดท้าย พ.ศ.2498 พบราวสองร้อยองค์

ไล่เรียงประวัติการพบพระรอด...นับแต่ครั้งแรกๆ ถึงวันนี้กว่าร้อยปี สมัยที่พระยังไม่มีราคา พระรอดจำนวนหนึ่ง ถูกนำไปลงรักปิดทองรักษาเนื้อพระ...บางส่วนถูกนำไปติดตัวใช้ สึกช้ำจนเหงื่อซึมเข้าเนื้อเห็นเป็นสีน้ำผึ้ง...

ในพระเนื้อดินด้วยกัน เนื้อพระรอดที่สึกช้ำ หนึกนุ่มกว่าพระเนื้อดินอื่นๆ

ยิ่งเป็นเนื้อองค์ที่ถูกอมใส่ปากเป็นประจำ... พิมพ์ลบเลือนไปบ้าง แต่ก็ชดเชยด้วยความหนึกนุ่มซึ้งตา...เนื้อพระรอดสภาพนี้ ครูตรียัมปวาย แนะนำไว้ก่อนปีพ.ศ.2500 ว่า ถ้าพบ จะเป็นพระรอดแท้แน่นอน

พระรอดสภาพเหล่านี้ ที่มีเหตุผลพอจะเรียก พระรอดกรุเก่าได้เต็มปาก

น่าเสียดาย...ที่พระรอดกรุเก่า...เหล่านี้ ไม่ค่อยมีผ่านตาในหนังสือมาตรฐานวงการ จนอาจทำให้คนรักพระรุ่นใหม่ ไม่รู้จัก อาจเข้าใจว่าเป็นพระปลอม

รู้จักพระรอดกรุเก่าแล้ว ก็ควรรู้จักพระรอดปลอมรุ่นเก่า พ.ศ.2445 เกิดศึกกบฏเงี้ยวปล้นเมืองแพร่ มีข่าวเงี้ยวจะมาปล้นลำปาง คนแถวนั้นตื่นตัวกลัวภัย หาพระรอดคุ้มตัว พระรอดปลอมเริ่มมีในปีนี้เอง

พ.ศ.2485 พระรอดรุ่นเจ้าหลวงอินทิยงยศทำใหม่ใส่เจดีย์ไว้ ถูกนำออกมา ซื้อขายกันพักใหญ่ ปีเดียวกัน ครูบากองแก้ว รองเจ้าอาวาสวัดมหาวัน ทำพระรอดรุ่นใหม่ในวันเสาร์ห้า พิมพ์ดีเนื้อดีจนมีคนเผลอเล่นเป็นพระรอดแท้

ระดับรุ่นครู คุณเชียร ธีรศานต์ ยังสารภาพ หลงเล่นพระรอดกองแก้ว เป็นพระรอดมหาวันมานาน ก่อนจะพบหลักแยกพระรอดห้าแม่พิมพ์ ให้พวกเราเล่นหากันถึงวันนี้.

พลายชุมพล