กระบวนการสร้างพระพิมพ์ตามคติพุทธศาสนามหายานโบราณศาสตรา จารย์ พิริยะ ไกรฤกษ์ บอกว่า ผู้สร้างพระพิมพ์เพื่อสืบทอดพระพุทธศาสนา จะได้อานิสงส์ไปเกิดชาติต่อๆไป ฐานะจะดีกว่าชาติเดิมถึงสี่ชาติ
การสร้างพระพิมพ์ที่ทำกันต่อๆมาถึงสมัยอู่ทอง...กรณี พระผงสุพรรณ มีจารึกลานทอง บอกกระบวนการสร้างด้วยผงเกสรและวัสดุมงคลต่างๆ สถานหนึ่งดำ สถานหนึ่งแดงแล้ว
จารึกยังบอกสรรพคุณการใช้ตามแต่ใจปรารถนา...ไม่ว่าอยู่ยงคงกระพัน ป้องกันเสนียดจัญไร ลาภผล มหานิยม ฯลฯ
หากเรียกพระชุดแรกๆ ที่พบในภาคใต้ว่า พระพิมพ์ พระที่พบในองค์เจดีย์วัดมหาธาตุ สุพรรณบุรี เมื่อปี 2456 เชื่อกันว่า มีพุทธานุภาพหลากหลายจึงถูกเรียกว่า พระเครื่อง และอาจจะเรียกเนื่องต่อด้วยคำว่า “ของขลัง”
พระผงสุพรรณ ที่เรียกกันวันนี้ ราว พ.ศ.2500 ชาวบ้านยังเรียกว่า เกสรสุพรรณ ซึ่งก็สื่อความหมายถึงเนื้อหาที่ผสมในองค์พระ มีว่านยา ดอกไม้มงคล ได้ดีกว่าคำว่า “ผง” ซึ่งความหมายอาจสื่อได้แค่ ผงดิน
สมัยแรกอีกเหมือนกันที่ยังสับสนกันทั้งเรื่องพิมพ์ทรงจนมาถึงวันนี้ วงการสรุปลงตัว ว่ามีสามพิมพ์
พิมพ์หน้าแก่ พิมพ์หน้ากลาง พิมพ์หน้าหนุ่ม
พิมพ์หน้าแก่ ขนาดองค์เขื่องกว่าพิมพ์หน้ากลางและพิมพ์หน้าหนุ่มเล็กน้อย เป็นพิมพ์ที่เข้าโฉลกกับการจำแนกศิลปะยุคอู่ทอง ยุคที่หนึ่ง โดยภาพรวมทรวดทรงองค์พระ ดูองอาจผึ่งผายกว่า
ทั้งยังเป็นพิมพ์ที่มีตำหนิ ใช้ดูเป็นทีเด็ดเคล็ดลับพระแท้มากมาย จนต้องใช้คำว่า แพรวพราวไปทั่วทั้งองค์
เริ่มที่พื้นผนัง...เริ่มตั้งแต่ มีเส้นเป็นเหมือนเสี้ยน บางคนเรียก เส้นน้ำตก เพราะเหมือนน้ำที่ไหลลงผ่านช่องว่างใต้คาง ผ่านองค์พระลงมาถึงพื้นผนังไปจรดพระเพลา
ประเด็นที่ควรรู้ก็คือ เส้นน้ำตกติดชัดบ้าง ลางเลือนบ้าง และมีมากองค์ ติดบ้างไม่ติดบ้าง
...
ถ้าเน้นเส้นน้ำตกชัดเกินไป ส่วนใหญ่เป็นของปลอม ติดบ้างไม่ติดบ้าง ถือว่ากำลังงาม ไปตามธรรมชาติ ไม่ติดเสียเลยก็เป็นของปลอมรุ่นเก่า ที่ตอนนั้นคนปลอมพระยังตามไม่ทัน
ยังมีเส้นสาย ตุ่ม ติ่ง อีกมากมาย ที่ใช้เป็นตำหนิที่คนรักพระควรรู้เอาไว้
และต้องรู้ต่อด้วยว่า เหตุจากพระผงสุพรรณแท้แพงมาก ของปลอมรุ่นใหม่ทำตำหนิได้ใกล้เคียง จนต้องตั้งสติพิจารณา ตัดสินกันที่เนื้อพระและธรรมชาติ ประเด็นหลังนี้ต้องใช้ประสบการณ์ หมั่นดูพระแท้ให้มากๆ
ผ่านประเด็นตำหนิเส้นสาย พิมพ์หน้าแก่ไปถึงพิมพ์หน้ากลาง มีตำหนิให้เทียบเคียงบ้าง เป็นเม็ดนูนสองสามเม็ด นอกองค์พระบริเวณต้นไหล่ขวา หากองค์ตัดชิดก็ไม่เห็น
มาถึงพิมพ์หน้าหนุ่ม เส้นสายและตุ่มติ่ง ที่ใช้เป็นตำหนิ ไม่มี ต้องดูภาพรวม พื้นผนังผงสุพรรณทุกพิมพ์มักเกรอะกรังมากกว่าพื้นผนังในองค์พระราบเรียบเป็นหน้ากลอง
ส่วนด้านหลัง...ซึ่งส่วนใหญ่เป็นลายมือก้นหอยนั้น สังเกตเนินเรียบกลางลายมือไว้ มีให้เห็นดีกว่าไม่มี
ส่วนลายมือที่ไม่เป็นก้นหอย เป็นแค่ “มัดหวาย” ก็มีไม่น้อย
คำแนะนำสุดท้าย พยายามดูภาพพระแท้ พิมพ์ถูก เนื้อเก่าถึงอายุให้คุ้นตาเอาไว้ วงการพระพัฒนาถึงวันนี้ ต้องใช้คำว่า พิมพ์เป็นรอง ตัดสินชี้ขาดกันด้วยเนื้อ
พระผงสุพรรณองค์ในคอลัมน์วันนี้ เป็นพิมพ์หน้าแก่เนื้อดำ สภาพปานกลาง เส้นสายลายพิมพ์ และตำหนิพิมพ์ครบครันแบบพอดีๆ ไม่เน้นชัดเกินไป และไม่เลือนลางเกินไป
เนื้อหา คราบไคล และธรรมชาติทั้งด้านหน้าและด้านหลัง และรอยลายมือชัดเจน ไม่มีจุดสะดุดตา ถือเป็นองค์ของพระแท้ที่ดูง่ายได้อีกองค์.
พลายชุมพล