พระสมเด็จวัดระฆังพิมพ์ใหญ่ เส้นสายลายพิมพ์เรียวเล็กโปร่งบาง ต่างกว่า พิมพ์ใหญ่องค์ที่ล่ำสันบึกบึน ที่เรียกพิมพ์เขื่อง องค์นี้ ทฤษฎี “ตรียัมปวาย” เรียก “พิมพ์โปร่ง” ดูสะโอดสะอง แต่ติดพิมพ์ลึก... เห็นเส้นคมชัดไปทั่วทั้งองค์
เริ่มที่กรอบหน้า...ดูดีๆ เห็นตา จมูก ปาก รำไร เครื่องหน้าพิมพ์ใหญ่ ยังไม่เคยปรากฏองค์ลึกชัดขนาดยักคิ้ว...เหมือนเกศบัวตูมพิมพ์ฐานสิงห์กว้าง กรุบางขุนพรหม ที่พอเห็นกันแล้วสององค์
ร่องอกส่วนล่างที่เห็นแผ่นทองปิด ปรากฏร่องลึกแยกออกสองเส้น หัวเข่าขวาเป็นปมนูนค่อยๆลดระดับลาดเอียงเห็นเค้าปลีน่องไปถึงปลายเท้า คมขวานฐานสิงห์ชั้นกลางคมชัด ฐานชั้นล่าง แผ่นทองที่เหลือในร่องกลาง ทำให้เห็นริมฐานส่วนที่เนื้อพระสึก ภาษาช่างเรียก “เส้นลวดกันลาย”
เส้นซุ้มโค้งด้านขวา คดเคี้ยวยักเยื้องน้อยๆ นี่ก็คุณสมบัติหนึ่งพิมพ์ใหญ่วัดระฆัง เส้นกรอบกระจกคมชัดครบสี่เส้น นี่ก็เป็นอีกเกณฑ์ที่คนรักพระสมเด็จเรียก “ตัดกรอบสมภาค”
ถอนสายตาไกลออกมาดูภาพรวม เนื้อพระส่วนที่สึกละเอียดนุ่่ม สีขาวขุ่นเหมือนสีนมข้นตัดกับพื้นผนังที่ยังเหลือทองและรักน้ำเกลี้ยง (รักบาง) เป็นฉากหลัง ขับเน้นองค์พระให้ลอยเด่นออกมา สวยซึ้งดึงดูดหัวใจ
มือเก่าที่ผ่านพระสมเด็จวัดระฆังมากองค์จะรู้ว่า พระแท้ที่ดูด้านหน้างามง่าย ก็มักกลมกลืนไปกับแผ่นหลัง ที่ปรากฏหลุมร่อง สัญลักษณ์ รอยย่น รอยยุบ รอยแยก รอยปูไต่เส้นโค้งขวางแผ่นหลังด้านล่าง รอยปริลุ่ยขอบข้างสี่ด้าน เนื้อส่วนที่นูนขาวนุ่ม สลับกับผ้ารักสีน้ำตาลอมแดง
ไม่ว่าจะดูตรงไหน ทุกตำแหน่งแห่งที่ในสมเด็จ วัดระฆังองค์นี้ โดดเด่นเป็นเสน่ห์ ใช้เป็น “ครู”ได้
พระสมเด็จวัดระฆังพิมพ์ใหญ่ เดิมทีเรียก “พิมพ์พระประธาน” แม้เป็นพระพิมพ์ “นูนต่ำ” ตื้นๆ แต่มโนเทียบไปถึงพระประธานองค์ในโบสถ์วัดระฆังได้เลย
...
ในพระราชพิธีกฐินครั้งหนึ่ง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำรัส “ไปวัดไหนก็ไม่เหมือนวัดระฆัง พอเข้าประตูโบสถ์ พระประธาน “ยิ้มรับฟ้าทุกที”
ขออัญเชิญพระราชดำรัส ยิ้มรับฟ้า มาเป็น มงคลนามพระสมเด็จองค์นี้” ปีใหม่แล้ว ขอให้ทุกข์โศกโรคภัยสูญสลายหายไป เมื่อแหงนมองฟ้า ขอให้ยิ้มรับฟ้า กันให้ได้ถ้วนทั่วทุกตัวคน.
พลายชุมพล